โชว์ผลสอบ‘สตง.’ ปมรถ‘BRT’ ก่อน กทม. สั่งยกเลิกให้บริการ-ขาดทุนยับพันล.
"...สตง. ได้ตรวจสอบติดตามผลการดำเนินงานโครงการตั้งแต่ปีที่ 4 ถึงปีที่ 6 (พ.ค.2558-เม.ย.2559) เพิ่มเติมจากผลการตรวจสอบเดิมพบว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวของ กทม. ตลอดระยะเวลา 6 ปี ยังไม่สามารถหาแนวทางในการปรับปรุงระบบ BRT เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ และมีผลขาดทุนทุกปี ทำให้มีความเสียหายต่อรัฐในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ เกิดความไม่คุ้มค่า และเป็นภาระการคลังของ กทม. .."
สืบเนื่องจาก กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เตรียมประกาศยกเลิกการให้บริการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit : BRT) ในเดือน เม.ย. 60 ที่จะถึงนี้ แต่ทว่า มีเสียงสะท้อนในเครือข่ายสังคมซึ่งส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกโครงการดังกล่าว และตำหนิการบริหารจัดการเดินรถของ กทม.ขึ้น ขณะที่ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ผู้คิดค้นโครงการดังกล่าวได้ออกความเห็นในเรื่องนี้ว่า ได้ริเริ่มทำโครงการดังกล่าวในปี พ.ศ. 2548 เมื่อสมัยเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. แต่ไม่ได้ทำจนจบ หลังจากพ้นตำแหน่งรองผู้ว่าฯ แล้ว จึงทราบว่ามีการปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการบางประการ ซึ่งไม่เป็นไปตามแนวคิดที่ตนได้วางไว้ ทำให้ประสิทธิภาพลดลงเมื่อเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2553 (อ่านประกอบ : ยกเลิกบีอาร์ที คิดดีแล้วหรือ?)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ในช่วงเดือนพ.ย.2559 ที่ผ่านมา นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยทำหนังสือถึงผู้ว่าฯ กทม. เพื่อแจ้งให้ทราบถึงผลการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) ซึ่งมีข้อมูลสำคัญหลายประการที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาสำคัญในการดำเนินงานโครงการนี้ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
-----------------------------
ตามที่ สตง.ได้ตรวจสอบการดำเนินงานโครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) ของ กทม. และมีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบตามหนังสือ สตง. ลงวันที่ 18 มิ.ย. 2557 พบว่า การดำเนินงานโครงการดังกล่าวไม่สามารถลดระยะเวลาในการเดินทางแก่ประชาชนได้ ประชาชนที่ใช้รถยนต์ยังไม่เปลี่ยนมาใช้รถ BRT ตามที่คาดการณ์ไว้ และส่งผลกระทบให้มีปริมาณผู้โดยสารต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้
โดยในปีที 1 (พ.ค.2553-เม.ย.2554) ถึงปีที่ 3 (พ.ค.2555-เม.ย.2556) มีจำนวนผู้ใช้บริการ 3.99 ล้านคนต่อปี 4.55 ล้านคนต่อปี และ 4.89 ล้านคนต่อปี คิดเป็นร้อยละ 33.33 ,33.76 และ 34.87 ของเป้าหมายตามลำดับ ทำให้จัดเก็บรายได้ค่าโดยสารน้อยกว่าเป้าหมาย ส่งผลให้มีผลขาดทุนมากกว่าที่ควรจะเป็น 390.11 ล้านบาท และหาก กทม.ไม่ได้มีการปรับปรุง หรือพัฒนาการดำเนินการโครงการ โอกาสที่จะเพิ่มจำนวนผู้โดยสารขึ้นให้ได้ตามที่คาดในปีที่ 4 (พ.ค.2556-เม.ย.2557) เฉลี่ย 43,960 คนต่อวันหรือ 35.16 ล้านคน และมีรายได้จำนวน 197.35 ล้านบาท นั้น คงเป็นไปได้ยากมาก
ดังนั้น การดำเนินการโครงการระยะเวลาถัดไป โอกาสที่จะมีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นมีความเป็นไปได้สูงมาก ทำให้เกิดการขาดทุนรมากขึ้นตามจำนวนปีที่จะดำเนินโครงการต่อ ส่งผลให้เป็นภาระของ กทม.ที่จะต้องจัดหาเงินมาชดเชยผลขาดทุนทุกปี เฉลี่ยปีละ 100 กว่าล้านบาท หรือประมาณ 2 พันกว่าล้านบาทตลอดระยะเวลาการดำเนินงานของโครงการ
ซึ่ง สตง.มีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าฯ กทม. พิจารณาดำเนินการหาแนวทางในการปรับปรุงระบบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ รวมทั้งการเพิ่มปริมาณผู้โดยสาร และกรณีที่ กทม. ได้ปรับปรุงระบบแล้วแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดทุนและความไม่คุ้มค่าได้ ซึ่งเป็นภาระของการคลัง ให้ กทม.พิจารณายุติโครงการ และชี้แจงตามข้อเสนอแนะของ สตง. โดยจะนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาปรับปรุง ควบคู่กับแผนการดำเนินงานในการทบทวนรูปแบบการให้บริหาร ขนาดความเหมาะสมของโครงการ และแนวทางการปรับลดภาระด้านงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ และลดภาระของ กทม.ให้น้อยลง โดยยังคงยึดผลประโยชน์ที่ประชาชนได้รับเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ สตง.ได้ตรวจสอบติดตามผลการดำเนินงานโครงการตั้งแต่ปีที่ 4 ถึงปีที่ 6 (พ.ค.2558-เม.ย.2559) เพิ่มเติมจากผลการตรวจสอบเดิมพบว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวของ กทม. ตลอดระยะเวลา 6 ปี ยังไม่สามารถหาแนวทางในการปรับปรุงระบบ BRT เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ และมีผลขาดทุนทุกปี ทำให้มีความเสียหายต่อรัฐในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ เกิดความไม่คุ้มค่า และเป็นภาระการคลังของ กทม. มีรายละเอียด ดังนี้
1.ปริมาณผู้โดยสารรถ BRT และรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย จากการตรวจสอบผลการดำเนินในภาพรวมตั้งแต่ปีที่ 1 ถึงปีที่ 6 มีปริมาณผู้โดยสารต่ำกว่าเป้าหมาย (88.6 ล้านคนต่อปี) รวม 55.41 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 62.54 และรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย (3,346.22 ล้านบาทต่อปี) รวม 946.43 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82.57
และจากการตรวจสอบเพิ่มเติมในปีที่ 4 พบว่ามีปริมาณผู้โดยสาร 6.07 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 40.13 ของเป้าหมาย ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากทุกปี โดยมีอัตราการเพิ่มจากปีที่ 3 ประมาณร้อยละ 21.82 แต่กลับมีรายได้ลดลง โดยมีรายได้จำนวน 28.01 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14.19 ของเป้าหมายเท่านั้น มีอัตราการลดลงจากปีที่ 3 ประมาณร้อยละ 35.18 และยังมีรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายถึงร้อยละ 85.81
โดยในปีที่ 5-6 แม้จะมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น แต่อยู่ในอัตราที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าคิดเป็นร้อยละ 8.61 และ 6.21 ตามลำดับ ซึ่งส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่มีอัตราที่ต่ำมากเช่นกัน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าคิดเป็นร้อยละ 9 และ 6.52 ตามลำดับ
ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น แต่รายได้ลดต่ำลงมากในปีที่ 4 เนื่องจาก กทม.มีการปรับลดอัตราค่าโดยสารจากเดิมซึ่งเก็บในอัตรา 10 บาทตลอดสาย เหลือราคา 5 บาทตลอดสาย และมีการยกเว้นค่าโดยสารให้แก่ นักเรียนในเครื่องแบบ บุคคลทุพพลภาพ (คนพิการ) และภิกษุสามเณร อีกด้วย ซึ่งมีการใช้อัตราค่าโดยสารนี้ตลอดถึงปีที่ 6
2.การดำเนินงานโครงการรถโดยสาร BRT ของ กทม. ตั้งแต่ พ.ค.2553-เม.ย.2559 รวม 6 ปี มีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี มีผลขาดทุนอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาดำเนินการ โดยมีรายได้รวม 199.79 ล้านบาท รายจ่ายรวม 1,161.58 ล้านบาท และผลขาดทุนรวมเป็น 961.79 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 100 กว่าล้านบาท
นอกจากนี้จากการตรวจสอบเพิ่มเติมในปีที่ 4 การที่โครงการมีรายได้ลดลง และรายจ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้มีผลขาดทุน 186.68 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นอัตราการขาดทุนเพิ่มจากปีก่อนหน้าร้อยละ 23.39 ซึ่งเป็นภาระของ กทม.ที่ต้องจ่ายชดเชย แม้ในปีที่ 5-6 ผลจากการดำเนินงานจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่เพิ่มในอัตราที่ต่ำมาก ผนวกกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ทำให้ยังมีผลขาดทุนอย่างต่อเนื่อง 191.33 ล้านบาท และ 194.21 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งทำให้เป็นภาระของ กทม.ที่ต้องจ่ายชดเชยผลการขาดทุนดังกล่าว
3.คณะกรรมการวิสามัญศึกษาและทบทวนการดำเนินโครงการรถโดยสาร BRT ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามประกาศสภา กทม. เมื่อ 6 ก.ค. 2559 โดยกำหนดระยะเวลาในการศึกษา 120 วัน อยู่ระหว่างการพิจารณาหาแนวทางในการบริหารโครงการดังกล่าว หลังสิ้นสุดโครงการในเดือน เม.ย.2560 ซึ่งมีแนวทางการบริหารโครงการที่สำนักการจราจรและขนส่งได้เสนอคณะกรรมการฯ ไว้ 7 ทางเลือก ได้แก่
(1.) เปิดประกวดราคา
(2.) จ้างตรงบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC
(3.) จ้างตรงองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
(4.) ต่อสัญญาเดิม
(5.) มอบหมายบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT)
(6.) สัมปทานเดินรถ และ
(7.) ยกเลิกโครงการ
และ ได้มอบให้ สำนักการจราจรและขนส่ง ดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนการดำเนินการระยะสั้นและรยะยาว ภายหลังจากสิ้นสุดสัญญาโครงการ และหาแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อนำมาเสนอพิจารณาทางเลือกที่คาดว่าจะดำเนินการต่อไป และสรุปเป็นผลการศึกษาของคณะกรรมการฯ ซึ่งจากการประชุมของคณะกรรมการฯ หลายครั้งคาดว่า คณะกรรมการฯ ยังคงโครงการดังกล่าวไว้ต่อไป เนื่องจากเป็นโครงการที่ลงทุนไป 1,500 ล้านบาท และมีผู้โดยสารประจำประมาณ 20,000 คน
อย่างไรก็ตาม สตง. พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อมิให้ กทม. ต้องรับภาระด้านงบประมาณเป็นจำนวนมาก โดยต้องจ่ายค่าชดเชยผลขาดทุนจากการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี และเกิดความไม่คุ้มค่าจนมีความเสียหายแก่รัฐ ผู้ว่าฯ กทม. ควรพิจารณาทบทวน และยุติการดำเนินโครงการดังกล่าว หลังสิ้นสุดสัญญาในเดือน เม.ย. 2560 จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ และแจ้งผลการดำเนินการดังกล่าวให้ สตง.ทราบ เพื่อประกอบการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ต่อไป
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลผลการตรวจสอบของสตง. ซึ่งอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตัดสินใจออกมาประกาศยกเลิกการให้บริการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit : BRT) ในเดือน เม.ย. 60 ที่จะถึงนี้ ตามที่ปรากฎเป็นข่าวไปแล้ว