แอมเนสตี้ฯแถลงผลรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2559
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2560 เวลา 14.00 น. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้จัดงานประกาศผลและพิธีมอบรางวัล “รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ประจำปี 2559 ณ โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ โดยมอบรางวัลผลงานสื่อมวลชนดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนให้สื่อหนังสือพิมพ์ระดับชาติ สื่อออนไลน์ และโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ส่วนหนังสือพิมพ์ระดับท้องถิ่นและสื่อโทรทัศน์ในระบบเคเบิลท้องถิ่นไม่มีผลงานใดได้รับรางวัลดีเด่น แต่ได้รับรางวัลชมเชยแทน
นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า สื่อมวลชนเปรียบเสมือน “ครู” ผู้ทำหน้าที่ในการร่วมกันบ่มเพาะคนในสังคมให้ตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน และเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น จึงเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างกำลังใจให้กับสื่อมวลชนที่ทำงานอย่างหนักในการนำเสนอข่าวสารในแง่มุมที่คำนึงถึงการเคารพ ส่งเสริม และปกป้องสิทธิมนุษยชน ด้วยการจัดมอบรางวัลผลงานสื่อมวลชนดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนในสังคม และสื่อมวลชนจะได้มีพลังในการยืนหยัดที่จะทำงานเพื่อปกป้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชนต่อไป ในส่วนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนเคารพการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ที่ต้องได้รับการคุ้มครองไม่ให้ถูกข่มขู่และคุกคาม
ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า คณะกรรมการตัดสินผลงานรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2559 ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากสายสื่อมวลชนและสายสิทธิมนุษยชน จากการคัดสรรและตัดสินผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด ผลการตัดสินมีดังนี้
รางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ระดับชาติ ประกอบด้วยรางวัลดีเด่น 2 รางวัลๆ ละ 30,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ ข่าวชุด “พิพาทที่ดินราไวย์ ปมละเมิดสิทธิ์ไล่ชาวเลพ้นแผ่นดินเกิด” หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ สารคดีเชิงข่าว "Forest clampdown hurts poor" หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
รางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อหนังสือพิมพ์ระดับท้องถิ่น ประกอบด้วยรางวัลชมเชย 2 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ ข่าวชุด “คนบ้านแหง ต้านการเมือง โค่นป่า ระเบิดภูเขา ถมลำธาร ทำเหมือง” หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ข่าว “ชาวเลย์ราไวย์ ฮึดสู้! รักษาสิทธิ์ที่ทำกิน " หนังสือพิมพ์ปักษ์ใต้ทูเดย์
รางวัลข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อออนไลน์ ประกอบด้วยรางวัลดีเด่น 1 รางวัล ๆ ละ 30,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ สารคดีเชิงข่าว “มหากาพย์ "จีที 200" กับบาดแผลในใจของคนจังหวัดชายแดนใต้” เว็บไซด์ข่าวไทยพีบีเอส และรางวัลชมเชย 3 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ สารคดีเชิงข่าว “บาดแผลที่บ้านโต๊ะชูด อ.ทุ่งยางแดง คำขอโทษของรัฐและน้ำตาของผู้สูญเสีย” เว็บไซด์ข่าวไทยพีบีเอส สารคดีเชิงข่าว “คนไม่มีสิทธิ์”...40 ปีที่ไร้ตัวตนของชาวลาวอพยพ” เว็บไซด์โพสต์ทูเดย์ และสารคดีเชิงข่าว “สั่งซ่อมพลทหาร พลาดพลั้งถึงตาย ใครต้องรับผิดชอบ” เว็บไซด์ไทยรัฐออนไลน์
รางวัลข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทสื่อโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประกอบด้วยรางวัลดีเด่น 2 รางวัล ๆ ละ 30,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่สารคดีเชิงข่าว "สิทธิเด็ก...สิทธิปกป้องชุมชน” สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี สารคดีเชิงข่าว "เบื้องหลังคดีเผานั่งยางบ้านผือ...กับพยานที่ยังมีชีวิต" สถานีโทรทัศน์ NOW26 และรางวัลชมเชยอีก 3 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ สารคดีเชิงข่าว “ซ้อมทรมาน คำสารภาพสุดท้ายที่ปลายด้ามขวาน” สถานีโทรทัศน์ TNN24 สารคดีเชิงข่าว " ‘ฉุด’ กระชากชีวิต” สถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี และสารคดีเชิงข่าว "เด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้...บาดแผลจากความรุนแรง" สถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี
รางวัลข่าวหรือสารคดีเชิงข่าว ประเภทสื่อโทรทัศน์ในระบบเคเบิลทีวี ไม่มีผลงานใดได้รับรางวัลดีเด่น แต่มีรางวัลชมเชย 1 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ สารคดีเชิงข่าว “แพะทุ่งกุลา” สถานีโทรทัศน์เสียงไทยแลนด์เคเบิลทีวี
นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ กล่าวต่อว่าในปีนี้นายมินาร์ พิมเพิล ผู้อำนวยการอาวุโสงานปฏิบัติการระดับโลกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลให้แก่สื่อมวลชน นอกจากนั้นยังจัดให้มีการปาฐกถาในหัวข้อ “สื่อป้องสิทธิ” โดยนายสุรชา บุญเปี่ยม บรรณาธิการข่าวอาวุโสสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ และ วันเพ็ญ คุณนา นักข่าวพลเมืองผู้รายงานข่าวผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่ในจังหวัดเลย และกล่าวขอบคุณสื่อมวลชนที่เป็นบุคคลสำคัญที่สุดของงานในวันนี้ที่ได้ช่วยกันขับเคลื่อนและเป็นสื่อกลางในการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและให้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนทั้งที่ผ่านมาและจะทำต่อไป