กลุ่มราษฎรรักษ์ป่าออกแถลงเตือน'กิตติรัตน์ 'ใช้ปัญญาแก้ปัญหาน้ำท่วม/แล้ง
8 ก.พ. ที่ผ่านมากลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ออกแถลงการเตือนกิตติรัตน์ ใช้ปัญญาแก้ไขปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้ง อย่าใช้ อำนาจและเงิน ผลาญทรัพยากรธรรมชาติ ชาติจะล่มจม โดยมีเนื้อหาดังนี้
จากการที่นายกิติรัตน์ ณ ระนอง ได้ออกมาผลักดันเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ให้เป็นเรื่องเร่งด่วนนั้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง คิดแต่เรื่องการใช้เงิน คิดว่าการใช้เงินมหาศาลสร้างโครงการเม็กกะโปรเจ็คแล้วจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ ในทางกลับกันการกู้เงินมาทำลายป่ากว่า 50,000 ไร่ จะสร้างความหายนะให้กับทรัพยากรธรรมชาติ อันจะนำไปสู่ปัญหาโลกร้อง การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลก และเกิดภัยพิบัติตามมาอีกมหาศาล
จากข้อเท็จจริง ที่นายกิติรัตน์ไม่ได้พูดถึง คือ แม่น้ำปิงมีเขื่อนภูมิพล ความจุประมาณ 13,000 ล้าน ลบม. แม่น้ำน่านมีเขื่อนสิริกิตติ ความจุประมาณ 9,000 ล้าน ลบม. ฯลฯ ก็ยังปล่อยน้ำท่วมกรุงเทพฯ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้จริงอย่างที่กล่าวอ้าง นับประสาอะไรกับเขื่อนแก่งเสือเต้น ความจุประมาณ 1,175 ล้าน ลบม. หากมีเขื่อนแก่งเสือเต้น ก็จะช่วยกักน้ำไว้ได้ 55 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 600 ล้าน ลบม. เพราะเขื่อนต้องรักษาน้ำไว้ 45 เปอเซ็นต์ เหมือนเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิตติ หากมีน้ำมา ประมาณ 20,000 ล้าน ลบม. เหมือนปี 2554 เขื่อนแก่งเสือเต้นก็จะช่วยให้น้ำลดลงมาได้เท่าขนหน้าแข้ง คุ้มหรือไม่กับการทำลายป่ากว่า 50,000 ไร่ และผลาญงบประมาณแผ่นดินไปอีก 12,000 ล้านบาท
ทั้งที่งานวิจัยขององค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ได้ชี้ชัดว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ การศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชัดว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของตัวเอง สันเขื่อนที่สูงจากท้องน้ำถึง 72 เมตร หากมีการแตกหรือพังทลายลงมาจะมีคลื่นยักษ์ยิ่งกว่า สึนามิหลายเท่า จากการศึกษาของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน ฯลฯ
การผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นจึงไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง เป็นเพียงการใช้อำนาจและเงิน ในการทำลายป่า ผลาญงบประมาณแผ่นดิน ผลาญทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเอาใจนักลงทุน ดังนั้น กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า จึงขอให้นายกิติรัตน์ ได้ใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหา ทบทวนและยุติการกู้เงินมาทำลายป่า และยุติการสนับสนุนเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ที่กั้นแม่น้ำยม และหันมาใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน และผลักดันการจัดการน้ำชุมชนให้เป็นแผนแม่บทในการจัดการน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำสืบต่อไป
___________________________________________________________________________________________
แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม อย่างยั่งยืน
1.การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม นับเป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบนิเวศน์ ให้กลับคืนมาสู่สมดุล อย่างยั่งยืน โดยเน้นการฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้เป็นวาระแห่งชาติ
2.การผลักดันแนวคิดการจัดการน้ำชุมชน ให้เป็นแผนแม่บทในการจัดการน้ำแห่งชาติ โดยใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา การจัดการน้ำแบบใหม่ และการพัฒนาที่ยั่งยืน มองภาพรวมการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำทั้งระบบ โดยมีชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนาแผนการจัดการน้ำของแต่ละชุมชน เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการวางแผนและสนับสนุนงบประมาณในการผลักดันแผนการจัดการน้ำชุมชนให้เป็นรูปธรรม
3.แผนการกักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา กรณีของลุ่มน้ำยม มีลำน้ำสาขาถึง 77 สาขา ซึ่งสามารถผลักดันให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดกลางประมาณ 50 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยใช้งบประมาณอ่างละไม่เกิน 200-300 ล้านบาท รวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มแม่น้ำยม สามารถดำเนินการได้โดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กตามที่มีรายละเอียดในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แผนดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยแล้วหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น
4.แผนการกักเก็บน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ ในกรณีของลุ่มน้ำยม มีอยู่ 98 ตำบล ใช้งบประมาณไม้เกินแหล่งละ 5-10 ล้านบาท ซึ่งแผนงานเหล่านี้จะกระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนไม่มากนัก แต่จะมีประโยชน์ต่อชาวบ้านและชุมชนโดยตรงในแต่ละพื้นที่
5.การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ อันจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ การทำทางเบี่ยงน้ำเพื่อระบายออกนอกเขตชุมชน การสร้างเครือข่ายทางน้ำเพื่อกระจายน้ำไปยังนอกเขตชุมชน เป็นต้น
6.การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม สามารถทำได้โดย ขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง การยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ การสร้างบ้านเรือนให้อย่างน้อยชั้นล่างสุดต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด การแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การกำหนดให้เป็นเขตเสี่ยงภัยจากน้ำท่วม การหยุดยั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ขวางทางน้ำในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำยม การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น เป็นที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งประมง เขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะสอดคล้องกับระบบนิเวศน์ ยังสามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางตอนล่างลงมา เนื่องจากที่ราบลุ่มแม่น้ำยมเป็นที่พักน้ำ ที่สามารถพักน้ำไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกันถึง 500-1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ซึ่งมากกว่าความจุของเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก)
7.การจัดการทางด้านความต้องการ ในปัจจุบันลุ่มแม่น้ำยมมีระบบชลประทานขนาดใหญ่ และขนาดกลาง 24 แห่ง ระบบชลประทานขนาดเล็ก 220 แห่ง บ่อน้ำตื้น 240 บ่อ และระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าของกรมพัฒนา และส่งเสริมพลังงาน 26 แห่ง รวมพื้นที่ชลประทาน 1,117,465 ไร่ ระบบชลประทานเหล่านี้ล้วนแต่มีประสิทธิภาพต่ำ ต้องซ่อมบำรุงให้ใช้การให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
8.การพัฒนาระบบประปา การขาดแคลนน้ำในเมืองใหญ่ ๆ โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่ความต้องการน้ำมีสูง ไม่ได้เกิดจาก การขาดน้ำดิบเท่านั้น แต่เกิดจากระบบการผลิตน้ำประปาของการประปาภูมิภาคไม่เพียงพอ ตัวอย่างเช่น เมืองสุโขทัยขาดแคลนน้ำประปาในฤดูแล้ง เพราะระบบการผลิตน้ำประปามีความสามารถในการผลิตน้ำประปาเพียง 60 % ของความต้องการน้ำประปาสูงสุดในฤดูแล้ง การขยายระบบการผลิตน้ำประปาจะสามารถช่วยในการขาดแคลนน้ำอุปโภค–บริโภค ในเมืองใหญ่ได้อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้มีการประหยัดน้ำในฤดูแล้งก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น
9.การสนับสนุนให้เกิดการฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ บ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน และชุมชน อย่างเป็นจริง มากกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น
หมายเหตุ
ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม อย่างยั่งยืนนี้ ได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้ว 2 ครั้ง คือ เมื่อครั้งที่นายกมาตรวจเยี่ยมพื้นที่น้ำท่วมที่ จ.แพร่ เมื่อเดือนกันยายน 2554 และ เมื่อครั้งที่นายกมาประชุม ครม. สัญจรที่ จ.เชียงใหม่ในเดือนมกราคม 2555 ที่ผ่านมา