Dome Organic Garden เปลี่ยนไม้ประดับให้เป็นแปลงผัก ออร์แกนนิค ณ ลานปรีดี
“สิ่งที่แปลกมากคือตอนที่เป็นต้นเข็มและต้นหนวดปลาหมึกไม่เคยมีใครมาสนใจ พอเปลี่ยนมาเป็นแปลงผักออร์แกนนิค ทุกวันจะมีชาวต่างชาติเดินเข้ามาดู และจะมีคนสนใจเข้ามาชมเป็นจำนวนมาก นี้เหละผมคิดว่าเป็นสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงโดยการลงมือทำด้วยตัวเรา ”
ช่วงแดดร่มลมตกของเย็นวันที่ 31 มกราคม 2560 คือเวลานัดหมายปลูกผัก โครงการเปลี่ยนแปลงไม้ประดับให้เป็นแปลงผัก ออร์แกนนิค ณ แปลงผัก Organic Dome Garden ลานปรีดี หน้าตึกโดม ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ริเริ่มแนวคิดที่จะเปลี่ยนกอเข็มและต้นหนวดปลาหมึกให้กลายเป็นแปลงผักออร์แกนนิค และเปลี่ยนเกษตรเคมีที่เต็มไปด้วยสารก่อมะเร็ง ให้เป็นเกษตรอินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพ
ผศ.ดร.ปริญญา ชวนนักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และผู้สนใจ รวมกลุ่มกันมาปลูกผักจำนวน 30 แปลง
“ผมเห็นถึงความสำคัญของการปลูกผักที่ปลอดภัยเพื่อใช้ในการบริโภคของนักศึกษา บุคลากรและอาจารย์ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะเชื่อว่าการเลือกทานอาหารที่ดี ถือเป็นการแสดงความรักต่อประเทศชาติรูปแบบหนึ่ง คือเมื่อเรามีสุขภาพร่างกายที่ดี เราก็มีพลังที่พร้อมจะทำหน้าที่ของพลเมือง ที่มีความหมายว่า เป็นพละกำลังของเมืองได้อย่างเต็มที่”
สำหรับแนวคิดที่จัดโครงการนี้ขึ้นมา ผศ.ดร.ปริญญา บอกว่า เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงไม้ประดับที่เคยเป็นต้นเข็มและต้นหนวดปลาหมึก ให้กลายเป็นแปลงผัก การใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยให้เกิดประโยชน์สูงสุด แทนที่จะปลูกเพียงไม้ประดับและทำให้ขาดการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างแท้จริง การทำแปลงขึ้นมาไม่ได้ใช้พื้นที่อะไรใหม่เลย ส่วนคนที่มาปลูกเราเพียงแค่ประกาศข่าว คนก็สนใจมาปลูกกัน เพราะรู้ว่าอาหารที่กินเต็มไปด้วยสารเคมี
“ พอเปิดแปลงผักขึ้นมาคนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ผมคิดว่านี้เป็นจุดที่ชี้ให้เห็นว่า คนไทยจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เราต้องลงมือทำถึงจะเกิดผล ซึ่งหลักๆก็คือเปลี่ยนแปลงไม้ประดับให้กลายเป็นแปลงผักออร์แกนนิค โดยผลผลิตที่ได้จะเป็นของผู้ปลูก มหาวิทยาลัยไม่มีค่าเช่า หรือคิดค่าใช้จ่ายใดๆแต่จะนัดหมายมาเก็บเกี่ยวและทำกับข้าวรับประทานร่วมกัน”
ผู้ริเริ่มโครงการเปลี่ยนแปลงไม้ประดับให้เป็นแปลงผัก ออร์แกนนิค หวังว่า โครงการนี้จะเป็นตัวอย่างให้กับคนไทย หันมาปลูกผักแทนที่จะปลูกไม้ยืนต้นธรรมดา เพราะเห็นว่าทุกหน่วยงาน ทุกบริษัท ทุกบ้านเรือน ทุกวันนี้มีการปลูกไม้ประดับทั้งสิ้นและนี่จะเป็นโครงการที่ปลูกไปเรื่อยๆต้องการให้เป็นที่ของการเรียนรู้ของนักศึกษา บุคลากรและอาจารย์ รวมถึงบุคคลที่สนใจ
“สิ่งที่แปลกมากคือตอนที่เป็นต้นเข็มและต้นหนวดปลาหมึกไม่เคยมีใครมาสนใจ พอเปลี่ยนมาเป็นแปลงผักออร์แกนนิค ทุกวันจะมีชาวต่างชาติเดินเข้ามาดู และจะมีคนสนใจเข้ามาชมเป็นจำนวนมาก นี้เหละผมคิดว่าเป็นสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงโดยการลงมือทำด้วยตัวเรา เป็นการแก้ปัญหาเรื่องเกษตร สารเคมีที่เป็นสาเหตุก่อมะเร็งด้วยการเปลี่ยนแปลงในด้านของผู้บริโภค เมื่อเรามีการปลูกต่อเรื่อยๆเราก็อยากจะกินผักที่ไม่มีสารเคมี เมื่อคนอยากกินผักที่ไม่มีสารเคมีมากขึ้น ในด้านของผู้ผลิตก็ต้องปรับตัวตาม และนี่เป็นการเปลี่ยนแปลงโดยลงมือทำ ดูจะเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ทรงประสิทธิภาพยิ่งกว่าตำราเรียนใดๆ”
ทั้งนี้ ผศ. ดร.ปริญญา ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ปัจจุบันคนไทยเป็นโรคมะเร็งเป็นอันดับ 2 รองจากอุบัติเหตุ สาเหตุมาจากอาหารการกิน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากบรรดาสารเคมีในผักที่นำมาประกอบอาหาร เพราะมียาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ปุ๋ยเคมีที่มีสารตกค้างมากมาย เมื่อมีการบริโภคผักที่มีสารพิษตกค้างเหล่านี้สะสมกันเป็นเวลานานย่อมส่งผลเสียต่อร่างกายของผู้บริโภค บางคนอยากสุขภาพดี กินผักมากๆกลายเป็นว่า ยิ่งกินผักยิ่งสุขภาพไม่ดี เพราะเจอสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งรอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เลิกเกษตรเคมี ก็ไม่เห็นว่าจะเลิกได้ อีกทั้งยังมีการอนุญาตให้มีการใช้สารเคมีมากขึ้นกว่าเดิม
“ ความจริงแล้วสาเหตุของความยากจนของเกษตรกรไทยคือเกษตรเคมี เพราะเป็นเกษตรที่มีต้นทุน คือต้องซื้อสารเคมี เกษตรดั้งเดิมแบบปู่ย่าตายายทำเท่าไร คือกำไร เพราะไม่มีต้นทุน ง่ายๆคือเกษตรของเราคือเกษตรอินทรีย์ ถ้าหากหันมาทำเกษตรอินทรีย์กันต้นทุนจะลดลง เมื่อต้นทุนลดลงสิ่งที่ขายไปคือกำไร เพราะฉะนั้นการส่งเสริมเกษตรเคมีแล้วส่งขายต่างประเทศคิดว่า ลำบาก ต้องไปแข่งขันกับประเทศอื่นซึ่งผลิตมากกว่าเรา และคิดว่าเกษตรไทยควรจะเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์”
ด้านนายกวี สุวรรณชาต หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งมีอาชีพขายสลัด ได้พูดถึงเหตุผลของการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ว่าเนื่องจากผักที่นำมาใช้ทำสลัดที่หาซื้อตามท้องตลาดมีราคาเเพงจึงสนใจเข้าร่วมโครงการปลูกผักออร์แกนนิคเพื่อเรียนรู้ขั้นตอนวิธีการปลูก ซึ่งหลังการเข้าร่วม ก็พบว่าเป็นวิธีการที่ง่ายแถมยังประหยัดต้นทุนและไม่เป็นอันตรายอีกด้วย
ส่วนนักศึกษา จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม บอกถึงความรู้สึกถึงโครงการนี้โดยเธอมองว่า เป็นกิจกรรมที่ช่วยปลุกจิตสำนึกให้คนเห็นความสำคัญของสุขภาพเเละหันมาปลูกผักไว้กินกันที่บ้าน ซึ่งช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายเเละยังมีสุขภาพดี ถือเป็นกิจกรรมในยามว่างที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว อีกทั้งยังได้เดินตามเเนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งหากทุกคนทำได้ ก็จะช่วยให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี