หลงรัก "ทวาย" แบบเห็นความงาม...
"...ถ้าเราจะหลงรักทวายต้องรักด้วยสติปัญญาถ้าเราจะรักต้องไม่รักแบบผิดๆเหมือนบางคนที่รักทวายและจะสร้างอุตสาหกรรมสร้างความร่ำรวยเพื่อประโยชน์คนส่วนน้อยเพื่อคนบางกลุ่ม..." อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์
1
“ใครที่บอกว่า ไทยมีความมั่นคงทางอาหาร ลองไปดูที่ทวาย ครั้งแรกที่ไปทวาย พวกเราตื่นเต้นกับชายหาดกว้างๆ ที่มีทะเลกับชายหาดเท่านั้น ไม่มีรีสอร์ทอย่างบ้านเรา เราตื่นเต้นถนนสายต้นตาล ที่ไม่ใช่แค่ใช้เพื่อการสัญจรแต่ยังเห็นชาวบ้านมาออกกำลังกาย"
...........
“เวลาเดินดูบ้านเรือนชาวทวาย รู้สึกถึงความปราณีตของช่างทวายในการฉลุลายต่างๆ ลักษณะบ้านเรือนที่มีความพิเศษแบบที่ไม่ได้เห็นนานเเล้ว ความเป็นทวายไม่ใช่แค่บ้านเรือนที่สวยงาม ความเป็นทวายน่าประทับใจมากกว่า บางทีด้วยความที่คนไทยมีหลายอย่างที่หายไปจากสังคมนานมาก”
นี่คือประโยคที่บรรยายถึงความรู้สึกของศิลปินชาวไทย จิตติมา ผลเสวก ผู้ที่เดินทางไปยังทวายเป็นครั้งที่ 4 แล้ว นับตั้งแต่ครั้งแรกที่เธอไปเยือนแล้วตกหลุมรักที่นั่นทันที
จิตติมา เล่าว่า เธอเริ่มสนใจทวายจากเรื่องราวของคนไทยพลัดถิ่น ภายหลังจากเกิดการแบ่งเขตแดน เริ่มได้ยินชื่อทวายและมะริดมากขึ้นจากเรื่องเหล่านั้น
"ครั้งแรกที่เดินทางมาที่ทวาย รู้สึกเหมือนได้ย้อนอดีตกลับไป เราไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องล้าสมัย แต่คือความงาม เป็นความมั่งคั่ง ร่ำรวย หากสังเกตดูดีๆ ในงานภาพเขียนส่วนใหญ่จะมีรูปปลาอยู่"
ปลาเป็นดั่งดัชนีสะท้อนความมั่งคั่งของพื้นที่แห่งนี้ ที่ จิตติมา ห่วงว่า หากวันหนึ่งที่โครงการพัฒนาเดินหน้าโดยไม่สนใจบริบทของชุมชน พื้นที่ สิ่งแวดล้อมเลย
ดัชนีความร่ำรวยเหล่านี้จะหายไปจากทวาย
“ในฐานะศิลปิน เราทำได้แค่บันทึกภาพเอาไว้ แต่ที่เราอยากให้มีคืออยากให้มันอยู่เหมือนเดิม ไม่ใช่เป็นเพียงภาพถ่าย จะทำอย่างไรให้ทวายดำรงสิ่งเหล่านี้อยู่ เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องล้าสมัย เเต่เป็นความสวยงามที่การพัฒนาของประเทศไทยได้ทำลายเรื่องเหล่านี้ลงไปมากเเล้ว” จิตติมา สะท้อนภาพด้วยน้ำเสียงแสดงความกังวล
2
“หากบอกว่า ปีนี้จะครบ 250 ปี การสิ้นสภาพกรุงศรีอยุธยาที่เคยเป็นราชธานี” หลายคนอาจไม่ทราบและคงมีหลายคนที่น่าจะทราบ
อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม หนึ่งในผู้ก่อตั้งมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เริ่มต้นด้วยประโยคชวนคิดย้อนกลับไปยังอดีต ก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมว่า เมืองอย่าง ทวาย ตะนาวศรี มะริด เคยเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา แต่เมื่อเราเสียกรุง เมืองเหล่านี้จึงตกเป็นของพม่าจนกระทั่ง พระเจ้าตากสินกู้ราชธานีได้ก็ย้ายมาสร้างกรุงธนบุรี และต่อมาเมื่อย้ายราชธานีมาฝั่งบางกอก
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ(รัชกาลที่ 1) กรีฑาทัพไปตีบ้านเมืองที่เสียให้กับพม่าคืนมาได้เกือบหมด ยกเว้น 3 เมืองดังกล่าว ซึ่งพระองค์ใช้ความพยายามถึง 3 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ
แม้ถึงสมัยรัชกาลที่ 3 หรือสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อังกฤษได้รบกับพม่าครั้งที่ 2 แล้วขอให้ไทยร่วมรบตีกับพม่า อังกฤษบอกว่า ถ้าไทยร่วมรบกับพม่าเมื่อชนะพม่าแล้วอังกฤษจะคืนทวาย ตะนาวศรี มะริดให้ไทย แต่อังกฤษขอยึดหัวเมืองชายทะเลไว้ ทางเราจึงไม่ตกลงปลงใจไปตีพม่ากับอังกฤษคราวนั้น
“การที่จะเข้าใจปัจจุบันเพื่อเดินไปสู่อนาคตได้นั้น เราต้องรู้จักอดีต ถ้าไม่รู้จักเราจะหลงผิด อดีตจึงมีความสำคัญอย่างมาก” อ.สุลักษณ์ย้ำ และบอกว่า ถ้าเราจะหลงรักทวาย ต้องรักด้วยสติ ปัญญา ถ้าเราจะรักต้องไม่รักแบบผิด ๆ เหมือนบางคนที่รักทวายและจะสร้างอุตสาหกรรมสร้างความร่ำรวยเพื่อประโยชน์คนส่วนน้อย เพื่อคนบางกลุ่ม
ปัญญาชนสยาม ชี้ว่า ถ้าเรารู้จักทวายอย่างถูกต้อง เข้าใจคนทวายจะช่วยให้เราวางแผนอนาคตได้ดีมากขึ้น
สำหรับคนไทยไปทวายสมัยนี้อาจจะไม่สะดวก ต้องต่อรถหลายต่อ แต่ความไม่สะดวกนั้นมีคุณสมบัติบางประการ ที่เขาเห็นว่า ช่วยรักษาทวายไว้ เพราะหากถนนเจริญนั้นจะเป็นทางผ่านของทุนข้ามชาติได้ ไม่ใช่เพื่อคนเล็ก คนน้อย ความเจริญไม่ใช่สิ่งดีงามตลอดไป เป็นหายนะไม่ใช่น้อย
“ผมเป็นคนโชคดีที่มีโอกาสไปเยี่ยมทวาย ไปเห็นชุมชนทวาย ได้เห็นว่า วัดยังเป็นศูนย์กลางของชุมชน ชาวทวายยังรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิม วัฒนธรรม ภาษาดั้งเดิมไว้อย่างน่าภูมิใจ” อาจารย์สุลักษณ์ เล่าเรื่องทวายตอกย้ำ
โครงการพัฒนาทวายเพื่อให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ สำหรับอาจารย์สุลักษณ์ แล้ว มองว่า ไม่จำเป็นต้องบอกชาวทวายว่า ท่าเรือน้ำลึก และถนนต่าง ๆ จะนำความเลวร้ายอะไรให้ชาวทวายบ้าง ขอให้ไปดูที่มาบตาพุดว่า มีความเลวร้ายอะไรเกิดขึ้นบ้าง ทั้งสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ซึ่งถ้าไม่ต่อสู้จะเกิดความเลวร้ายขึ้นที่ทวาย
“โครงการทวายเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยทักษิณ ชินวัตร จนมาถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปกครองตอนนี้ก็เลวร้ายพอ ๆ กัน” การต่อสู้พวกนี้จะยาก เราต้องไม่ก้มหัวให้เงิน ชาวทวายต้องกลมเกลียวกัน คนไทยควรจะหลงรักแบบเห็นความงาม เห็นสิ่งประเสริฐ มีการรักษาศักดิ์ศรี รักในวัฒนธรรมของทวาย
อาจารย์สุลักษณ์ เชื่อว่า คนไทยสมัยนี้อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า มีชุมชนทวายอยู่แถววัดยานาวา กรุงเทพฯ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเมื่อก่อนมีจางวางทวาย(คือตำแหน่งหัวหน้าของชาวทวายที่อพยพมาแต่ต้นรัตนโกสินทร์มาอยู่แถวริมแม่น้ำเจ้าพระยาแถวที่เป็นเขตยานนาวา)
"จางวาง" จะดูแลประเพณี และกฎหมายเฉพาะชาวทวาย เพื่อรักษาให้ที่นั่นมีประเพณีดั้งเดิม
3
“ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทย ทวายมีมานานมากแล้ว ตั้งแต่ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ น่าเสียดายที่ไม่ค่อยมีใครสนใจ”
วลัยลักษณ์ ทรงศิริ นักเขียน นักประวัติศาสตร์ มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เริ่มต้นบทสนทนาในประเด็นประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ของทวายกับไทย
เธอเล่าว่า มีชุมชนคนทวายใหญ่มากในเขตยานนาวา เมื่อก่อนชื่อชุมชนย่านทวาย จะอยู่บนถนนสีลม ถนนเจริญกรุง และใกล้ๆ กับเขตบางรัก ปัจจุบันเรียกว่าวัดดอน
นั่นคือจุดศูนย์กลางของชาวทวาย
ถามว่า ทำไมถึงมีชาวทวายอพยพมาจำนวนมาก จนสามารถก่อตั้งชุมชนขนาดใหญ่ได้ วลัยลักษณ์ เล่าว่า หลังเสียกรุงศรีอยุธยา ในช่วงนั้นมีสงคราม 9 ทัพ ที่รัชกาลที่ 1 (ราวปี2330) เสด็จไปรับศึกที่ทวาย แต่ตอนนั้นไม่ได้เข้าเมืองก็ยกทัพกลับนั่นคือครั้งแรก ทวายตอนนั้นมี มั่งจันจาเป็นเจ้าเมือง มีปัญหากับเจ้าปดุง เนื่องจากถูกบังคับให้ส่งส่วยให้ เจ้าเมืองทวายจึงนำชาวเมืองเข้ามาสวามิภักดิ์กองทัพสยาม
"รัชกาลที่ 1 เลยให้ย้ายเจ้าเมืองมาที่กรุงเทพ สรุปตอนนั้นคนทวายมาหลายร้อยคน ตอนแรกให้ไปอยู่หลังวันสระเกศ (ภูเขาทอง) ปัจจุบันมีชื่อตรอกทวาย แต่ไม่มีชาวทวายเเล้ว
อีกจุดตรงสี่แยกคอกวัว ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ที่ใหม่ในเขตยานนาวาปัจจุบัน
ชาวทวายลงหลักปักฐานที่นั่น มีการสร้างวัด ชื่อว่า "วัดดอน" ที่เรียกว่าวัดดอนเพราะบริเวณตรงนั้นเป็นเนิน
ถามว่าแล้วทำไมถึงมาอยู่ตรงนี้ วลัยลักษณ์ บอกว่า บริเวณนั้นเป็นเขตใต้เมือง เป็นย่านนานาชาติมีคนหลายชาติที่มาค้าขายกับสยามอาศัยในบริเวณนี้ ซึ่งในกรุงเทพมีชุมชนแบบนี้อีกเยอะ
"คนทวายเก่งเรื่องทะเล เลยได้เป็นช่างต่อเรือหลวง จนรัชกาลที่ 5 ก็ยังเป็นคนทวายที่ต่อเรือหลวง เพราะฉะนั้นคนทวายหลายคนในตอนนั้นได้เป็นถึงระดับขุนนาง กลายเป็นรับราชการไทยกันหมดเเล้ว"
แล้ววันนี้ชุมชนทวายทำไมถึงหายไป วลัยลักษณ์ ให้ข้อมูลต่อว่า ส่วนหนึ่งรับราชการได้แต่งงานกับทั้งคนพม่า คนไทย ตอนนั้นคนทวายมีฐานะดี หลานคนเป็นครูบาอาจารย์ และมีการศึกษา เมืองกรุงเทพฯ พัฒนาด้วยการสร้างทางด่วนทับลงในพื้นที่เดิม นั่นเลยเป็นการซัดชาวทวายกระจายออกไป แทบจะไม่เหลือในปัจจุบัน
4
ขณะที่อาจารย์ซอ ทูระ ผู้ศึกษาเรื่องสภาพแวดล้อมและประวัติศาสตร์โบราณคดีจากทวาย อดีตอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยทวาย ก่อนลาออกมาตั้งสมาคมวิจัยทวาย เล่าเสริมว่า ทวายมีอายุกว่า 4 พันปี มีกลุ่มชาติพันธ์ุ 3 กลุ่ม คือคนทวายเป็นประชากรส่วนใหญ่ คนกะเหรี่ยงเป็นประชากรอันดับสอง ซึ่งก็มีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง ทั้งนี้ยังมีชาวมอญอีกด้วย
สิ่งที่แปลกที่สุด และน่ายกย่องที่สุด คือทั้งสามกลุ่มชาติพันธุ์ไม่เคยมีการทะเลาะเบาะแว้งกัน ณ ปัจจุบันทุกคนก็ยังรักใคร่กัน เรามีพระสงฆ์ มีวัดที่ยังเป็นศูนย์รวมของชุมชนอยู่
อาชีพหลักคนทวายส่วนใหญ่ คือ ทำเกษตร เมืองทวายติดทะเลอันดามัน มีการทำประมง รายได้ส่วนใหญ่มาจากการประมง หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง ทวายมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย อย่างที่ทราบกัน แก๊สที่ส่งเข้ามาจากฝั่งไทย คนทวายไม่มีโอกาสได้ใช้เลย เมื่อปีที่เเล้ว ชุมชนทวายเรียกร้องให้มีการใช้แก๊ส สุดท้ายรัฐบาลจึงแบ่งสรรมาให้ แต่ยังมีราคาที่แพง
อาจารย์ซอ ทูระ บอกด้วยว่า วันนี้ทวายมีการพัฒนาจากหลายๆ ด้าน เป็นสิ่งที่คนทวายวิตกมาก ชาวประมง ชาวสวนชาวไร่ ชาวนา อนาคตหากมีการพัฒนาขึ้นมาจริงๆ ต่อไปจะทำอะไรกัน สภาพการเป็นอยู่ สภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนไปด้านไหน
5
มีข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักข่าวชายขอบ ระบุว่า โครงการทวายเริ่มขึ้นเมื่อปี 2551 เป็นโครงการความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลไทยกับ รัฐบาลเมียนม่าร์ ซึ่งมีหุ้นส่วนเท่ากันในโครงการ
ในปี 2553 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานเป็นระยะเวลา 60 ปี เพื่อพัฒนาท่าเรือน้ำลึก นิคมอุตสาหกรรม ถนนและทางรถไฟเชื่อมต่อสู่ประเทศไทย
ช่วงเวลาที่บริษัท อิตาเลียนไทยฯ พัฒนาโครงการนั้น ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการยึดที่ดิน การชดเชยให้กับประชาชนที่ต้องถูกโยกย้ายอย่างไม่เพียงพอและไม่เป็นธรรม การไม่ชดเชยให้กับความสูญเสียให้ที่ดินทำกินและป่าอันอุดมสมบูรณ์ รวมถึงผลกระทบสารพัดที่กระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอันดีของชุมชนท้องถิ่น โดยที่ไม่มีกลุ่มใดที่ออกมารับผิดชอบต่อปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขี้นเหล่านี้
เดือนพฤศจิกายน 2556 รัฐบาลเมียนม่าร์และรัฐบาลไทยได้เข้ามาควบคุมโครงการและสิทธิสัมปทานด้วยการเปลี่ยนแปลงจัดตั้งบริษัทใหม่ชื่อ บริษัท ทวาย เอส อี แซด ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ในรูปของนิติบุคคลเฉพาะกิจ (เอสพีวี) โดยรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนม่าร์เป็นเจ้าของภายใต้กรอบข้อตกลงใหม่ ซึ่งรัฐบาลทั้งสองมีความรับผิดชอบโดยตรงกับโครงการทวาย และผลกระทบทางลบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ
ปลายเดือนมกราคม 2558 รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันรับรองร่วมลงนามบันทึกเพื่อความเข้าใจ (MoU) กับรัฐบาลเมียนม่าร์ผลักดันให้เกิดโครงการนี้ต่อไป
ในบันทึกแสดงเจตจำนงเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2558 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจเข้าร่วมในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีสามเรื่องหลักด้วยกัน คือ การลงทุนในบริษัทนิติบุคคลเฉพาะกิจ หรือ เอสพีวี ผ่านทางธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิค) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า); ความร่วมมือในการขัดเกลาแผนแม่บทที่มีอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะใช้ระยะเวลา 3 ปี โดยการส่งผู้เชี่ยวชาญจากไจก้าในการให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค; และการจัดทำรายงานการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น (pre-feasibility study) เพื่อสำรวจแนวทางต่าง ๆ ในการก่อสร้างถนนไฮเวย์ใหม่ระยะสมบูรณ์ (full-phase)
จากข้อมูลปัจจุบันเกี่ยวกับงานในอนาคตที่ต้องดำเนินการ ประมาณการณ์ว่า ชาวบ้านจาก 20-36 หมู่บ้าน (ประมาณ 4,384-7,807 ครัวเรือน หรือ 22,000-43,000 คน) จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการเศรษฐกิจพิเศษทวายและโครงการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ ถนนเชื่อมต่อ อ่างเก็บน้ำ และพื้นที่รองรับชาวบ้านที่ต้องถูกโยกย้ายจากที่ตั้งโครงการ
ความร่ำรวยที่อยู่คู่แผ่นดินทวายกว่า 4 พันปี จะเดินไปในทิศทางใด จะกลายเป็นมาบตาพุดสองเหมือนที่หลายฝ่ายกังวลหรือไม่ ชะตากรรมของคนทวายใครเป็นคนกำหนด พวกเขาเองหรือคนนอกที่เพียงเอ่ยว่า รักทวาย แต่ดูเหมือน“รัก” ที่ว่าจะเป็นความรักในความร่ำรวยของคนเป็นหยิบมือที่ได้ไปจากโครงการพัฒนาฯ
หมายเหตุ สำหรับท่านที่สนใจเรื่องราวเมือง ทวาย สามารถเข้าชมนิทรรศการชื่อ "หลงรักทวาย" ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2560 ที่โถงชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร
อ่านประกอบ‘ทวาย’ บ้านเมืองที่เรา (ไม่) รู้จัก