สปสช.จัดสิทธิประโยชน์ต่อเนื่องในปี 60 ยกคุณภาพชีวิตผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน
บอร์ด สปสช. ปี 60 เดินหน้าดูแล “ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน” ต่อเนื่อง จับมือ กรมสุขภาพจิต/ สป.สธ./ รพ.มหาวิทยาลัย และ อปท. ร่วมจัดระบบ-บริการจิตเวชในชุมชน ทั้งการกินยาต่อเนื่อง ประเมินความเสี่ยงอาการกำเริบ และปรับทัศนคติคนในชุมชน ลดการตีตรา ช่วยยกคุณภาพชีวิตผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง
นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคทางจิตเวชเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่หายขาดและจัดเป็นโรคทางสมองอย่างหนึ่ง ซึ่งมีสาเหตุจากหลายปัจจัย ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการรับรู้ความเป็นจริง ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ อาจมีอาการกำเริบซ้ำได้บ่อย จึงต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังส่วนหนึ่งที่เมื่อมีภาวะอาการคงที่ สามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องดูแลไม่ให้ขาดยาเป็นอันขาด โดยมีครอบครัวและชุมชน ซึ่งเป็นคนรอบข้างต้องช่วยกันดูแลเพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตปกติได้
ทั้งนี้ บอร์ด สปสช.ได้เห็นความสำคัญการดูแลกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน ที่ผ่านมาจึงอนุมัติสิทธิประโยชน์เพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการบริการผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในหน่วยบริการแล้ว ยังสนับสนุนให้ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังได้รับได้รับการดูแลต่อเนื่องถึงที่บ้านและในชุมชน ผ่านการพัฒนาเครือข่ายบริการจิตเวชระหว่างหน่วยบริการรับส่งต่อและหน่วยบริการประจำ ตลอดจนเครือข่ายปฐมภูมิ เพื่อลดอาการกำเริบหรือการกลับเป็นซ้ำของผู้ป่วย ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังจะได้รับการเฝ้าระวังติดตามอาการ ดูแลอย่างต่อเนื่องในชุมชน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข ไม่เป็นภาระแก่ครอบครัวและสังคม
นพ.ชูชัย กล่าวว่า สำหรับในปี 2560 นี้ บอร์ด สปสช.ซึ่งมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ยังคงให้การสนับสนุนการบริการเพื่อดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชนเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง โดยได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 49.8 ล้านบาท มีเป้าหมายให้ดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชนจำนวน 8,300 ราย (เฉลี่ย 6,000 บาทต่อราย) เพื่อเป็นค่าบริการในการติดตามเยี่ยมดูแลอาการผู้ป่วย ให้รับยาต่อเนื่องถึงที่บ้านและในชุมชน มีการให้ความรู้-คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและญาติตามอาการให้จัดการปัญหาเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง ช่วยปรับทัศนคติการใช้ชีวิตประจำวัน และการอยู่ร่วมกับครอบครัวและชุมชนได้อย่างปกติสุข โดยงบประมาณนี้ไม่รวมค่ายาและค่าบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิต ซึ่งหน่วยบริการสามารถเบิกได้จากงบบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว (งบผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และงบฟื้นฟูฯ) อยู่แล้ว
ทั้งนี้ในการดำเนินงานยังคงเน้นกลยุทธ์สร้างความร่วมมือกับกรมสุขภาพจิต สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) โรงพยาบาลจิตเวชราชนครินทร์ หน่วยบริการประจำ/หน่วยบริการปฐมภูมิ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกันดูแลผู้ป่วย พร้อมให้บริการส่งต่อเมื่อจำเป็น หรือขอรับคำปรึกษาตามระบบของเครือข่ายบริการ พร้อมกันนี้ ยังสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานในรูปเครือข่ายหน่วยบริการ ผ่านแผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาสุขภาพจิต จิตเวชและยาเสพติด และแผนการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและสุขภาพระดับอำเภอ ของกระทรวงสาธารณสุขด้วย
“สิ่งสำคัญของบริการในสิทธิประโยชน์ที่จัดบริการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชนนั้น นอกจากเน้นการดูแลที่บ้านให้ผู้ป่วยได้รับยาอย่างครบถ้วน ถูกต้อง ต่อเนื่อง และลดการขาดนัด-ขาดยาแล้ว ยังกำหนดให้ทำการประเมินความรุนแรงของอาการผู้ป่วย (แบบติดตาม 9 ด้าน) นำไปสู่การทำแผนการดูแลผู้ป่วยรายบุคคล (Care plan) การวางแผนช่วยเหลือ เข้าเยี่ยมที่บ้าน รวมถึงการประเมินความพิการทางจิต อาการแทรกซ้อน สิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงต่ออาการกำเริบ เป็นกิจกรรมติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสนับสนุนผู้ป่วย/ครอบครัวไปยื่นจดทะเบียนคนพิการให้ผู้ป่วยจิตเวช ตาม พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 เพื่อให้ผู้ป่วยทางจิตได้รับสิทธิประโยชน์และการคุ้มครองดูแลเพิ่มขึ้น พร้อมกันนี้ยังมีการปรับทัศนคติคนในชุมชน ให้เข้าใจเกี่ยวกับภาวะอาการผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง ลดความกังวลและความหวาดกลัว ลดการตีตรา ทำให้ผู้ป่วย ครอบครัวและชุมชน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข และผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ในที่สุด” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว