มาเลย์รวบชาย6คน-อุปกรณ์บึ้ม-สงสัยIS ไทยชี้มีBRNร่วมวง-ประสานขอตัว
กรณีทางการมาเลเซียจับกุมชายต้องสงสัย 6 คนพร้อมของกลางอุปกรณ์ประกอบระเบิดจำนวนมากในรัฐกลันตันซึ่งติดกับจังหวัดนราธิวาสของไทยนั้น มีข่าวจากฝ่ายความมั่นคงไทยว่าชายกลุ่มนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มบีอาร์เอ็น
เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ได้จับกุมผู้ต้องสังสัยพร้อมอุปกรณ์ประกอบระเบิด เมื่อราววันที่ 15 มกราคม 2560 ภายในบ้านต้องสงสัยหลายหลังในพื้นที่ปาเสมัส รัฐกลันตัน ฝั่งตรงข้ามจังหวัดนราธิวาสของไทย
ผู้ต้องสงสัยที่จับกุมได้เป็นชาย จำนวน 6 คน ส่วนของกลางมีหลายรายการ อาทิ สายชนวนจุดระเบิด แบตเตอรี่ และสารประกอบระเบิดต่างๆ โดยตำรวจมาเลเซียเชื่อว่า ผู้ต้องสงสัยทั้งหมดอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ไอเอส
เปิดรายละเอียดปฏิบัติการตรวจค้น
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมได้รายละเอียดว่า จุดที่ทำการตรวจค้นเป็นหมู่บ้านเปอโรล รายา โปโฮน บูโละห์ เมอรันตี เจ้าหน้าที่ได้เข้าค้นบ้าน 5 หลัง จับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 4 คน คือ นายสายูตี บิน ฮารง อายุ 33 ปี นายซาอิ บิน อาลี อายุ 43 ปี นายซาการียา บิน นูร์ อายุ 40 ปี และ นายมะรอบี บิน ดามิ อายุ 47 ปี ทั้งหมดไม่มีเอกสารยืนยันภูมิลำเนา ส่วนของกลางที่ยึดได้ คือสารตั้งต้นในการผลิตระเบิด
จากนั้น เจ้าหน้าที่ขยายผลไปยังบ้านกือแลมัส เข้าค้นบ้าน 1 หลัง สามารถจับกุมชายต้องสงสัยได้อีก 2 คน คือ นายมะรอสือดี บิน มะลี อายุ 50 ปี กับ นายไซฟูเลาะ บิล นิคอับดุลอาซิส อายุ 26 ปี ไม่มีเอกสารยืนยันภูมิลำเนาเช่นกัน
สำหรับของกลางที่ยึดได้ในบ้านต้องสงสัยที่ถูกตรวจค้นทั้ง 2 จุด คือ แกลลอนบรรจุสารเคมี เช่น โซเดียม คลอไรด์, ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์, เอทิลแอลกอฮอล, สารซัลเฟอร์, โปแตสเซียมไนเตรท และเจลปิโตรเลียม
นอกจากนั้นยังมีแผงวงจรอิเล็กทรอนิสก์ จำนวน 352 ชุด สวิทต์ไฟฟ้า 4 ตัว แผงวงจรไฟฟ้าที่ประกอบสมบูรณ์แล้วพร้อมใช้งาน 14 ชุด สายไฟฟ้าชนิดอ่อน สีแดงและสีแดง-ดำ ความยาว 9.6 เมตร วิทยุมือถือพร้อมเครื่องชาร์จ 2 เครื่อง กล้องส่องระยะไกล 1 ตัว โทรศัพท์มือถือราคาถูกยี่ห้อโนเกียและซัมซุงรวม 5 เครื่อง และหนังสือแผงวงจร
ฝ่ายความมั่นคงเชื่อโยงกลุ่มป่วนใต้
แหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ระบุว่า รัฐกลันตันเป็นพื้นที่กบดานและเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบจากจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่ปาเสมัส ก่อนหน้านี้พบความเคลื่อนไหวของสมาชิกระดับปฏิบัติการจากอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส หลบหนีเข้าไปอาศัยอยู่ที่ปอเนาะกือแลมัส โดยลักลอบเดินทางไป-กลับผ่านช่องทางธรรมชาติ และเข้ามาปฏิบัติการในพื้นที่อำเภอตากใบ กับ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ขณะที่กือแลมัสเป็นหมู่บ้านที่ถูกทางการมาเลเซียตรวจค้นในครั้งนี้ด้วย
เบื้องต้นหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่เชื่อว่า กลุ่มผู้ต้องสงสัย 6 คนที่ถูกจับกุม น่าจะเป็นเครือข่ายผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ แต่เนื่องจากตอนถูกจับใช้ชื่อมาเลย์ จึงไม่สามารถตรวจสอบกับฐานข้อมูลที่มีอยู่ได้ เชื่อว่าอุปกรณ์ประกอบระเบิดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียยึดได้ น่าจะเป็นการเตรียมประกอบระเบิดแสวงเครื่อง แล้วนำกลับเข้ามาใช้ก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสและใกล้เคียงหลังน้ำลด
แฉมีหัวหน้ากองกำลังบีอาร์เอ็นยะลา
มีรายงานอีกกระแสหนึ่งว่า ข้อมูลการจับกุม 6 ผู้ต้องสงสัยในรัฐกลันตันนี้ถูกรายงานไปยังรัฐบาลแล้ว และกองบัญชาการตำรวจสันติบาลได้พยายามประสานกับตำรวจสันติบาลมาเลเซีย เพื่อขอตัวผู้ต้องสงสัยบางรายมาดำเนินคดีในประเทศไทย เพราะมีข้อมูลว่าบางคนหรือทั้งหมดเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็น กลุ่มติดอาวุธที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน เคลื่อนไหวในพื้นที่ชายแดนใต้และสร้างสถานการณ์ความไม่สงบมานานกว่า 13 ปี โดยในจำนวนนี้มี 1 คนเป็นระดับหัวหน้ากองกำลังที่รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดยะลาด้วย
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีท่าทีใดๆ ตอบกลับมาจากทางสันติบาลมาเลเซีย เนื่องจากเรื่องนี้ในระดับรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ที่ผ่านมาไม่มีแถลงข่าวการจับกุมด้วย เพราะฝ่ายความมั่นคงมาเลเซียสงสัยว่าอาจมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอส
นอกจากนั้นเมื่อเดือนที่แล้วยังมีการจับกุมบุคคลระดับผู้นำกลุ่มเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนทางใต้ของไทย พร้อมภรรยา ฐานให้ความช่วยเหลือกลุ่มเคลื่อนไหวในฟิลิปปินส์ ซึ่งอาจโยงไอเอสเช่นกัน โดยกลุ่มเคลื่อนไหวกลุ่มนี้มีชื่อเป็นสมาชิกร่วมอยู่ใน “องค์กรร่ม” ที่พูดคุยสันติสุขกับรัฐบาลไทยอยู่ด้วย โดยมีทางการมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุย
เหตุนี้เองปัญหานี้จึงมีความอ่อนไหวอย่างมากในมิติความมั่นคงของมาเลเซีย แม้บรรดาแกนนำบีอาร์เอ็นที่พำนักอยู่ในมาเลเซียและมีสายสัมพันธ์กับสันติบาลมาเลย์ จะพยายามขอให้ปล่อยตัว 6 ผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมในรัฐกลันตัน แต่สันติบาลมาเลเซียก็ไม่ตอบรับ ทำให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นค่อนข้างกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ไทยคาดมาเลย์ไม่ส่งตัวซ้ำรอยอดีต
หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้ ประเมินว่า การขอตัวผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมได้มาดำเนินคดีในไทย เพราะเชื่อว่าเกี่ยวโยงกับกลุ่มก่อความไม่สงบในบ้านเรานั้น เป็นเรื่องยากที่มาเลเซียจะดำเนินการ เพราะก่อนหน้านี้เมื่อเดือนธันวาคม 2552 ก็มีกรณีจับกุมชายฉกรรจ์ 3 คนพร้อมอุปกรณ์ประกอบระเบิดและเครื่องกระสุนจำนวนมากในรัฐกลันตันเช่นกัน โดยทั้งสามมีภูมิลำเนาอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และบางรายมีหมายจับของศาลไทยด้วย แต่ทางการมาเลเซียก็ไม่ยอมส่งตัวให้
ชายฉกรรจ์ทั้ง 3 คนคือ นายมาหะมะซีดิ อาลี, นายมามะคอยรี สือแม และ นายมะยูนิส เจะดอเลาะ ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาลปาเสมัส แต่ภายหลังศาลยกฟ้องและปล่อยตัวไป