ทีดีอาร์ไอ ลั่นหมดยุคนโยบายลงโทษภาคเกษตรแล้ว
“ดร.นิพนธ์” หนุน โฉนดชุมชนเป็นกฎหมาย เพื่อให้ชาวบ้านที่ทำกินในเขตป่า มีส่วนร่วมดูแลทรัพยากรมากขึ้น แนะ รัฐต้องเลิกเป็นผู้บงการ ชี้นิ้วสั่งว่า เกษตรกรต้องผลิตอะไร
วันที่ 11 พฤษภาคม สถาบันคลังสมองของชาติ ร่วมกับศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “ภาพอนาคตการเกษตรไทย 2563” ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยมี รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บรรยายพิเศษหัวข้อ “กึ่งศตวรรษการเกษตรไทย”
รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวถึงสภาพแวดล้อมภายนอกที่มีผลกระทบต่อภาคเกษตรไทย หากย้อนไปในปี พ.ศ.2523-2539 นับเป็นยุค"หดหู่" ของภาคเกษตร เพราะราคาตกต่ำ เนื่องจากมีการอุดหนุนคุ้มครองภาคเกษตรในประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมทั้งมีมาตรการลงโทษภาคเกษตรในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งแตกต่างจากการเกษตรในยุคปัจจุบัน พ.ศ.2554-2563 ซึ่งมีทิศทางที่สดใสกว่า
“ดัชนีราคาอาหารในอนาคตถีบตัวสูงขึ้น โดยสาเหตุระยะยาวมาจากปรากฏการณ์ ‘ไชน่าเอฟเฟ็ค’ เนื่องจากประชากรชาวจีนมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการอาหาร วัตถุดิบเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และในไม่ช้าอินเดีย ก็มีแนวโน้มว่าต้องนำเข้าอาหารเพิ่มเช่นกัน นอกจากนี้ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และราคาน้ำมันที่สูงเกิน 100 เหรียญ ส่งผลต่อราคาพืชพลังงาน พืชน้ำมัน ยางพาราอีกด้วย ส่วนสาเหตุระยะสั้นพบว่า มีปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ซึ่งยังไม่เห็นรัฐบาลใดแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง”
รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวถึงทิศทางของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ว่า ขณะนี้หมดยุคนโยบายลงโทษภาคเกษตร แต่ใช้วิธีจำกัดการส่งออก เมื่ออาหารมีราคาแพง และเมื่อมีการค้าเสรีด้านสินค้าเกษตรในอาเซียนเพิ่มขึ้น ประเทศส่วนใหญ่ก็นำมาตรการ SPS มาใช้เพื่อสกัดการนำเข้าแทน
ปธ.ทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรด้านที่ดินมากกว่าคู่แข่งในเอเชีย แต่กลับพบว่า มีข้อจำกัดหลายประการ ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากคนหนุ่มสาว อายุระหว่าง 15-24 ปีออกจากภาคเกษตรแล้วไม่กลับมา อีกทั้งในหลายพื้นที่ยังมีความขัดแย้งเรื่องการใช้น้ำ ปัญหาเรื่องศัตรูพืช เช่น เพลี้ยสีชมพู่ที่ระบาดในมันสำปะหลัง รวมถึงการถลุงทรัพยากร
ตลาดกำหนด เกษตรกรต้องปลูกพืช -สัตว์ชนิดใด
สำหรับทิศทางตลาดสินค้าเกษตรของไทยในอนาคตนั้น รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า พืชดั้งเดิมของไทย อย่างข้าว ยาง อ้อย และถั่ว จะยังมีอัตราเติบโตสูงมากที่สุด แต่พืชที่สร้างมูลค่าให้กับ GDP ภาคเกษตรมากที่สุด คือ ยางพารา ขณะที่การส่งออกไก่ หรือกุ้งนั้น แม้จะมีปัญหาเรื่องโรคระบาด แต่ทางภาคเอกชนก็มีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีการแปรรูปให้เป็นสินค้าพร้อมรับประทาน
“ตลาดในอนาคตจะเป็นตัวกำหนดว่า เกษตรกรต้องปลูกพืช หรือสัตว์ชนิดใด และหากเทียบกับคู่แข่งจะพบว่า พืชที่ไทยสามารถปลูกและได้เปรียบคือ พืชที่ต้องใช้ที่ดินมาก ใช้แรงงานและน้ำน้อย เช่น พืชพลังงาน พืชน้ำมัน ยาง อ้อย ข้าวโพด ปาล์ม แต่ที่ผ่านมา การที่ปาล์มมีนโนบายคุมราคาและการนำเข้า ก็ก่อให้เกิดวิกฤติขาดแคลนน้ำมันพืชได้เช่นกัน ส่วนตลาดข้าวนั้น พบว่า ประเทศไทยจะมีคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างบราซิล และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีข้าวพันธุ์ดี มีต้นทุนการผลิตต่ำ ดังนั้น ไทยจึงต้องเน้นป้อนเฉพาะข้าวหอมคุณภาพสูงและข้าวนึ่งสู่ตลาดเท่านั้น ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องเพิ่มราคาประกัน และอุดหนุนการใช้ปุ๋ยมากขึ้น”
จี้รัฐแก้กฎหมายเช่าที่ดิน
รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวถึงบทบาทภาครัฐต่ออนาคตการเกษตรของไทยว่า รัฐบาลไม่ควรเป็นผู้ชี้นำ บงการว่า เกษตรกรควรผลิตอะไร เพราะที่ผ่านมาก็มีความผิดพลาดซ้ำซากให้เห็น เช่น วัวพลาสติก ดังนั้น ควรให้เกษตรกรเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเอง แต่ทั้งนี้ รัฐบาลควรเข้ามามีบทบาทเรื่องการวางกฎเกณฑ์ กติกา เพื่อให้ตลาดทำงานได้เต็มที่ เช่น วางกฎเกณฑ์และมาตรฐานความปลอดภัย ป้องกันการฉ้อโกงด้านการชั่ง ตวง วัด รวมทั้งตราหรือแก้ไขกฎหมายที่ดิน เป็นต้น นอกจากนี้รัฐต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ดำรงนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่สร้างเสถียรภาพด้านราคา รวมทั้งนโยบายด้านถือครองที่ดินเกษตร
“รัฐต้องแก้ไขกฎหมายการเช่าที่ดินเกษตรและเร่งออกโฉนดที่ดิน มีนโยบายธนาคารที่ดิน สำหรับผู้ที่ต้องการทำการเกษตร เปลี่ยนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องโฉนดชุมชนเป็น พระราชบัญญัติ เพื่อให้ชาวบ้านที่ทำกินในเขตป่าอนุรักษ์หรือที่ดินสาธารณะมีส่วนร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม”รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าว และว่า ที่ผ่านมาพบว่า เกษตรกรที่ยากจนมีรายได้ต่ำ เนื่องจากมีที่ดินทำเกษตรน้อย ดังนั้น หากรัฐมีนโยบายสนับสนุนการขยายพื้นที่ถือครอง เชื่อว่า เกษตรกรจะมีฐานะดีขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลต้องมีนโยบายด้านวิจัย เพื่อช่วยพัฒนาผลิตภาพ ลดต้นทุน หรือแก้ไขปัญหามลพิษ รวมทั้งสนับสนุนชุมชนให้รวมตัวกันสร้างทุนทางสังคม เพื่อประโยชน์ต่อการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน อาทิ ทดลองสร้างกลุ่มชาวบ้านในลุ่มน้ำสาขาย่อยให้บริหารจัดการน้ำฯ
ขณะที่นโยบายภาครัฐที่ควรยุติบทบาทหรือลดบทบาทนั้น ปธ.ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า คือ เรื่องการแทรกแซงตลาด การควบคุมราคาสินค้าเกษตร การจำกัดการส่งออก การนำเข้า ซึ่งรวมถึงเมล็ดพันธุ์ และการค้าพืชผลเกษตร โดยภาครัฐ ซึ่งก็เชื่อว่า สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด รัฐบาลจะไม่ยุติ ในทางกลับกันรัฐบาลจะยิ่งทำเพิ่มขึ้นแน่นอน