คนหิวป่าหาย ณ “น่าน” เมื่อความยากจน คือปัญหา
ความยากจน คือปัญหา คนหิว มันไหม้จากในท้อง ท้องมันไหม้ จะเอาอะไรกิน แต่ “ข้าวโพด” มีให้ทุกอย่าง
ต้นน้ำน่าน ถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบน้ำในประเทศไทย (ปิง วัง ยม น่าน)
“น่าน” จึงมีความสำคัญในเชิงภูมิศาสตร์ 85% เป็นพื้นที่สูง อีก 15% พื้นที่ราบ ซึ่งพื้นที่สูงส่วนใหญ่ 85% พบว่า มีคนเกือบ 1 แสนคนอยู่ข้างบน จากคนน่านทั้งหมด 4.7 แสนคน
“คน 1 แสนคนอยู่เหนือระดับน้ำทะเล ขณะเดียวกันหลายครอบครัวที่อยู่บนนั้น ก็อยู่มาก่อนประกาศกฎหมายรุกรานคน ในอดีตเขาเหล่านั้นจึงทำอาชีพไร่เลื่อนลอย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ทำให้สามารถมีชีวิตรอดอยู่บนดอยได้ การที่เราก็ไปด่าเขาว่า ทำไร่เลื่อนลอย ผมมองว่า คนเขาถูกสวรรค์สั่งให้ไปอยู่บนโน้น เขาจึงจำเป็นต้องมีเทคโนโลยี หรือภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ทำให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้”
นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน เริ่มต้นสร้างความเข้าใจให้คณะสื่อมวลชนที่ลงพื้นที่จังหวัดน่านฟัง จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นพ.บุญยงค์ ชี้ให้เราเห็นภาพต่อว่า “วันดีคืนร้าย มีคนบอกว่า คุณต้องปลูกข้าวโพด ถามว่า คุณที่ต้องปลูกข้าวโพดคือใคร คำตอบ หนึ่งคือรัฐบาล สองคือนายทุน นอกจากเขาปลูกข้าวไร่ เขายังต้องปลูกพืชพันธุ์ที่ต้องกินด้วย
แต่เมื่อมีการยื่น “พืชเชิงเดี่ยว” ซึ่งเป็นพืชที่ทำลายระบบนิเวศ มีการบอกว่า หากปลูกแล้ว เกิดภัยธรรมชาติรัฐบาลรับประกันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีชดเชย หรือผลผลิตออกมาแล้ว ขายได้ไม่ตามความต้องการก็ชดเชย ทำให้เขาเหล่านี้เข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา”
อดีตผอ.โรงพยาบาลน่าน มองว่า การที่สังคมไทยส่วนใหญ่มองคนบนพื้นที่ต้นน้ำทำลายป่า เขาอยากให้สังคมลองมองอีกมุม
“เวลายื่นมือออกมา หัวมือ คือ เมล็ดพันธุ์พืช ถัดมา คือยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง ปุ๋ย และเงินก้อนหนึ่ง ฉะนั้น ยื่นมือไปมี 5 อย่าง เป็น one stop service ส่วนจะส่งผลกระทบอย่างไรนั้นเขาไม่ได้คิดแล้ว"
ภาพเมื่อปลายเดือนธ.ค.2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.น่าน และเป็นประธานสักขีพยานในการมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 15,055 ไร่ ให้กับราษฎร 1,300 ราย
ที่นายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องเดินทางมาสู่จังหวัดน่านนั้น นพ.บุญยงค์ บอกว่า เพราะจังหวัดทั้งจังหวัดไม่สามารถแก้ไขปัญหาภูเขาหัวโล้นได้ เนื่องจากไม่มีอำนาจไม่มีเทคโนโลยี และบูรณาการการทำงานกันยังไม่ได้ จะเห็นชัดเจนว่า ป่าถูกทำลาย และถูกทำลาย
"พวกที่สนใจบอกทำอย่างไรหยุดเลือดที่ไหลได้ คนสนใจปลูกต้นไม้ ปลูกป่า ซึ่งพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชกระแสรับสั่ง ปลูกป่าไม่ต้องปลูกหรอก ไม่ทำอะไรมันก็ขึ้นอยู่แล้ว ที่สำคัญต้องปลูกต้นไม้ในใจคน ให้เห็นความสำคัญ เห็นประโยชน์ เห็นโทษ จึงจะจัดการได้"
“มันโกร๋น ไปหมด” ...ประกอบภาพวาดฝีพระหัตถ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2550 ผ่านมา 10 ปี “น่าน” วันนี้ก็ยังเผชิญปัญหารุมเร้าทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ป่าน่านถูกบุกรุกทำลายในอัตราสูงอย่างน่าตกใจ
ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี นักวิจัยป่าในเมือง สกว. เห็นว่า ป่าต้นน้ำ ป่ากึ่งการใช้สอยของชุมชน หรือป่าเศรษฐกิจ และป่าในเมือง ป่าทั้ง 3 รูปแบบ ถามว่า วันนี้คนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันแล้วหรือไม่ หรือมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหนในการกำหนดทิศทางการจัดการดูแลป่า
"เมื่อไหร่มีป่า มีต้นไม้ใหญ่ แต่คนไม่รู้สึกเป็นเจ้าของ นักวิจัยป่าในเมือง สกว. บอกว่า เราก็จะเห็นสภาพป่าแบบที่เป็นอยู่ แต่เมื่อไหร่ที่คนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ต้นไม้ก็จะใหญ่ขึ้น เมื่อไหร่คนได้ประโยชน์จากการตัดไม้ทำลายป่ามากกว่าการมีป่า “ตัดไม้ทำลาย” เมื่อไหร่คนใช้ประโยชน์จากที่ดินทำการเกษตรมากกว่าการมีป่า “ตัดป่าทิ้ง”
นักวิจัยป่าในเมือง สกว.
เห็นว่า เราจำเป็นต้องทำให้การใช้ประโยชน์จากป่า โดยประโยชน์นั้น ต้องพึ่งพิงกับการมีป่าให้ได้
สำหรับสถานการณ์ป่าน่านช่วงปี 2548-2552 “ป่าน่าน” ถูกแผ้วถาง เผาทำลายเพื่อการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่าง “ข้าวโพด” เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว จาก 3 แสนไร่ กระโดดพุ่งเป็น 9 แสนไร่ จนกระทั่ง “น่าน” กลายเป็นจังหวัดที่ปลูกข้าวโพดมากเป็นอันดับหนึ่งของภาคเหนือ
นี่เองจึงเป็นที่มาของอากาศเสีย หมอกควัน จากการเผาเตรียมพื้นที่การเกษตร
“เผาไล่ ไม่ใช่เผาไร่ เหลือแต่คอนโดข้าวโพด กับต้นมะม่วง” นายณรงค์ อภิชัย ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคสนาม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ หนึ่งในคนที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการปลูกป่า สร้างคน บนวิถีพอเพียง รักษาต้นน้ำ บรรเทาอุทกภัย โดยขยายผล “ดอยตุงโมเดล” มาใช้ที่จ.น่าน ตั้งแต่ปี 2552 ครอบคลุมพื้นที่ 2.5 แสนไร่ ใน 20 หมู่บ้าน 4 ตำบล 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสองแคว ท่าวังผา และเฉลิมพระเกียรติ เลื่อนสไลด์บรรยาย “น่าน” ที่เขาพบเจอในแต่ละเดือนของปี ให้เราได้เห็น
“น่าน” แม้ธรรมชาติจะงดงาม แต่ทับซ้อน และซับซ้อนไปด้วยวิกฤต ต้นตอปัญหาน่าน จากที่โครงการปิดทองหลังพระฯ ณ ต้นน้ำน่าน เข้ามาทำโครงการเมื่อปี 2552 เริ่มต้นจากการ “ปลูกคน”
ผอ.ณรงค์ บอกว่า มาลงมือปลูกป่าจริงๆ ปี 2556
“ที่เห็นไฟป่าไหม้ทุกปี 1.2 ล้านไร่ ก็ไม่ต่างจากชายแดนพม่า ก็เกิดไฟไหม้ระยะทางยาวเหมือนกัน ปัญหาจึงไม่ใช่การเผาเล่นๆ ฉะนั้นเราต้องรู้ก่อน ทำไมป่าหาย ทำไมเป็นพื้นที่เขาหัวโล้น แล้วจะฟื้นฟูป่าอย่างไร แม้เราจะทราบว่า ใครคือสาเหตุก็ตาม”
ผอ.ฝ่ายปฏิบัติการภาคสนาม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ถอดตำราการพัฒนาแม่ฟ้าหลวงฯ พื้นที่จังหวัดน่านว่า ไม่ได้มองการปลูกป่า เป็นเพียงการปลูกต้นไม้ หากแต่เป็นพาหนะในการแก้ไขความยากจน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ด้วย
“เราต้องการปลูกป่าให้สำเร็จ ไม่ใช่ให้เสร็จ การปลูกป่าวันเดียว ใส่หมวก ขึงป้าย ถ่ายรูป จบ และไม่เคยเห็นอีกเลยหรือไม่ ฉะนั้นเราต้องปลูกป่าในกระดาษก่อน เพื่อให้รู้องค์ประกอบของน้ำ ประชาชน ลงเดินสำรวจที่ทำกินร่วมกันกับทุกหน่วยงานรายแปลง กดจีพีเอสให้ตรงกัน ”
พร้อมกันนี้ ผอ.ณรงค์ ขอให้เรายอมรับความจริงก่อนถึงรากปัญหาป่าน่านหัวโล้น ซึ่งมีมุมมองที่ต่างกัน ชาวบ้านมอง “ป่าหัวโล้น” คือพื้นที่ทำกินของเขา ขณะที่ “ป่าที่เหลือ” เป็นแหล่งอาหาร ใช้ประโยชน์ สร้างรายได้
“ยิ่งความยากจน คือปัญหา คนหิว มันไหม้จากในท้อง ท้องมันไหม้ จะเอาอะไรกิน แต่ “ข้าวโพด” มีให้ทุกอย่าง โตง่าย ดินลูกรังมันยังขึ้น ปลูกระบบเงินกู้มาถึงใต้ถุนบ้าน เมล็ด ปุ๋ย ยา มาพร้อม ชาวบ้านไม่ต้องกู้ บางปีรัฐบาลประกันราคาข้าวโพดให้ด้วย เรียกว่า ปัจจัยการผลิตมาครบ รวมทั้งเงินส่งลูกเรียนเปิดเทอม ทั้งหมดข้าวโพดจัดให้ ข้าวโพดจึงตอบโจทย์ชาวบ้าน เพราะตลาดมีแน่นอน”
จากการทำงาน “ปลูกป่าน่าน ปลูกคน” ทุกมิติ เขาบอกว่า “ป่า” ที่ชาวบ้านมอง เป็นพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ ทำมาหากิน หากรัฐเข้ามาปลูกต้นไม้ เขาก็ไม่ดูแลอยู่ดี เพราะนี่ไม่ใช่ของเขา เขาอาจถอน เผา ป่าก็จะไม่เกิดสักที
ก่อนย้อนถามกลับมาว่า เราปลูกป่ามากี่ปี เหลือป่าสักกี่เปอร์เซนต์ ?
“ในหลวงรัชกาลท่ 9 ตอนแก้ปัญหาฝิ่น ก็ไม่ได้บอกว่า ฝิ่นผิดกฎหมายหรือถูกกฎหมาย แต่ท่านบอกว่า ให้มีพืชทางเลือก วันนี้เรามีพืชทางเลือกบนพื้นที่สูงที่จังหวัดน่าน หรือยัง” ผอ.ณรงค์ ตั้งคำถาม พร้อมกับยกตัวอย่าง "ต้นก๋ง" ที่ใช้ทำไม้กวาด พืชทางเลือกให้ชาวบ้าน จากที่ต้องเดินเก็บครึ่งวัน ได้มาหอบเดียว แต่หากเราส่งเสริมให้ชาวบ้านนำมาปลูกเรียงแถว 2x2 จำนวน 400 ต้น มีรายได้กว่า 6 พันบาท กิโลกรัมละ 35-40 บาท ปลูกครั้งเดียว ตัดแตกหน่อเก็บได้ตลอดไป
หรือแม้แต่การปลูกกล้วย มะม่วงหิมพานต์ กาแฟ จามจุรีเพื่อการเลี้ยงคลั่ง ก็ขายได้กิโลกรัมละ 200 บาท นำไปทำปากกาหมึกแดง ย้อมสีแดง ซึ่งมาจากคลั่ง รวมถึงการเลี้ยงไผ่ด้วย
“คุณเคยเห็น ป่าเศรษฐกิจมีไฟไหม้ เคยเห็น ป่ากาแฟ ป่าชาไหม้หรือไม่ ไม่มี เพราะอันนี้ของเรา อันนี้ของเขา หากเป็นของเราทั้งลุ่มน้ำ ไฟก็ไม่ไหม้ทั้งลุ่มน้ำ”
ผอ.ฝ่ายปฏิบัติการภาคสนาม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ สรุปตอนท้ายว่า ปลูกป่าต้องปลูกคนก่อน “ปลูกคน” ต้องเริ่มสร้างความเข้าใจ ทำเป็นลุ่มน้ำ ให้เป็นปัญหาของเรา ไม่ใช่ปัญหาของเขา ปลูกพืชหลากหลาย ไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ให้ชาวบ้านปลูกป่าและมีการดูแลต่อเนื่อง อย่าปลูกป่าวันเดียว เอากฎระเบียบชุมชนนำอย่าเอากฎหมายนำ ให้ชาวบ้านเป็นเจ้าของไม่ใช่รัฐบาล และสุดท้ายใช้ประโยชน์จากป่าได้
ตอนต่อไป จะว่าด้วย วิธีปลูกป่าตามศาสตร์พระราชา ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ นำมาใช้ขับเคลื่อนโดยประยุกต์ ดอยตุงมาใช้อยู่ในพื้นที่จังหวัดน่านขณะนี้