รัฐบาลขอตัว "กลุ่มป่วนใต้" ถูกจับในมาเลย์
ทั้งนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบก ยืนยันตรงกันว่าผู้ต้องสงสัย 6 คนที่ถูกทางการมาเลเซียจับพร้อมสารตั้งต้นและอุปกรณ์ประกอบระเบิดล็อตใหญ่ที่รัฐกลันตันนั้น มีบางคนเป็นสมาชิกกลุ่มบีอาร์เอ็น และมีหมายจับในคดีความมั่นคง ซึ่งจะต้องขอตัวมาดำเนินคดีในประเทศไทย
ตำรวจรัฐกลันตันจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นชาย 6 คนพร้อมอุปกรณ์ประกอบระเบิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสารเคมี สายไฟฟ้า และแบตเตอรี่ ได้ที่ย่านปาเสมัส รัฐกลันตัน ฝั่งตรงข้ามอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยตั้งข้อสงสัยว่าคนเหล่านี้อาจเกี่ยวข้องกับกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ไอเอส หรืออาจเป็นกลุ่มก่อความไม่สงบจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตระเตรียมแผนเพื่อเข้าไปก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่
ชายทั้ง 6 คนมีชื่อเป็นคนมาเลเซีย แต่ไม่มีหลักฐานแสดงถิ่นที่อยู่ที่ชัดเจน จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นบุคคลสองสัญชาติ และเกี่ยวพันกับกลุ่มก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ตามข่าวระบุว่า 1 ใน 6 เป็นหัวหน้ากองกำลังของบีอาร์เอ็นในจังหวัดยะลาด้วย แต่ฝ่ายมาเลเซียไม่มีการแถลงเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 ก.พ.60 ว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องความมั่นคง ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับมาเลเซีย หากมีการจับกุมจริงก็ต้องขอตัวกลับมาดำเนินคดี ซึ่งมีขั้นตอนการทำงานอยู่แล้ว ไม่ทำไม่ได้
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า เรื่องนี้กำลังติดตามกันอยู่ ถ้ามีความผิดชัดเจนว่าเคยก่อเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ ก็อาจจะขอเข้าไปร่วมฟังการพิจารณาคดี หรือขอตัวเพื่อมาดำเนินคดีในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ทางเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ประสานงานกับทางการมาเลเซียโดยตรง ทุกอย่างมีขั้นตอนการดำเนินงานอยู่แล้ว
ขณะที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า จากการตรวจสอบ 1 ใน 6 คนที่ถูกจับกุม มีทะเบียนประวัติเป็นสมาชิกกลุ่มบีอาร์เอ็น และเคยกระทำความผิดในประเทศไทยจริง จึงได้ประสานขอตัวกลับมาดำเนินคดี แต่คาดว่าทางมาเลเซียก็ต้องดำเนินการไปตามกฎหมายก่อน ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะได้รับการส่งตัวมาหรือไม่
อย่างไรก็ดี พลเอกเฉลิมชัย บอกว่า การจับกุมผู้ต้องสงสัยทั้ง 6 คน ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส
"เราพยายามดำเนินการอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ต้องสงสัยทั้ง 6 คนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันทั้งหมด เพราะการเกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอสมีอยู่หลายระดับ ซึ่งอาจเป็นระดับรับทราบแนวความคิดจากการโฆษณาชวนเชื่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย เพื่อให้เกิดกระแส ไม่ได้มีอุดมการณ์รุนแรงมากนักก็เป็นได้ ที่ผ่านมาในประเทศไทยก็ยังไม่มีระดับหัวรุนแรงเคลื่อนไหวในประเทศ แต่ก็ได้มีการประสานกับประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอด โดยเฉพาะการกวดขันช่องทางเข้าออกประเทศตามแนวชายแดน"
มีรายงานว่ารัฐบาลได้ส่งอดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลท่านหนึ่งซึ่งได้รับการยอมรับจากรัฐบาลมาเลเซียอย่างมาก เป็นผู้ไปประสานงานและเจรจาเพื่อขอให้ส่งตัวผู้ต้องสงสัยซึ่งเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็นและมีหมายจับกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.อ.เฉลิมชัย ขณะแถลงข่าวที่กองทัพภาคที่ 1