ปตท.สผ.โชว์กำไรปี 2559 ที่ 372 ล้านดอลลาร์ สรอ.
ปตท.สผ. กำไรปี 2559 ที่ 372 ล้านดอลลาร์ สรอ.พร้อมเงินสดในมือ 4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับลงทุนเพื่อการเติบโตในอนาคต
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2560 บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยผลประกอบการปี 2559 กลับมามีกำไรสุทธิสูงถึง 372 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าราคาน้ำมันในปี 2559 จะมีความผันผวนสูง โดยแตะที่จุดต่ำสุดบาร์เรลละ 23 ดอลลาร์ สรอ. ปตท.สผ. ยังคงสามารถบริหารจัดการด้านผลการดำเนินงานให้เป็นบวกโดยการจัดการอย่างมืออาชีพในทุกด้านทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในด้านปฏิบัติการ ด้านการเงิน และการลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ ปตท.สผ. มีต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำ สามารถรองรับกับราคาน้ำมันในทุกสถานการณ์ ในขณะที่ยังคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และชุมชน โดย ณ สิ้นปี 2559 ปตท.สผ. มีเงินสดในมือกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. พร้อมใช้จ่ายตามแผนการลงทุน รวมถึงโอกาสทางธุรกิจเพื่อการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน และด้วยผลประกอบการดังกล่าว ปตท.สผ.จึงได้พิจารณาจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2559 ให้กับผู้ถือหุ้นที่ 3.25 บาทต่อหุ้น
นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปี 2559 ที่ 372 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 12,860 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ขาดทุนสุทธิ 854 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 31,590 ล้านบาท) ซึ่งในปีดังกล่าวมีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ (Impairment loss on assets) จำนวน 1,385 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ ในขณะที่ปี 2559 มีการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์จำนวน 47 ล้านดอลลาร์ สรอ. จากการปรับแผนการผลิตตามศักยภาพของแหล่งในปัจจุบัน
ในส่วนของรายได้ปี 2559 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 4,339 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 152,745 ล้านบาท) ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับรายได้ 5,614 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2558 ซึ่งเป็นผลจากการปรับลดของราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยซึ่งลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกมาอยู่ที่ประมาณ 35.91 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ จากในปีก่อนหน้าที่ 45.29 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยในส่วนของปริมาณการขายนั้น ปตท.สผ. สามารถรักษาระดับปริมาณการขายได้ตามแผนที่ 319,521 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในปี 2559 ซึ่งต่ำกว่าปี 2558 ที่ระดับ 322,167 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันเล็กน้อย โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการยุติการลงทุนในโครงการโอมาน 44 ในช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของต้นทุน ปตท.สผ. สามารถลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องตามนโยบาย SPEND SMART to Business Sustainability รวมทั้งได้มีการบริหารจัดการทางการเงินอย่างมืออาชีพเพื่อลดตุ้นทุนโดยการซื้อคืนหุ้นกู้และปรับโครงสร้างเงินทุนของบริษัทย่อย มีผลให้ต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) ปรับลดมาอยู่ที่ 30.46 ดอลลาร์ สรอ. ในปี 2559 ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ซึ่งลดลงจากปี 2558 กว่าร้อยละ 20
สำหรับสถานะการเงิน ณ สิ้นปี 2559 ปตท.สผ. มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 18,891 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 676,890 ล้านบาท) ซึ่งรวมเงินสดจำนวน 4,022 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 144,096 ล้านบาท) มีหนี้สินรวม 7,505 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 268,906 ล้านบาท) ซึ่งได้รวมหนี้สินที่มีดอกเบี้ยจำนวน 2,832 ล้านดอลลาร์ สรอ. และมีส่วนของผู้ถือหุ้น 11,386 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 407,984 ล้านบาท)
จากผลการดำเนินงานข้างต้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ จึงมีมติอนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2559 ที่อัตรา 3.25 บาทต่อหุ้น โดย ปตท.สผ. ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับงวด 6 เดือนแรกในอัตรา 0.75 บาทต่อหุ้น จึงยังคงเหลือเงินปันผลจ่ายสำหรับงวด 6 เดือนหลังอีกในอัตราหุ้นละ 2.50 บาท กำหนดวันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 และจ่ายเงินปันผลวันที่ 10 เมษายน 2560
สำหรับแผนดำเนินงานปี 2560 นายสมพร กล่าวว่า ปตท.สผ. ยังคงมุ่งเน้นที่จะรักษาระดับการผลิตของโครงการในประเทศไทย คาดว่าปริมาณการขายเฉลี่ยของปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 312,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยมีความพยายามที่จะรักษาต้นทุนต่อหน่วยให้อยู่ในช่วง 30-31 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ในขณะที่แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในครึ่งปีแรกของปี 2560 ปตท.สผ. ยังคงมองว่าน่าจะอยู่ในช่วง 50-60 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล สูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและกลุ่มนอกโอเปก โดยในครึ่งปีหลัง ราคาน้ำมันคงจะยังมีความผันผวน ซึ่งต้องติดตามปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจมีผลกระทบกับราคาน้ำมันในอนาคต เช่น ความเคลื่อนไหวของกลุ่มโอเปก นโยบายทางด้านธุรกิจพลังงานของผู้นำสหรัฐอเมริกาคนใหม่ รวมถึงปัจจัยทางการเมืองอื่น ๆสำหรับด้านการลงทุนซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมและปริมาณการผลิตให้กับ ปตท.สผ. ในอนาคตนั้น ปตท.สผ. ยังคงให้ความสำคัญที่จะเร่งรัดพัฒนาโครงการที่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอการตัดสินใจได้แก่ แหล่งอุบลในโครงการคอนแทร็ค 4 โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ การเร่งดำเนินการในกิจกรรมสำรวจในแปลงที่มีอยู่ปัจจุบัน รวมถึงการมองหาโอกาสทางธุรกิจในการขยายการลงทุนในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายสมพร กล่าวเสริมเรื่องของทิศทางในอนาคตว่า “แม้ความต้องการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลคาดว่าจะลดลงในอนาคต แต่พลังงานฟอสซิลจะยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานสะอาด โดยจากโครงการผลิตที่ ปตท.สผ. มีอยู่ปัจจุบันและที่กำลังจะพัฒนาใน 4-5 ปีข้างหน้ากว่าร้อยละ 60 จะเป็นการผลิตก๊าซธรรมชาติ และหากรวมถึงกลยุทธ์ที่จะร่วมลงทุนกับ ปตท. ในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แล้ว มั่นใจได้ว่าทิศทางกลยุทธ์ของ ปตท.สผ. สามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้พลังงานในอนาคตทั้งของประเทศไทยและของโลกได้”
“ด้วยประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และด้วยความร่วมมือร่วมใจของพนักงาน ปตท.สผ. ในการหาแนวทางลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างมืออาชีพ โดยยึดหลักการมีวินัยทางการเงิน การดำเนินงานด้วยความโปร่งใสและปฎิบัติงานภายใต้หลักธรรมาภิบาล ส่งผลให้ ปตท.สผ. สามารถฝ่าวิกฤตราคาน้ำมันที่ผ่านมาได้ด้วยสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง เราในฐานะบริษัทสำรวจและผลิตของประเทศไทย มีความพร้อมและมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าแสวงหาปริมาณสำรอง เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ” นายสมพร กล่าวในตอนท้าย