เปิดพฤติการณ์อาจารย์ม.เกษตรฯลอกผลงานจุฬาฯ-'จงรัก'ยันโทษตัดเงินเดือนเหมาะสม
"..เท่าที่ได้รับทราบข้อมูล อาจารย์รายนี้ ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาลอกผลงานอะไร แค่นำไปใช้ประกอบการสอนเท่านั้น และก็ไม่ได้เอาไปใช้เสนอขอผลงานอะไรด้วย ...ผมไม่รู้ว่าเรื่องนี้ ไม่ใครไม่พอใจใคร ใครขัดแย้งกัน แต่สิ่งที่ยืนยันได้ก็ คือ การสอบสวนเรื่องนี้ ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับมหาวิทยาลัยอื่น ไม่ได้ตัดสินลอยๆ หรือมีความพยายามจะช่วยเหลืออะไรใคร.."
ในหนังสือร้องเรียนจากบุคลากรในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ส่งตรงถึง สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอาจารย์รายหนึ่งในคณะบริหารธุรกิจ ม.เกษตรศาสตร์ มีพฤติการณ์การลอกเนื้อหาในหนังสือทางวิชาการของ อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาใส่ในหนังสือทางวิชาการของตนเอง โดยไม่มีการอ้างอิงที่มาของผลงาน
โดยเบื้องต้นทางสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้รับทราบเรื่องแล้ว และส่งหนังสือแจ้งให้ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เนื่องจากเป็นการผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งมีบทลงโทษเพียงแค่ไล่ออกกับปลดออกเท่านั้น แต่ทางผู้บริหารฯ กลับพิจารณาลงโทษอาจารย์รายนี้ เพียงแค่ตัดเงินเดือน ซึ่งผู้ร้องเรียนมองว่าเป็นการลงโทษที่ไม่สมเหตุสมผล
มีการอ้างถึงหนังสือ สกอ. ที่ทำถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ศธ 0592(1) 3.18 /4656 ลงวันที่ 29 เมษายน 2558 เรื่องการร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการลอกผลงานทางวิชาการดังกล่าว มาเป็นหลักฐาน ด้วย
(อ่านประกอบ : โวยอาจารย์ ม.เกษตรฯ ลอกผลงานจุฬาฯ!ผู้บริหารฯ สั่งลงโทษแค่ตัดเงินเดือน)
ทั้งนี้ ในหนังสือ สกอ.ฉบับนี้ นอกจากจะยืนยันผลการพิจารณาของสกอ.ว่า พฤติการณ์การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดทางจรรยาบรรณอย่างร้ายแรง ตามประกาศ ก.พ.อ. เรื่องมาตรฐานของจรรยาบรรณาที่พึงมีในสถาบันอุดมศึกษา ข้อ 4(1) ถือได้ว่าเป็นกรณีมีหลักฐานตามสมควรว่ากระทำผิดวินัย ผู้บังคับบัญชาจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยพลันตามมาตรา 49 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 แล้ว
ยังมีการระบุถึงพฤติการณ์การลอกผลงานทางวิชาการครั้งไว้ด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้
"ตามหนังสือที่อ้างถึง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ชี้แจงกรณีมีผู้อ้างว่าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม ได้ร้องเรียนมายังสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาขอให้ตรวจสอบจริยธรรมของอาจารย์ กรณีการลอกผลงานทางวิชาการ เนื่องจากผู้ร้องได้อ่านตำราวิชาการของจุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะมีการลอกผลงานทางวิชาการเกิดขึ้น ระหว่างหนังสือการบัญชีชั้นสูง พิมพ์ครั้งที่ 4 ฉบับปรับปรุงปี พ.ศ.2550 เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร............และรองศาสตราจารย์........ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บทที่ 1 ในหน้าที่ 1-41 เรื่องการบัญชีสำนักงานใหญ่และสาขา ทั้งหมดมีข้อความเหมือนกับ หนังสือการบัญชีชั้นสูง พิมพ์ครั้งที่ 4 ปี พ.ศ.2547 บทที่ 12 หน้า 1-31 เรื่องการบัญชีสำหรับสาขา ที่เขียนโดยรองศาสตราจารย์ ดร. ................ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ซึ่งหนังสือทั้งสองเล่มไม่ได้อ้างอิงที่มาของหนังสือ จึงอาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายลิขสิทธิ์ และอาจเกิดให้เกิดความเสื่อมเสียต่อมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งได้นั้น
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงปรากฎว่า รองศาสตราจารย์ ดร. ...........(มหาวิทยาลัยเกษตรฯ) ได้นำผลงานทางวิชาการของรองศาสตราจารย์ ดร. ................และรองศาสตราจารย์.... (จุฬาฯ) มาพิมพ์ในหนังสือที่รองศาสตราจารย์ ดร. ...........(มหาวิทยาลัยเกษตรฯ) ได้จัดทำขึ้นโดย ไม่มีการอ้างอิงที่มาของผลงาน
พฤติการณ์การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดทางจรรยาบรรณอย่างร้ายแรง ตามประกาศ ก.พ.อ. เรื่องมาตรฐานของจรรยาบรรณาที่พึงมีในสถาบันอุดมศึกษา ข้อ 4(1) ถือได้ว่าเป็นกรณีมีหลักฐานตามสมควรว่ากระทำผิดวินัย ผู้บังคับบัญชาจะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน โดยพลันตามมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 (ดูหนังสือสกอ.ประกอบ)
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ชี้แจงสำนักข่าวอิศรา ว่า เท่าที่จำได้หลังจากที่ตนเข้ามารับตำแหน่งแล้ว มีการเสนอผลการสอบสวนเรื่องการลอกผลงานทางวิชาการมาให้ตนพิจารณา ซึ่งเป็นการตั้งคณะกรรมการสอบสวนไว้แล้วก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่งรักษาการอธิการบดี
ส่วนข้อเท็จจริงที่รับทราบคือ งานที่มีการนำเนื้อหาของอาจารย์มหาวิทยาลัยอื่นมาใช้ประกอบ ไม่ได้เป็นงานที่นำไปใช้เสนอขอตำแหน่งทางวิชาการอะไร เป็นเอกสารการเรียนการสอนที่ทำขึ้นเพื่อนำไปใช้สอนหนังสือเท่านั้น เนื่องจากมีเนื้อหาการเรียนบางส่วนที่อาจารย์ท่านนี้ไม่ถนัด จึงนำเสนอหามาใช้ประกอบด้วย ไม่ได้มีเจตนาที่จะลอกผลงานทางวิชาการแต่อย่างใด
"ส่วนการตัดสินโทษให้ตัดเงินเดือน ก็เป็นไปตามมาตราฐาน มีการเปรียบเทียบข้อมูลจากของสถาบันอื่นด้วย กรรมการที่ตัดสินก็เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่มีทางที่จะไปเข้าข้างหรือช่วยเหลืออาจารย์คนนี้ด้วย ตัดสินไปตามข้อมูลหลักฐานทุกอย่าง"
เมื่อถามว่า แต่สกอ.ระบุว่าพฤติการณ์การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดทางจรรยาบรรณอย่างร้ายแรง ดร.จงรัก บอกว่า "เท่าที่ได้รับทราบข้อมูล อาจารย์รายนี้ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาลอกผลงานอะไร แค่นำไปใช้ประกอบการสอนเท่านั้น และก็ไม่ได้เอาไปใช้เสนอขอผลงานอะไรด้วย"
"ผมไม่รู้ว่าเรื่องนี้ ไม่ใครไม่พอใจใคร ใครขัดแย้งกัน แต่สิ่งที่ยืนยันได้ก็ คือ การสอบสวนเรื่องนี้ ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับมหาวิทยาลัยอื่น ไม่ได้ตัดสินลอยๆ หรือมีความพยายามจะช่วยเหลืออะไรใคร"
เมื่อถามว่า ได้ส่งเรื่องชี้แจงกลับไปยัง สกอ.หรือยัง ดร.จงรัก ตอบว่า ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ถ้ายังไม่ส่ง ก็สามารถส่งได้อยู่แล้วไม่มีปัญหาอะไร"
ขณะที่ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า ได้พยายามติดต่อไปยังอาจารย์ในคณะบริหารธุรกิจ ม.เกษตรศาสตร์ เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม แต่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่รายหนึ่งว่า อาจารย์รายนี้ ไม่ได้อยู่ที่โต๊ะทำงาน
จึงยังไม่ได้รับคำชี้แจงจากอาจารย์รายนี้ โดยตรงว่า สรุปว่า มีการไปลอกผลงานทางวิชาการมาจริงไหม? และในฐานะนักวิชาการ มองว่าถ้ามีการลอกผลงานทางวิชาการจริง บทลงโทษแค่การตัดเงินเดือนเหมาะสมแล้วใช่หรือไม่?
หมายเหตุ : รศ.ดร.ศศิวิมล มีอำพล คณบดี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอกผลงานวิชาการดังกล่าว