อังคณา ชี้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ภาวะอัปลักษณ์ของสังคมไทย ต้องช่วยกันแก้
องค์กร PROTECTION International ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และภาคีเครือข่าย ยื่น 7 ข้อเสนอต่อรัฐเรียกร้องแนวทางการป้องกันไม่ให้นักต่อสู้สิทธิมนุษยชนถูกบังคับสูญหาย
วันที่ 31 ม.ค. 2560 ที่ห้องโถงหน้าหอสมุดชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร องค์กรรProtection international ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สถานทูตแคนนาดา โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม(มูลนิธิอาสาสมัครสังคม )และภาคีเครือข่าย จัดงานนิทรรศการแสดงภาพถ่าย "แด่นักสู้ผู้จากไป" พร้อมยื่น 7 ข้อเสนอต่อรัฐ อาทิ ให้หยุดการข่มขู่ จับกุม ฟ้องร้อง คุกคามประชาชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชน และกำหนดให้การทรมารและการบังคับให้หายสาบสูญเป็นความผิดทางอาญา
น.ส.ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจากองค์กร PROTECTION international กล่าวถึงการยื่น 7 ข้อเสนอแก่รัฐเพื่อเรียกร้องแนวทางการป้องกันไม่ให้นักต่อสู้สิทธิมนุยชนถูกบังคับสูญหายและสังหารว่า ข้อเสนอ 7 ข้อเป็นข้อเสนอที่พัฒนาด้วยกันโดย องค์กร PROTECTION international ร่วมกับชุมชนของนักปกป้องสิทธิทั่วประเทศ ซึ่งมีมากกว่า 15 กลุ่ม เป็นข้อเสนอร่วมกันของภาคประชาสังคมที่พัฒนาร่วมกับนักปกป้องสิทธิหรือคนได้รับผลกระทบโดยตรง
“การคุ้มครองสิทธิ รัฐบาลมักจะบอกว่า ปัจจุบันการคุ้มครองก็จะมีกองทุนยุติธรรม คือสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ค่อนข้างเก่า กฎหมายมีมานานเเล้ว เเต่ไม่สามารถจะเเก้ไขเรื่องการสังหารหรือการบังคับสูญหายได้ ฉะนั้นข้อเสนอเหล่านี้เร่งด่วน ถ้าเป็นคนทำงานก็จะรู้สึกว่า ยังไม่ได้รับการตอบสนอง อย่างล่าสุดกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ไม่รับคดีของบิลลี่ หรือ นายพอละจี รักจงเจริญ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย เป็นคดีพิเศษ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิของพี่น้องชุมชนกะเหรี่ยง เรื่องทรัพยากรที่ดินที่ขัดเเย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ”
น.ส.ปรานม กล่าวถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเอาผิดบุคคลที่บังคับให้ผู้อื่นสูญหายในประเทศไทย ยังไม่ได้กำหนดให้การบังคับสูญหายเป็นความผิดทางอาญา รวมถึงกระบวนการสืบสวนสอบสวนค้นหาความจริงยังขาดความเป็นอิสระ หรืออาจไม่ใส่ใจที่จะสืบสวนสอบสวนโดยทันที ดังนั้นรัฐบาลควรกําหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญา และกําหนดกลไกสืบสวนสอบสวนที่เหมาะสม และประกันสิทธิอย่างเต็มที่ของผู้เสียหายและญาติ รวมถึงควรมีการแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่เกี่ยวกับการคุ้มครองพยาน การควบคุมตัว ข้อกําหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตและการทําลายพยานหลักฐาน การปรับปรุงขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนและการฟ้องคดี รวมทั้งขั้นตอนการแจ้งความ การสืบสวน สอบสวนในเบื้องต้นและการส่งต่อคดีอย่างรวดเร็วให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมถึงควรกําหนดให้มีการคุ้มครองพยาน และการเคารพสิทธิของญาติด้วย
ด้าน นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กฏหมายบ้านเรา มีช่องโหว่ที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ให้เทียบเท่ากับความเป็นสากล ที่อย่างน้อยญาติผู้ตายต้องได้รับรู้ความจริง ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ... ที่นำเข้าสู่สภา เพื่อมาปกป้องในเรื่องนี้ ในส่วนของเนื้อหา ก็ยังไม่สอดคล้องกับหลักสากล โดยเฉพาะตัวคณะกรรมการพิจารณาการออกกฏหมายส่วนใหญ่มักเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีความหลากหลาย แทนที่จะนำผู้สูญเสีย ผู้มีประสบการณ์ตรงเข้าไปร่วมพิจารณาด้วย จึงจะทำให้กฏหมายทำการป้องป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้มากขึ้น
” การเยียวยาผู้เสียหายจากเหตุการณ์ความสูญเสีย มีแค่เพียงการเยียวยาผ่านตัวเงิน และการให้ความช่วยเหลือด้านทนายความเท่านั้น ทั้งที่ความเป็นจริง ญาติผู้สูญเสียต้องได้รับความจริงด้วย โดยเฉพาะผู้ก่อเหตุเป็นใคร และผู้กระทำผิดต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำขึ้น และเรื่องการอุ้มหายเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก แต่ที่ผ่านมากลับไม่ใช่ ส่วนใหญ่เมื่อคดีเกิด มักลงท้ายด้วยหาผู้กระทำผิดไม่ได้ ”
นางอังคณา กล่าวด้วยว่า กรณีนักต่อสู้ถูกสังหารและบังคับให้สูญหายนั้นมีจำนวนที่มาก แต่มีเพียงไม่กี่กรณีเท่านั้นที่มีการสอบสวนและคดีขึ้นสู่ชั้นศาล สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐและกระบวนการยุติธรรมในบ้านเรานั้นล้มเหลว เพราะมีหลายคดีที่ผู้กระทำความผิดยังลอยนวลจนทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด (aculture of impunity) หรือการที่ผู้กระทำผิดละเมิดสิทธิของผู้อื่นแล้วไม่ต้องรับผิด (accountability) ซึ่งปัญหานี้ที่ฝังรากลึกอยู่กับสังคมและการเมืองไทยมายาวนานและหากวัฒนธรรมนี้ยังคงอยู่ก็จะสร้างสภาวะที่อันตรายอย่างถาวรต่อการปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย และที่สำคัญจะส่งผลที่ร้ายแรงต่อสังคมโดยรวม เพราะผู้มีอำนาจเชื่อว่าเครือข่ายอำนาจอุปถัมภ์จะสามารถทำให้พวกเขาลอยนวลพ้นผิดได้อย่างง่ายดาย การตัดสินใจใช้ความรุนแรงจึงไม่ใช่เรื่องต้องคิดมาก
“ วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดจึงเป็นภาวะอัปลักษณ์ของสังคมไทยที่เราต้องช่วยกันแก้ เริ่มจาการปกป้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ แก้ไขความเหลื่อมล้ำทางอำนาจและความยุติธรรม”
สำหรับ ข้อเรียกร้องของเครือข่ายปกป้องนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนที่ถูกสังหารและบังคับให้สูญหาย
1.รัฐไทยและคนในสังคมไทยควรต่อสู้กับการลอยนวลพ้นผิด ในกรณีการละเมิดนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะระดับชุมชน โดยสร้างความเชื่อมั่นว่าจะดำเนินการตรวจสอบอย่างรวดเร็วและเที่ยงธรรม ผู้กระทำผิดจะต้องรับผิด และผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจะได้รับความยุติธรรมโดยทันทีและมีการเยียวยาที่เหมาะสม
2.รัฐต้องมีการสอบสวนและประกันให้เกิดความยุติธรรมต่อกรณีการข่มขู่ คุกคาม และทำร้ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
3. รัฐบาลไทยต้องหยุดการข่มขู่ จับกุม ฟ้องร้อง คุกคามประชาชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะประเด็นปัญหาการเข้าถึงมี่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ
4.รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติการอย่างทันทีในการสนับสนุนบทบาทและความชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อให้เกิดการบรรลุสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งสามารถหนุนให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐในการส่งเสริม ตรวจสอบและการปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่สำคัญคือป้องกันมิให้รัฐและหรือเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเอง
5. กำหนดให้การทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญเป็นความผิดทางอาญา ฐานความผิดดังกล่าวต้องสอดคล้องกับนิยามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญ และต้องได้รับการสืบสวนสอบสวนโดยทันที เป็นกลางและมีประสิทธิภาพโดยต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ แม้ไม่พบตัวหรือไม่พบชิ้นส่วนศพก็ตาม และต้องตระหนักว่า สิทธิในการรับทราบความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของเหยื่อเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้
6. ในทุกกรณีของการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องกำหนดแนวทางการคุ้มครองพยานอย่างมีประสิทธิภาพและชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่คุ้มครองพยานต้องไม่เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเดียวกันหรือใกล้ชิดกับหน่วยงานที่ถูกกล่าวหาว่า ทำการทรมานหรือบังคับให้หายสาบสูญ เพื่อให้ความมั่นใจว่า ผู้กระทำผิดจะไม่มีอิทธิพลต่อกลไกการคุ้มครองพยาน
7.กำหนดให้องค์ประกอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะกรรมการที่เข้ามาทำหน้าที่ในการป้องกันการสังหารและการทรมานและบังคับบุคคลสูญหาย ต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระเพื่อไม่ให้คณะกรรมการถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจและผู้มีอิทธิพลและควรกำหนดให้มีสัดส่วนของภาคประชาสังคมในจำนวนที่สมดุลกับกรรมการโดตำแหน่งที่มาจากภาครัฐ อีกทั้งต้องพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้เสียหายและญาติผู้เสียหายด้วย