เรียนรู้ "อยู่กับน้ำ" วิถีชีวิตคนปะกาฮะรัง ปัตตานี
“ชาวปะกาฮะรังอยู่กับน้ำมานาน ถึงฤดูที่น้ำมาก็เตรียมตัวรับสภาพ เพราะที่นี่เป็นพื้นที่ลุ่ม ทุกคนที่นี่ต้องปรับตัวปรับใจเพื่อให้ใช้ชีวิตปกติในเหตุการณ์ที่มีแบบนี้เกือบทุกปี เราคิดว่าเป็นเรื่องปกติของคนที่นี่”
คำบอกเล่าของ อิสมาแอ ปะซี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.ปะกาฮะรัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ตำบลที่ต้องประสบกับน้ำท่วมขังทุกครั้งเมื่อถึงฤดูฝน
ชีวิตของพี่น้องชาวปะกาฮะรังมีเส้นแบ่งกับตัวเมืองปัตตานีเพียงแค่ถนนสายปัตตานี-นราธิวาสคั่น เมื่อฝนตกหนักและมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนปัตตานี รวมทั้งมวลน้ำที่ไหลมาจากยะลา น้ำทั้งหมดจะมารวมตัวกันอยู่ ณ พื้นที่แห่งนี้
ภาพชาวบ้านพายเรือ เดินลุยน้ำถือกับข้าวและของกินเข้าสู่ชุมชนด้านในที่มีน้ำท่วมสูง ไม่มียวดยานชนิดอื่นผ่านเข้าออกได้ กลายเป็นภาพชินตาของคนที่นี่ และเมื่อน้ำท่วม ทุกคนก็ต้องออกทำมาหากินตามปกติ เพราะชีวิตต้องเดินต่อไป
“บ้านจางา หมู่ 2 เป็นพื้นที่ที่มีระดับน้ำสูงสุด บางบ้านน้ำเข้าไปเกือบถึงชั้นสอง เกือบทุกบ้านจะมีเรือติดบ้านไว้ เมื่อถึงฤดูฝน ก็นำออกมาใช้เป็นพาหนะในชีวิตประจำวัน ส่วนรถยนต์และรถอื่นๆ จะนำไปจอดที่ถนนใหญ่ ลูกเล็กเด็กแดงในแต่ละบ้านต้องรู้จักเรียนรู้วิธีปรับตัวให้อยู่ในสภาวะเช่นนี้ เพราะกว่าน้ำจะลดในแต่ละครั้งใช้เวลานานหลายวัน เราเคยเจอท่วมอยู่เกือบสามเดือน มีปีที่แล้วปีเดียวเท่านั้นที่ไม่ท่วม ทุกคนในชุมชนเต็มใจอยู่ที่นี่ และพร้อมรับมือกับทุกสภาวะ” อิสมาแอ บอก
การปรับตัวให้ “อยู่กับน้ำ” กลายเป็นจุดเด่นของชาวปะกาฮะรัง อย่าง ดลวาหาบ มะแอ เกษตรกรเลี้ยงแพะและเป็ดไล่ทุ่ง บ้านจางา เล่าว่า พอน้ำท่วม เป็ดไล่ทุ่งที่เข้าโรงเรือนไม่ทันสูญหายไปเกือบ 20 ตัว ส่วนแพะก็ได้ขายไปบ้างก่อนหน้านี้ เพื่อรองรับฤดูน้ำ และอยู่บนโรงเรือน ให้กินอาหารเป็นปกติ ส่วนคนก็ใช้ชีวิตปกติเช่นกัน เพราะทำอะไรไม่ได้กับมวลน้ำมหาศาลนี้
“ผมเป็นคนโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ตรงนั้นน้ำไม่เคยท่วม มาอยู่ที่นี่ 50 ปีแล้ว เป็นเรื่องปกติของคนที่นี่ เพราะตั้งแต่มีถนนสายปัตตานี-นราธิวาสตัดผ่าน น้ำก็จะทะลักอยู่ในพื้นที่ชุมชนของเรามาตลอด ขังนานบ้างไม่นานบ้าง ทุกคนต้องปรับตัวให้อยู่ให้ได้ เพราะมันก็ไม่ได้อยู่กับเราทั้งปี เราต้องทำมาหากินต่อไป มีชีวิตต่อไป ใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส มีคนมาแจกของก็สงสารเขาเหมือนกัน เพราะเข้ามาก็ลำบาก สักพักพอน้ำหมดก็ทำความสะอาดบ้าน มีชีวิตตามปกติกันต่อไป”
ชุมชนบ้านจางาเป็นชุมชนที่ไม่มีกุโบร์ (สุสานฝังศพ) ด้วยเหตุที่มีน้ำท่วมขังทุกปี เมื่อมีคนเสียชีวิต ครอบครัวและญาติก็จะนำศพไปฝังที่กุโบร์โต๊ะอาเยาะห์ ย่านจะบังติกอ ซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งในอำเภอเมืองปัตตานี
ไม่ใช่แต่ชาวบ้านใน ต.ปะกาฮะรัง เท่านั้นที่เรียนรู้การอยู่ท่ามกลางภาวะที่ใครอาจมองว่าเป็นวิกฤติ แต่โรงเรียนบ้านปะกาฮะรังก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีแผนรองรับภัยพิบัติที่มาเยือนโรงเรียนเป็นประจำทุกปี ภายใต้การนำของ อัสน๊ะ คำเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปะกาฮะรัง
คุณครูหญิงแกร่งคนนี้ไปค้นหารูปแบบการปรับปรุงห้องเรียนและอุปกรณ์การเรียนให้สามารถใช้งานได้แม้น้ำท่วม ทำให้ไม่ต้องปิดโรงเรียนด้วยเหตุอุทกภัย
“ย้ายมารับตำแหน่งที่นี่เกือบ 2 ปี รับทราบและเห็นปัญหาน้ำท่วมของโรงเรียนอยู่แล้ว จึงคิดหาทางแก้ไขด้วยการประชุมวางแผนรับมือกับคณะกรรมการสถานศึกษา เพราะเมื่อก่อนพอเกิดน้ำท่วมก็จะปิดโรงเรียน ไม่ได้ทำการเรียนการสอนมาตลอด เมื่อมาเป็น ผอ.คิดว่าไม่ว่าสถานการณ์แบบไหนจะไม่ให้เด็กขาดเรียน ไม่อย่างนั้นจะมีเวลาเรียนไม่ครบ”
“เราเริ่มตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดยสอนเพิ่มเติมไว้ 10 วัน เผื่อไว้เมื่อเกิดน้ำท่วมและภาวะอื่นๆ จะได้ไม่กระทบกับเวลาเรียนทั้งหมด เมื่อถึงเวลาน้ำท่วมจริงๆ ก็มีนักเรียนที่อยู่ในหมู่บ้านที่น้ำท่วมขังนาน ก็จะให้ผู้ปกครองหรือผู้นำชุมชนพายเรือมาส่ง ใส่ชุดอะไรมาเรียนก็ได้ แต่ขอให้มาเรียน เมื่อไม่สามารถเรียนชั้นล่างได้ ก็จะขึ้นไปเรียนชั้นสอง ส่วนนักเรียนชั้น ป.3 และ ป.6 ซึ่งจะสอบโอเน็ตในเดือนหน้า ก็จะย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเมืองปัตตานี โดยทางนั้นจัดห้องเรียนไว้ให้เรียน และครูของเราก็ตามไปสอนตามปกติ”
“สำหรับอุปกรณ์ในห้องเรียนก็จะไม่เสียหายไปกับน้ำ เราเตรียมรับมือด้วยการทำขาเหล็กต่อตู้เหล็ก ติดตั้งชั้นวางของน็อคดาวน์ เมื่อน้ำท่วมก็เอาของไปวางบนนั้น ก็จะไม่ถูกน้ำ เราต้องทำเพื่อประโยชน์ของสถานศึกษาให้มากที่สุด ใช้อุปกรณ์อย่างรู้ค่า สมกับที่เอาภาษีของประชาชนมาใช้” ผอ.โรงเรียนบ้านปะกาฮะรัง กล่าว
นี่คือเรื่องราวของชาวชุมชนปะกาฮะรัง พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากของอำเภอเมืองปัตตานี ที่เลิกรอหน่วยงานรัฐเข้ามาแก้ปัญหา แต่หันมาเรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำให้เป็นปกติแทน
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 ระดับน้ำที่ท่วมสูงในพื้นที่ปะกาฮะรัง
3 ผอ.อัสน๊ะ คำเจริญ
4-5 ห้องเรียนถูกปรับสภาพเตรียมรับน้ำ