ปัญหาถือครองที่ดิน ความเหลื่อมล้ำสุดขั้ว ภาพสังคมไทยรวยกระจุกจนกระจาย
ประชากรไทยมากกว่าสามในสี่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินใดๆเลย ขณะที่กลุ่มผู้ถือครองที่ดินมากกว่า 5,000 ไร่ใช้ประโยชน์จากที่ดินของตนเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น สะท้อนความเหลื่อมล้ำสุดขั้วที่เก่าแก่ของสังคมไทย
ความเหลื่อมล้ำในสังคมดูจะเป็นสิ่งที่อยู่สังคมไทยมาเป็นระยะเวลานาน นานมากพอที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ชินชากับสิ่งที่เกิดขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลไทยได้ตั้งเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ โดยมุ่งให้ค่าสัมประสิทธิ์จีนี่อยู่ที่ 0.36 ซึ่งเป็นระดับที่เทียบได้กับกลุ่มประเทศโออีซีดี (OECD) ภายในปี 2579 และมุ่งให้รายได้ของคนจนที่สุดในประเทศร้อยละ 40 เพื่มขึ้นอย่างน้อยที่สุดร้อยละ 15 ต่อปี
ปี 2558 ประเทศไทยติดลำดับที่ 11 ของโลกในการจัดลำดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งสูงที่สุด
ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยขยับขึ้นจากอันดับ 11 เป็นอันดับ 3 ของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก รองจากรัสเซีย และอินเดีย
รายงานความเหลื่อมล้ำโดยองค์กรอ็อกแฟม ประเทศไทย ระบุว่า ความเหลื่อมล้ำด้านที่ดิน คือรูปแบบความเหลื่อมล้ำที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย โดยพบว่าความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินอย่างสุดขั้วโดยมีค่าสัมประสิทธิ์จีนี (Gini coefficient) ของผู้ครอบครองโฉนดอยู่ที่ 0.89
ในปี 2555 ประชากรไทยมากกว่าสามในสี่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินใดๆ เลย และหมู่เจ้าของที่ดินนั้น ร้อยละ 10 มีที่ดินโฉนดมากเป็น 854 เท่าของผู้ถือครองที่ดินรายย่อยที่สุดร้อยละ 10
เกษตรกร ไม่สามารถเข้าถึงที่ดินทำกิน ระบบชลประทาน และเงินกู้ได้ โดยมีหลักฐานชี้ให้เห็นว่า เกษตรกรไทยนั้นอยู่ในภาวะสูญเสียที่ดินมากขึ้น
สถิติทางการตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาแสดงให้เห็นว่า คนไทยราว 2.2 ล้านคนอยู่ในสภาวะเปราะบางเนื่องมาจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน โดยร้อยละ 40 ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ส่วนอีกร้อยละ 37 ไม่มีโฉนดที่ดิน และที่เหลือไม่มีที่ดินเพียงพอในการทำมาหากิน
"คนจนที่สุด" ยังคงดิ้นรนเพื่อที่จะมีที่ดิน หรือไม่ให้สูญเสียที่ทำกินที่มีอยู่ เจ้าของที่ดินรายใหญ่ทั้งหลายก็แทยจะไม่ได้ใช้ที่ดินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ใดๆ
ในปี 2545 กลุ่มผู้ถือครองที่ดินมากกว่า 5,000 ไร่ ใช้ประโยชน์จากที่ดินของตนเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น
นอกจากนี้ ในปี 2558 มีที่ดินในประเทศไทยเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เชื่อมต่อกับระบบชลประทาน โดยร้อยละ 41 ของที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตภาคกลาง ทำให้เกษตรกรในชนบทที่ยากจนที่สุดต้องอาศัยน้ำฝนต่อไป
สำหรับคนยากจนที่สุดนั่นหมายถึงพวกเขาต้องอาศัยเงินกู้ แต่การเข้าถึงเงินกู้ในระบบจำเป็นต้องใช้โฉนดที่ดิน ทำให้พวกเขาต้องหันไปหาเงินกู้นอกระบบที่อัตราดอกเบี้ยสูงลิ่ว
ในปี 2556 การสำรวจพบว่า ร้อยละ 16 ของเกษตรกรไทยยากจนแทบจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ในระยะ 12 เดือนก่อนหน้านั้น นับเป็นวงจรอุบาทว์ที่เป็นอุปสรรคต่อความกังวลของเกษตรกรยากจนและอาจนำพาให้พวกเขาจนถึงล้มละลาย
ด้านสิทธิสหภาพแรงงาน รายงานของอ็อกแฟมระบุว่า สิทธิของสหภาพแรงงานในประเทศไทยยังห่างไกลจากมาตฐานสากล ตามดัชนี้วัดความมุ่งมั่นต่อการลดความเหลื่อมล้ำของอ็อกแฟม พบว่า ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 122 จาก 155 ประเทศ
ในด้านสิทธิแรงงานและสหภาพแรงงาน กฎหมายไทยยังไม่คุ้มครองสิทธิในการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน สำหรับแรงงานส่วนใหญ่จากจำนวนทั้งหมด 39 ล้านคน มีข้อจำกัดหลายอย่างเกี่ยวกับการรวมตัว โดยเฉพาะกับคนงานชั่วคราว การใช้แรงงานแบบจ้างเหมาซึ่งมีอยู่ทั่วไป เป็นการจำกัดสิทธิในการรวมตัวโดยปริยาย ขณะเดียวกันแรงงานข้ามชาติกฏหมายไม่อนุญาตให้จัดตั้งสหภาพหรือดำรงตำแหน่งใดในสหภาพแรงงาน
ในส่วนของด้านการศึกษาและการบริการสุขภาพ พบว่า ยังคงทิ้งคนจนที่สุดในข้างหลัง แม้ว่ากฎหมายไทยรับประกันการศึกษาโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย 15 ปี แต่ยังมีอุปสรรคด้านการเงินที่สำคัญ อาทิ ค่าเดินทาง ที่ทำให้คนจนไม่สามารถเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนได้
ปี 2557 ร้อยละ 17 ของนักเรียนที่เลิกเรียนกลางคันมาจากครอบครัวยากจน หรือจำเป็นต้องออกมารับบทบาทหาเลี้ยงครอบครัว
สถิติล่าสุดแสดงให้เห็นว่า คนรวยที่สุดร้อยละ 10 มีแนวโน้มจะได้เข้าเรียนระดับอุดมศึกษามากกว่าถึง 19 เท่า เมื่อเทียบกับคนจนที่สุดร้อยละ 10 นอกจากนี้ยังมีช่องว่างด้านคุณภาพระหว่างโรงเรียนในเมืองกับชนบท อันเนื่องมาจากการลงทุนด้านทรัพยากรของรัฐที่ไม่เท่าเทียมกัน
รายงานฉบับเดียวกันยังระบุด้วยว่า ความพยายามในการลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพในประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมาก ปัจจุบันคนไทยทุกคนได้รับการคุ้มครองภายใต้ระบบประกันสุขภาพอย่างใดอย่างหนึ่งจากที่มีอยู่สามระบบ
อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องที่จำเป็นต้องดำเนินการต่อไป เนื่องจากปัจจุบันระบบประกันสุขภาพคุ้มครองร้อยละ 76 ของคนไทยทั้งหมด แต่กลับได้รับเงินลงทุนต่อหัวน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับระบบประกันสุขภาพอื่นๆ
นอกจากนี้ การจัดสรรงบประมาณสำหรับหน่วยบริการปฐมภูมิยังคงไม่เพียงพอ อีกทั้งร้อยละ 70 ของบริการดังกล่าวยังไม่ได้บรรลุมาตรฐานขั้นต่ำ โดยที่ผู้ใช้บริการดังกล่าวคือผู้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากระบบประกันสุขภาพแห่งชาติและกลุ่มคนยากจน
ขณะเดียวกันระบบการจัดเก็บภาษีของไทยยังคงเป็นปัญหา สร้างความเหลื่อมล้ำสูง โดยเฉพาะการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีทางอ้อมอื่นๆ จะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนจนใช้จ่ายรายได้ส่วนใหญ่ของตนไปกับการบริโภค
การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวจึงกระทบต่อพวกเขามากที่สุด
ทางออกที่ดีในการลดช่องว่างตรงนี้ ประเทศไทยควรเก็บภาษีจากความมั่นคงและทรัพย์สินจากคนรวยให้สูงขึ้น เช่น ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า และกำหนดให้อัตราภาษีมรดกและอสังหาริมทรัพย์ให้ก้าวหน้ามากขึ้นและมีช่องโหว่น้อยลง
การยกเว้นภาษีต่างๆ ในปัจจุบันรังแต่จะทำให้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำด้านมั่งคั่งเลวร้ายลง
ขณะที่ในส่วนของอำนาจทางการเมืองอ็อกแฟม วิเคราะห์ว่า อำนาจการเมืองปัจจุบันอยู่ในมือของคนชนชั้นนำมากเกินไป ทั้งโดยตรงผ่านผู้ที่มีตำแหน่งทางการเมือง และทางอ้อมผ่านทางอิทธิพลที่มาพร้อมกับความร่ำรวย
จากการวิจัยพบว่า ยิ่งเจ้าของธุรกิจมีความมั่งคั่งมากเท่าใด ก็มีแนวโน้มที่พวกเขาจะลงสมัครหรือเข้าถึงตำแหน่งทางการเมืองด้วยวิธีทางต่างๆ มากขึ้นเท่านั้น ชนชั้นนำเหล่านี้สามารถเข้าถึงกลุ่มอำนาจในการล็อบบี้ให้สนับสนุนโยบายที่ตนเองจะได้ประโยชน์ ในขณะเดียวกันกลุ่มคนจนที่สุดก็ไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะส่วนร่วมในการตัดสินใจต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวเขาเอง
ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนั้นมาคู่กันกับความเหลื่อมล้ำทางการเมือง ในขณะที่นโยบายต่างๆ ยังคงเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มคนรวยต่อไป
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ หากรัฐบาลมีความประสงค์ที่จะต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมลงมานั้น องค์กรอ็อกแฟม มองว่า หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในระดับนโยบาย ไทยก็จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ว่าได้อย่างแน่นอน อีกทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองจะทำให้การเติบโตและเสถียรภาพเศรษฐกิจในอนาคตตกอยู่ในอันตราย และบั่นทอนโอกาสในชีวิตของคนที่ยากจนและอยู่ชายขอบที่สุด และเพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่อนาคตที่เป็นธรรมมากขึ้น รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมุ่งมั่นดำเนินการต่อไปนี้
1. ออกมาตรการที่ชัดเจนว่า จะเริ่มลดค่าสัมประสิทธิ์จีนีและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
2. ดำเนินการให้มีการจ่ายค่าจ้างเพื่อชีวิต การเข้าถึงการศึกษาและการฝึกอบรม และการคุ้มครองทางสังคมสำหรับแรงงานทุกคน
3. ทำให้ห่วงโซอุปทานในการประกอบธุรกิจมีความเป็นธรรม โปร่งใสและตรวจสอบได้ และกำหนดมาตรฐานสัญญาจ้างที่ระบุอำนาจต่อรองของคงงานและเกษตรกรทุกคน
4. เร่งการปฏิรูปเกษตรกรรมเพื่อให้คนจนเข้าถึงที่ดิน แหล่งน้ำ และทุนได้เพิ่มขึ้น
5. ลงทุนในระบบการศึกษาสาธารณะ โดยมุ่งขจัดอุปสรรคด้านการเงิน และสร้างครูที่มีคุณภาพให้เพียงพอสำหรับทุกชุมชน รวมถึงชุมชนชายขอบ
6. ลงทุนในบริการสาธารณสุขที่เอื้อประโยชน์แก่คนยากจน โดยเพิ่มงบประมาณในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติและการบริการปฐมภูมิ และจัดหาแพทย์และบุคลากรทางการเเพทย์ที่ผ่านการฝึกอบรมให้ทั่วถึง
7. ปรับระบบภาษีให้เป็นระบบก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยเพิ่มอัตราภาษีในกลุ่มผุ้มีรายได้สูง กลุ่มผู้ครอบครองทุนและความมั่นคั่งสูง รวมถึงลดการยดเว้นภาษี ลดช่องโหว่ทางกฎหมายและอัตราภาษีถอยหลัง
8. ประเมินผลกระทบของนโยบายทางการคลังต่อความเหลื่อมล้ำ และเปิดให้สาธารณชนให้ความคิดเห็นและตรวจสอบการประเมินดังกล่าว
9. ปฏิรูประบบการจัดเก็บและการบริหารจัดการภาษี เพื่อให้รัฐมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น
10. ส่งเสริมเพิ่มพูนการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการตัดสินใจและการติดตามตรวจสอบ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ยากจนและอยู่ชายขอบที่สุด
ขอบคุณภาพประกอบจาก
http://www.landactionthai.org/