นักวิชาการชี้อีก 10 ปีเกษตรไทยเป็น “ไม้ล้ม” ถ้าไม่รีบปรับตัว
วิกฤติจากไม่ตั้งรับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ-การเมืองแทรก ทางรอดคือโตอย่างไม้ป่าให้เกษตรกรรวมเป็นเครือข่ายจัดการทั้งระบบ นักวิชาการชี้สต็อคนักวิจัยล้มเหลว แนะเชื่อมโยงภูมิปัญญาท้องถิ่น เกื้อกูลนิเวศ ปฏิรูปที่ดินให้หนุ่มสาวคืนถิ่น ซีพีเสนอเลิกกีดกันลงทุนต่างชาติ-เน้นปลูกพืชพลังงาน
วันที่ 11 พ.ค. 54 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันคลังสมองของชาติและภาคีเครือข่าย จัดอภิปราย “ภาพอนาคตการเกษตรไทย 2563 กับก้าวย่างต่อไป” โดยใช้การวิเคราะห์จากสัญญาณความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับภาคเกษตรปัจจุบันมาคาดการณ์ความเป็นได้ในอีก 10 ข้างหน้า
โดยได้ภาพอนาคตซึ่งประกอบด้วย 1.ไม้ล้ม คาดการณ์ว่าภาคเกษตรไทยจะล้มเหลว อันเป็นผลมาจากการไม่เตรียมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเมืองแทรกแซงนโยบายการเกษตร 2.ไม้เลี้ยง คาดการณ์ว่ารัฐบาล เอกชน จะเป็นตัวอุ้มชูที่สำคัญ และ 3.ไม้ป่า คาดการณ์ว่าเกษตรกรจะสามารถรวมเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่เพื่อจัดการกับวิกฤติทั้งระบบ ทั้งการผลิต การลดต้นทุน และการตลาด
นางลัดดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มองว่าไม้ป่าจะยั่งยืนที่สุดและสามารถต่อสู้กับ 2 ปัจจัยหลัก คือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและนโยบายการเกษตรของรัฐ ก้าวต่อไปข้างหน้าจึงเป็นเรื่องการสร้างองค์ความรู้ที่ต้องเชื่อมโยงกับภูมิปัญญา จัดการน้ำและดินด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนมากขึ้น พร้อมกับสร้างมูลค่าตามแนวคิดเกษตรสร้างสรรค์ ก็หันมาผลิตน้อยแต่คุ้มค่า เพราะอนาคตทรัพยากรจะจำกัดไปเรื่อยๆ
นายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ทิศทางข้างหน้าภาคเกษตรไทยจะเข้าสู่ยุคเกษตรกรรมใหม่ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีผนวกกับเกษตรดั้งเดิมที่ทำอยู่ ดังนั้นต้องให้ความสำคัญกับการจัดสรรพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและการพัฒนานวัตกรรมการผลิตเพื่อสร้างความได้เปรียบทางต้นทุนและคุณภาพ รวมทั้งต้องไม่กีดกันการลงทุนของต่างชาติซึ่งจะนำตลาดเข้ามาทำให้การผลิตของไทยดีขึ้น นอกจากนี้ต้องเน้นที่การพัฒนาคน ชักจูงใจให้คนรุ่นใหม่กลับสู่ภาคเกษตร โดยเลิกคิดว่าเกษตรกรคือพวกหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินแต่เป็นผู้ประกอบการเกษตรที่วางระบบได้เองทั้งหมดและใช้จักรกลการเกษตรแทนแรงงานคน
“ต้องไม่รังเกียจที่จะส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานทดแทน เพราะต่อไปจะมีความสำคัญเชิงเศรษฐกิจ ผมไม่ได้ปฏิเสธว่าพืชอาหารสำคัญ เพราะต่อไปราคาอาหารจะสูงขึ้น แต่ที่มากไปกว่านั้นคือเราต้องแข่งขัน หากวันนี้พูดว่าอาหารมนุษย์สำคัญที่สุด แต่ก็ต้องไม่ลืมด้วยว่าอาหารเครื่องจักรก็ทิ้งไม่ได้”
ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ผอ.อาวุโส สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคเกษตรพัฒนาโดยละเลยปัจจัยเชิงนิเวศที่เป็นผลให้เกิดการเกื้อกูลกันของทุกระบบ เป็นสาเหตุทำให้ภาพปัจจุบันมีลักษณะเป็นไม้ล้มเกือบทั้งหมด แต่กลับไม่ถูกพูดถึงและไปให้ความสำคัญเฉพาะทุนและเทคโนโลยี จึงเสนอว่า ทิศทางต่อไปควรใช้นิเวศสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้งไม่ใช่การส่งออก มีการโซนนิ่งที่ดิน เพราะทุกวันนี้สะเปะสะปะมาก ส่วนการจัดการน้ำซึ่งเป็นปัญหามาตลอดนั้น การใช้ระบบลุ่มน้ำจะเป็นทางออกที่เป็นไปได้ และเห็นด้วยกับระบบเกษตรพันธะสัญญา แต่ขอให้เป็นธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่
“ทุกกลไกต้องทำงานร่วมกับชุมชน โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งจะมีบทบาทมากขึ้นเนื่องจากนโยบายกระจายอำนาจมาเป็นกลไกจัดการเชิงพื้นที่ ส่วนประเด็นแรงงานหนุ่มสาวหลุดออกภาคเกษตรนี้โยงกับการปฏิรูปที่ดิน ถ้าแก้การปฏิรูปที่ดินได้น่าจะคลายปมนี้ได้เช่นกัน”
รศ.ดร.พงศ์เทพ อัครธนกุล ผอ.ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร กล่าวว่า สิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญที่สุดในการพัฒนาภาคเกษตรคือการสร้างคน ในที่นี่คือเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ควรมีความรู้เท่ากันหรืออาจต้องมากกว่าคนรุ่นเดิม และงานวิจัยที่เปรียบเหมือนไวน์ดีที่ผ่านการบ่มเพาะ ซึ่งวันนี้อาจต้องเช็คสต๊อกดูว่ามีมากแค่ไหน และนักวิจัยเก่งพอหรือไม่ ตรงนี้น่าห่วงมากเพราะเท่าที่มีบอกได้ว่าสายเกินไปแล้วที่จะเตรียมใช้ในอีก 10 ข้างหน้า แต่ต้องทำเพราะถ้าปล่อยไว้ไทยจะเป็นไม้ล้มแน่
นายไพรัชต์ ชื่นศรี ผอ.ศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนบ้านแสงจันทร์ จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า เห็นด้วยให้เริ่มต้นจากการปรับแนวคิดของเกษตรกร เพราะชาวบ้านไม่เชื่ออะไรง่ายๆ การปรับเปลี่ยนแนวทางไปสู่ยุคที่ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีสมัยใหม่ต้องอาศัยการถ่ายทอดความรู้ที่จับต้องเป็นรูปธรรมได้ และ อปท.ต้องมีบทบาทมากขึ้น เพราะรัฐบาลมีข้อจำกัดและเชื่อว่าจะจำกัดแบบนี้ต่อไปอีก 10 ปีข้างหน้า.