ผู้แจ้งความนำจับฯ ร้องอิศรา กรมศุลฯ ยุติเรื่องเอกชนสำแดงเท็จนำเข้า ปี 52 เป็นเหตุอากรขาด 120 ล.
ผู้แจ้งความนำจับฯ ร้องอิศรา กรมศุลฯ ยุติเรื่องเอกชน สำแดงเท็จ นำเข้าจอมอนิเตอร์ ปี 52 จำนวน 80 ใบขนฯ เป็นเหตุอากรขาดกว่า 120 ล้าน
สำนักข่าวอิศรา ได้รับการร้องเรียน จากผู้แจ้งความนำจับรายหนึ่ง ถึงการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ศุลกากร โดยขอให้ตรวจสอบข้าราชการละเว้นไม่เรียกเก็บภาษี และค่าปรับตามกฎหมาย
ก่อนหน้านี้ ผู้แจ้งความนำจับฯ ได้แจ้งความนำจับ บริษัทเอกชน (นำเข้าระหว่างปี 2550- 2552) ซึ่งได้นำเข้าสินค้าประเภทจอคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และสินค้าอื่นๆ โดยสำแดงพิกัดอัตราศุลกากรอันเป็นเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากร
สำหรับรายละเอียดการกระทำความผิดนั้น เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2552 ผู้แจ้งความนำจับฯ ได้แจ้งความนำจับสินค้าจอคอมพิวเตอร์ ที่นำเข้าโดย บริษัทเอกชน ที่นำเข้าระหว่างปี 2550- 2552 โดยสำแดงเท็จหลีกเลี่ยงอากร
10 พฤศจิกายน 2552 เจ้าหน้าที่คณะผู้จับกุมได้เข้าตรวจค้นบริษัทฯ ตามหมายศาลอาญา ตรวจสอบความผิดจริงตามที่แจ้ง
เดือนกรกฎาคม 2555 เจ้าหน้าที่คณะผู้จับกุม ยุติเรื่องไม่ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด โดยเจ้าหน้าที่กล่าวอ้าง นำหนังสือของสำนักพิกัดอัตราศุลกากร ลงวันที่ 30 มีนาคม 2554 ที่ให้นำมติคณะกรรมการระบบฮาร์โมไนซ์ ประกอบการพิจารณาประเภทพิกัดจอมอนิเตอร์สำหรับดำเนินการตรวจปล่อย โดยเจ้าหน้าที่คณะผู้จับกุมอ้างว่า บริษัทฯ ได้สำแดงพิกัดอัตราศุลกากร และผ่านพิธีการถูกต้องครบถ้วน ขณะที่นำเข้าแล้ว
"การที่คณะผู้จับกุมยุติการกล่าวโทษสินค้าจอมอนิเตอร์ที่นำเข้าสำแดงเท็จ และมิได้วางประกันปัญหาพิกัดไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการนำเข้าระหว่างปี 2550- 2552 บริษัทฯ นำเข้าได้สำแดงเท็จเสียภาษีอากรอัตรา 0% โดยมิได้วางเงินประกันปัญหาพิกัดไว้ ในขณะที่พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรขณะนั้นให้เสียอัตรา 20% เมื่อคณะผู้จับกุมตรวจค้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 แล้ว ในขณะที่เจ้าหน้าที่สำนักพิกัดฯ ได้เคยพิจารณาให้จอมอนิเตอร์ที่ช่องสัญญาณ DVI (HDCP) เสียอากร 20% "
ทั้งนี้ ผู้แจ้งความนำจับ นำเรื่องร้องสำนักข่าวอิศรา โดยเห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่คณะผู้จับกุม อ้างนำมติที่แก้ไข EN/HS ที่ใช้ประกอบพระราชกำหนดพิกัดอัตราที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น จากเดิมจอมอนิเตอร์ที่มีช่องสัญญาณ DVI (High-Bandwidth Digital Content Protection:HDCP) เข้าประเภทย่อย 8528.59 อัตรา 20% มาเป็นข้อย่อย 8528.51 อัตรา 0% ที่สำนักพิกัดฯ แจ้งให้สำนักจัดเก็บและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 นั้น ด้วยข้อกฎหมายมติดังกล่าว ไม่มีผลย้อนหลัง การพิจารณาใช้มติดังกล่าวเป็นหน้าที่ของสำนักพิกัดฯ มิใช่หน้าที่ของเจ้าหน้าที่คณะผู้จับกุม
“การกระทำของเจ้าหน้าที่คณะผู้จับกุมฯ กล่าวอ้างมติดังกล่าว ยุติเรื่อง จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กระทำไปโดยไม่มีอำนาจ และหน้าที่ ทำให้กรมศุลกากรได้รับภาษีไม่ครบถ้วน ตามมาตรา 10 พ.ร.บ.ศุลกากร 2469 ที่กล่าวว่า บรรดาค่าภาษีให้เก็บตาม พ.ร.บ.นี้ และกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราอากร การเสียภาษีให้เสียแก่เจ้าหน้าที่ในเวลาที่ออกใบขนฯ ให้เป็นเหตุอากรขาดกว่า 120 ล้านบาท และค่าปรับจากการสำแดงเท็จกว่า 240 ล้านบาท"
เรื่องนี้ ผู้แจ้งความนำจับฯ ระบุด้วยว่า การที่กรมศุลกากร สั่งยุติเรื่องไปในปี 2558 ที่ผ่านมาได้ส่งเรื่องร้องเรียนผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 ,ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง นายสมหมาย ภาษี 24 มิถุนายน 2558 และต่อมาได้รับหนังสือตอบกลับว่า กรมศุลากรได้ยุติเรื่อง และแจ้งว่า เจ้าหน้าที่คณะผู้จับกุมยุติเรื่องได้ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการระบบฮาร์โมไนช์ ไม่เป็นเหตุให้อากรขาด ,3 มิถุนายน 2558 ทำหนังสือร้องเรียน ไปที่พันตำรวจเอกดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ก็ได้รับการตอบกลับให้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) , 20 สิงหาคม 2558 ส่งเรื่องไปยังสป.ป.ช. และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ตามลำดับ แต่ร้องเรียนไปทั้งหมดเรื่องยังเงียบ
หรือแม้แต่การพิจารณาเรื่องร้องเรียน ของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ได้ยุติการพิจารณา
ผู้แจ้งความนำจับฯ ระบุด้วยว่า การสำแดงหลีกเลี่ยงอากรจำนวนกว่า 80 ใบขนฯ เกิดขึ้นระหว่างปี 2550- 2552 หากปล่อยให้เนิ่นนานไปจะมีผลต่อการเรียกเก็บอากรที่ขาด และค่าปรับจากผู้กระทำความผิดได้ ด้วยมาตรา 10 พ.ร.บ.ศุลกากร 2469 ที่บัญญัติให้เรียกเงินอากรที่ขาด ให้มีอายุความ 10 ปี