เปิดผลสอบบ่อขยะเทศบาลเดชอุดม 64ล. -ไฉนผ่านไป5ปียังสร้างไม่เสร็จ?
"..การสำรวจความคิดเห็นองค์กรส่งเสริมการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐภาคประชาชน จังหวัดอุบลราชธานีและภาคอีสาน และเทศบาลฯ ขาดความเชื่อถือและไม่ยอมรับจากประชาชนใน พื้นที่ เนื่องจากไม่มีที่มาของข้อมูล และข้อมูลส่วนใหญ่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริง.."
โครงการการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ของเทศบาลเมืองเดชอุดม จ.อุบลราชนี วงเงิน 64.07 ล้านบาท กำลังถูกจับตามอง เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า มีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานโครงการอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความล่าช้า เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย.2555 จนถึงปัจจุบันการก่อสร้างงานยังไม่แล้วเสร็จ และยังถูกคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ไม่ให้นำขยะมาทั้งในโครงการด้วย
สำนักข่าวอิศรา www.isranew.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง. ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบ โครงการการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ของเทศบาลเมืองเดชอุดม จ.อุบลราชนี วงเงิน 64.07 ล้านบาท โดยระบุว่าโครงการฯ นี้ มีการขอรับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้แผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อปรับปรุงสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยเดิมเป็นระบบกำจัดขยะมูลฝอยที่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลและเพื่อให้สามารถรองรับมูลฝอยของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลข้างเคียงได้ ตามแนวทางของคู่มือการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2552 ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการก่อสร้าง จำนวน 64.07 ล้านบาท เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2555 ณ วันที่ตรวจสอบ โครงการฯ ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ คงเหลืองานงวดสุดท้าย วงเงิน 2,300,760.00 บาท ได้แก่ งานก่อสร้างคันทาง ลงถนนลูกรังทุกสายในโครงการ ระบบระบายน้ำ งานรั้วลวดหนามและงานปรับภูมิทัศน์ภายในโครงการ
จากการตรวจสอบเอกสาร สังเกตการณ์งานก่อสร้าง สอบทานแบบสอบถามและสอบถามผู้ที่มีส่วนได้เสียในพื้นที่ตำบลกลาง พบว่า ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่คัดค้านไม่ให้เทศบาลฯ นำขยะมูลฝอยมาทิ้งในโครงการ และในพื้นที่ตำบลกลาง โดยไม่มีเงื่อนไข ดังนี้
1. ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลกลาง ตำบลกลาง อำเภอเดชอุดม เป็นหน่วยงาน
ราชการส่วนท้องถิ่นเจ้าของพื้นที่โครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองเดชอุดม มีหนังสือจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายทนงศักดิ์ ลาภาพันธ์) เลขที่ อบ 74201/1024 ลงวันที่ 28 เมษายน 2559 แจ้งว่าไม่ยินยอมให้เทศบาลเดชอุดม นำขยะมาทิ้งในพื้นที่โครงการ ไม่ต้องการชดเชยเยียวยาทุกชนิด ไม่มีหน่วยงานใดที่สามารถเจรจาเพื่อหาข้อสรุปและแนวทางแก้ไขให้บ่อกำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองเดชอุดมสามารถเปิดใช้งานได้อย่างแน่นอน และจะดำเนินการต่อต้านทุกรูปแบบ เนื่องจากสถานที่ก่อสร้างไม่มีความเหมาะสมที่จะก่อสร้างขยะมูลฝอยตั้งแต่แรกและมีข้อเสนอแนะให้เทศบาลฯ ควรนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นๆ
2. สมาชิกสภาขององค์การบริหารส่วนตำบล กำนันและผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลกลางที่ดำรงตำแหน่งในปี 2559 และก่อนปี 2559 ได้ร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของ สตง.เมื่อวันที่ 16-17 พฤษภาคม 2559 เวลา 8.30-12.00 น. ณ ห้องประชุมสภาขององค์การบริหารส่วนตำบลกลางมีข้อสรุปการประชุมเป็นเอกฉันท์ว่าไม่ให้เทศบาลเมืองเดชอุดมนำขยะมาทิ้งในพื้นที่โครงการ เนื่องจากบ่อกำจัดขยะมูลฝอยและเส้นทางขนส่งขยะมูลฝอยอยู่ใกล้ชุมชน/โรงเรียนและมีที่นาของประชาชนอยู่ติดกับบ่อขยะจำนวน 15 แปลง รวมทั้งมีความเห็นให้เทศบาลฯ นำโครงการพื้นใช้ประโยชน์อย่างอื่น เช่น สวนสาธารณะ บ่อเลี้ยงปลา หรืออื่นๆ ตามความเหมาะสมที่ไม่ใช่การกำจัดขยะมูลฝอย เป็นต้น
3. ประชาชนในพื้นที่ที่มีส่วนได้เสียกับโครงการส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้เทศบาลฯ นำขยะเข้ามา ทิ้งในพื้นที่โครงการ จากการตรวจสอบประชาชนในพื้นที่โครงการ 6 หมู่บ้านที่มีผลกระทบต่อการนำ ขยะมาทิ้งในโครงการ ได้แก่ หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 8 หมู่ที่ 11 หมู่ที่ 14 และหมู่ที่ 15 โดยใช้วิธี ตรวจสอบความถูกต้องของแบบลงความคิดเห็นในโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอย และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมผู้ตอบแบบลงความคิดเห็นฯ ดังกล่าว จากการตรวจสอบแบบลงความคิดเห็น ของประชาชนที่เห็นด้วยกับโครงการทั้งหมด จำนวน 353 ราย สามารถมาให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ ตรวจสอบได้ จำนวน 165 ราย พบว่า มีประชาชนในพื้นที่เพียง 7 รายที่ยินยอมให้เทศบาลฯ นำขยะ มาทิ้งในพื้นที่โครงการได้ คิดเป็นร้อยละ 4.24 ของจำนวนประชาชนที่มาให้ข้อมูล และประชาชนส่วน ใหญ่ในพื้นที่คัดค้านไม่ให้นำขยะมาทิ้งในโครงการ จำนวน 158 ราย คิดเป็นร้อยละ 95.74 ของจำนวน ประชาชนที่มาให้ข้อมูล
ผลกระทบ
1. การดำเนินโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองเดชอุดมมีความล่าช้ากว่า แผนที่กำหนด ซึ่งตามแบบเสนอโครงการกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จปีงบประมาณ 2552 และผูกพัน งบประมาณปีงบประมาณ 2552-2553 (ตามแผนที่ได้รับการสนับสนุนและแผนปฏิบัติการสิ่งแวดล้อม) ปัจจุบันผู้รับจ้างยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญาและยังไม่สามารถทดลองระบบฝังกลบขยะมูลฝอยได้ คิดเป็นระยะเวลา 6 ปี นับจากปีงบประมาณ 2553 ถึงปีงบประมาณ 2559
2. เกิดความขัดแย้งและขาดความสามัคคีของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลกลาง ระหว่าง ประชาชนผู้ที่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการกับประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยในการดำเนินโครงการก่อสร้าง ระบบกำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองเดชอุดม ส่งผลกระทบต่อทัศนคติของประชาชนที่ได้รับความ เดือดร้อนจากการกำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกวิธีและหลักสุขาภิบาล หรือจากการที่ได้รับข้อมูลข่าวสาร ในเรื่องความเดือดร้อนจากขยะมูลฝอยทางสื่อสารมวลชน และประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการกำจัด ขยะมูลฝอยของหน่วยงานภาครัฐ ส่งผลให้การจะเข้าไปใช้ประโยชน์ในโครงการดังกล่าวเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
3. ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาล เมืองเดชอุดม ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการในการนำขยะมูลฝอยไปกำจัดได้ตามหลัก สุขาภิบาลและไม่สามารถเป็นศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแห่งที่ 6 จังหวัดอุบลราชธานี ตามเจตนารมณ์ ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นอื่นที่เป็นกลุ่มร่วมเครือข่าย (Culster) สูญเสียโอกาสที่จะเข้าร่วมทิ้งขยะมูลฝอยอย่างถูก สุขลักษณะ จำนวน 36 แห่ง
4. องค์กรปกครองท้องถิ่นอื่นที่มีความพร้อมสูญเสียโอกาสในการใช้งบประมาณเพื่อก่อสร้าง ระบบกำจัดขยะมูลฝอย และส่งผลให้เทศบาลเมืองเดชอุดมต้องสูญเสียงบประมาณตั้งแต่ปี 2552- 2558 จำนวนเงินทั้งสิ้น 2.85 ล้านบาท ในการนำขยะมูลฝอยไปกำจัดที่เทศบาลเมืองวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีระยะทางห่างจากเทศบาลเมืองเดชอุดมประมาณ 45 กิโลเมตร
สาเหตุ
การที่ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่คัดค้านไม่ให้เทศบาลฯ นำขยะมาทิ้งในโครงการมีสาเหตุ ดังนี้
1. หน่วยงานของรัฐขาดการเตรียมความพร้อมด้านการมีส่วนร่วมก่อนที่จะคัดเลือกพื้นที่ เพื่อกำหนดจัดขยะมูลฝอย เทศบาลฯ องค์การบริหารส่วนตำบลกลาง และหน่วยงานอื่นๆ ไม่มีการเตรียม ความพร้อมด้านระบบการมีส่วนร่วมของประชาชน ตัวอย่างเช่น การจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครสิ่งแวดล้อม การให้ความรู้ความเข้าใจ การประชาสัมพันธ์ และการจัดกิจกรรมส่งเสริม เป็นต้น
2. หน่วยงานของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลกลาง เทศบาลเมืองเดชอุดม อำเภอเดชอุดม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด อุบลราชธานี สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 12 อุบลราชธานี และผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่ดำเนินการ แก้ไขปัญหาหรือไกล่เกลี่ยปัญหาการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ให้เกิดการยอมรับโครงการ โดยการ สร้างฉันทามติร่วมกันกับประชาชนในพื้นที่โครงการต่อการแก้ไขปัญหา ก่อนที่จะดำเนินการเสนอ โครงการ ทำให้ระดับการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้น และในปัจจุบัน ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่ยินยอมให้เทศบาลฯ นำขยะเข้ามาทิ้งในโครงการและในพื้นที่ของตำบลกลาง โดยไม่มีเงื่อนไข
3. หน่วยงานของรัฐพยายามใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาให้โครงการสามารถ ดำเนินการก่อสร้างได้โดยไม่คำนึงถึงปัญหาการยอมรับของประชาชน มีผลทำให้ระดับการคัดค้านและ การไม่ยอมรับขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น และประชาชนร่วมตัวกันเพื่อคัดค้านโดยการฟ้องศาลปกครอง เมื่อ ผู้ที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาด้วยระบบกระบวนการมีส่วนร่วมไม่ได้ผลตามที่กำหนดเป้าหมาย จึงเริ่มใช้ กระบวนการทางกฎหมายเพื่อดำเนินการ และมุ่งเน้นการยอมรับผลทางกฎหมายจากการจัดทำ ประชามติมากกว่าความขัดแย้งหรือการยอมรับของประชาชนในพื้นที่ และไม่ดำเนินการทบทวนหรือ ระงับยับยั้งการดำเนินโครงการฯ จนเป็นเหตุให้การคัดค้านขยายวงกว้างส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ใน พื้นที่ไม่ยอมรับและไม่ยินยอมให้เทศบาลฯ นำขยะมาทิ้งในพื้นที่โครงการ โดยไม่มีเงื่อนไข และทำให้ ประชาชนในพื้นที่รวมตัวกันใช้มาตรการเพื่อต่อสู้หรือตอบโต้หน่วยงานราชการเช่นเดียวกัน
4. กระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งเสียงส่วนใหญ่ขาดความโปร่งใส่ทำให้ประชาชนในพื้นที่ ขาดความเชื่อมั่นและไม่ยอมรับ การจัดทำและดำเนินการให้ประชาชนในพื้นที่คัดค้านและไม่ยอมรับ ระบบการกำจัดขยะตามโครงการฯ ของเทศบาลเมืองเดชอุดมไม่ถูกต้องและไม่โปร่งใส จนเป็นเหตุให้ ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้นายอำเภอเมืองเดชอุดมต้องแต่งตั้ง คณะกรรมการฯ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องดังกล่าว แต่คณะกรรมการฯ ไม่ดำเนินการตามหน้าที่ที่ ได้รับมอบหมายและปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไข เกิดความสับสนและขาดความเชื่อมั่นในระบบ การทำงานของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในปัจจุบันการคัดค้านขยายวงกว้างกลายเป็นประชาชนส่วน ใหญ่ในพื้นที่ไม่ยอมรับและไม่ยินยอมให้เทศบาลฯ นำขยะมาทิ้งในพื้นที่โครงการ โดยไม่มีเงื่อนไข ดังนี้
4.1 การสำรวจความคิดเห็นองค์กรส่งเสริมการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐภาคประชาชน จังหวัดอุบลราชธานีและภาคอีสาน และเทศบาลฯ ขาดความเชื่อถือและไม่ยอมรับจากประชาชนใน พื้นที่ เนื่องจากไม่มีที่มาของข้อมูล และข้อมูลส่วนใหญ่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริง
4.2 การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนรายครัวเรือนขาดความโปร่งใสทำให้ ประชาชนในพื้นที่ขาดความเชื่อถือและไม่ยอมรับผลการสำรวจดังกล่าว โดยไม่แต่งตั้งให้ประชาชนฝ่าย ที่คัดค้านโครงการเข้ามีส่วนร่วมเป็นคณะอนุกรรมการฯ การสำรวจข้อมูลคณะอนุกรรมการฯ มีการกีด กันไม่ให้คณะอนุกรรมการฯ ฝ่ายคัดค้านเข้าร่วมสังเกตการณ์และร่วมสำรวจข้อมูล รวมทั้งการสำรวจ ข้อมูลไม่ครอบคลุมประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย และผลการสำรวจข้อมูลไม่ถูกต้องสอดคล้องกับ ข้อเท็จจริงในพื้นที่
5. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูล ฝอย และไม่ต้องเร่งรัดดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของ ประชาชน พ.ศ. 2548 ข้อ 13 ที่กำหนดไว้ว่า เมื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้วปรากฏว่าการ ดำเนินโครงการของรัฐโครงการใดอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนมากกว่าข้อมูลที่เผยแพร่แก่ ประชาชนตามข้อ 7 (7) ถ้ายังมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไป หน่วยงานของรัฐต้อง กำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจาก ผลกระทบดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสมก่อนเริ่มดำเนินโครงการของรัฐนั้น และประกาศให้ ประชาชนทราบ เนื่องจาก เทศบาลเมืองเดชอุดมมีสถานที่รองรับการกำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาล เมืองวารินชำราบที่สามารถบรรเทาความจำเป็นเร่งด่วนของเทศบาลเมืองเดชอุดม ทำให้ระดับความ จำเป็นของศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองเดชอุดมลดลง และระดับความจำเป็นเร่งด่วนที่ จะต้องมีบ่อกำจัดขยะมูลฝอยขนาดใหญ่เพื่อรองรับขยะมูลฝอยของกลุ่มที่ 6 ได้ลดน้อยลงด้วย ดังนั้น เทศบาลฯ ยังมีเวลาที่จะพิจารณาสำรวจตรวจสอบหาสถานที่ก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยแห่งใหม่ ที่ประชาชนในพื้นที่ยอมรับและไม่เกิดปัญหาคัดค้านไม่ให้ทิ้งขยะในอนาคตได้
6. ที่ปรึกษาไม่ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อมให้ ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบข้อมูลและมีส่วนร่วมในการบวนการดำเนินโครงการ ตามคู่มือการจัดทำ โครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดระบบจัดการมูลฝอยแบบครบวงจร สำหรับองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น ของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งได้ระบุไว้ในกระบวนการตัดสินใจดำเนินโครงการ ข้อ 2.5 การกำหนดแนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหา ต้องสร้างความเข้าใจกับปัญหาและความจำเป็นที่จะให้มีระบบ กำจัดขยะมูลฝอย ความร่วมมือที่ต้องการจากประชาชนในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อพิจารณา ดำเนินการ ดังนี้
1. แจ้งให้องค์การบริหารส่วนตำบลกลาง พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1.1 ให้องค์การบริหารส่วนตำบลกลาง เรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อสรุปปัญหา และ หาแนวทางการใช้ประโยชน์โครงการในทางสร้างสรรค์ร่วมกัน และเป็นที่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำเสนอแนวทางการใช้ประโยชน์ต่อนายอำเภอเดชอุดม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และจัดกิจกรรมหรือโครงการเพื่อให้ เกิดความสามัคคีในชุมชุม และแลกเปลี่ยนความรู้ในการพัฒนาท้องถิ่นต่อไป รวมทั้งแจ้งผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประสานงานเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลเมืองเดชอุดมให้ ติดตามความคืบหน้าและรายงานให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลทราบอย่างต่อเนื่อง
1.2 ให้องค์การบริหารส่วนตำบลกลางนำเสนอที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วน ตำบลกลาง เพื่อให้สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลกลางทราบและให้ความสำคัญกับการมีส่วน ร่วมของประชาชนก่อนที่จะดำเนินการอนุมัติให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาดำเนินโครงการในพื้นที่และ โครงการที่มีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งแจ้งเวียนกำชับผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถือปฏิบัติอย่าง เคร่งครัด
2. แจ้งให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยและปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
2.1 แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมกันกำหนดมาตรการหรือแนวทางปฏิบัติและมาตรการ ป้องกัน รวมทั้งมาตรการลงโทษหากมีหน่วยงานใดดำเนินการไม่เป็นไปตามมาตรการหรือแนวทาง ดังกล่าว เพื่อให้เกิดความรัดกุมและความโปร่งใสในการเสนอโครงการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ ป้องกันปัญหาการไม่ยอมรับของประชาชนในพื้นที่ก่อนที่เสนอโครงการ รวมทั้งแจ้งเวียนให้หน่วยงาน ที่รับผิดชอบและผู้ที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
2.2 ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน กรณีหน่วยงานที่รับผิดชอบและ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามคู่มือการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด ของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม พฤศจิกายน 2549 มีหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในคู่มือฯ ดังกล่าว ไม่ดำเนินการระงับยับยั้ง มิให้เกิดความเสียหายจากการดำเนินโครงการมากยิ่งขึ้น ทั้งที่มีข้อมูลและรับทราบข้อมูลระดับความ จำเป็นเร่งด่วนของโครงการ และปัญหาการคัดค้านการไม่ยอมรับโครงการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่ง ขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2.3 กรณีโครงการฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จและตรวจรับงานจ้างเรียบร้อยแล้ว ให้หา แนวทางและมาตรการร่วมกันเพื่อให้โครงการฯ สามารถใช้ประโยชน์ได้ แต่หากไม่สามารถใช้ประโยชน์ ได้ให้ดำเนินการหาผู้รับผิดชอบตามพระราชบัญญัติความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เพื่อเรียกเงินคืน จำนวน 65,469,000 บาท
3. แจ้งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณากำหนดให้มีแนวทางดำเนินการ กรณี หลังจากอนุมัติงบประมาณเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินโครงการตามที่คณะกรรมการ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ความเห็นชอบแล้ว ควรมีบทบาทในการบริหารงบประมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากที่ผ่าน มาหลังจากที่อนุมัติงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินโครงการแล้วมีการปรับแก้ไข รายละเอียดแบบการก่อสร้างที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยควรกำหนดหน้าที่ให้มีอำนาจ พิจารณาการดำเนินโครงการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามมาตรฐาน ระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม
-----------------
จากข้อมูลผลการตรวจสอบของสตง.ทั้งหมดที่กล่าวไป กรณีโครงการนี้ จึงนับเป็นกรณีศึกษาที่สะท้อนภาพปัญหาการบริหารจัดการงานของภาครัฐ ซึ่งดูเหมือนจะล้มเหลว ขาดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการรับฟังความคิดเห็นของคนในชุมชนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ก่อนเริ่มดำเนินงานโครงการฯ อย่างชัดเจน