ขาดแคลนมือดีเขียนบท บ.ก.! วงเสวนาชี้สถานศึกษาควรให้ความสำคัญ
ขาดแคลนมือดีเขียน! วงเสวนาสภาการหนังสือพิมพ์ถก 'บท บ.ก.สำคัญอย่างไร' ขอสถาบันการศึกษาควรตระหนักให้ความสำคัญป้อนคนเข้ามา
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2560 เวลาประมาณ 09.00 น. สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ จัดงานเสวนาในหัวข้อ 'บทบรรณาธิการสำคัญอย่างไร' ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตยกุล ชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ทั้งจากส่วนกลางและท้องถิ่น และนักวิชาการเข้าร่วมถกประเด็น วิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ และหาสาเหตุ รวมถึงวิธีการแก้ไข อาทิ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้า ในฐานะกรรมการและประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการและส่งเสริมวิชาชีพ สภาการหนังสือพิมพ์ฯ, นายสุนทร ทาซ้าย บรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ, นายจักกฤษ เพิ่มพูล บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ จ.ลำปาง, นายวีระพันธ์ โตมีบุญ ประจำกองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์, นายทศพร โชคชัยผล บรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์กรุงงเทพธุรกิจ โดยมีนายพีระวัฒน์ อัฐนาค ผู้ประกาศข่าวเศรษฐกิจ ไทยรัฐทีวี เป็นผู้ดำเนินรายการ พร้อมทั้งมีนักศึกษาสาขาวารสารศาสตร์ฯ จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก
โดย นายจักกฤษ เพิ่มพูล บ.ก.นสพ.ลานนาโพสต์ จ.ลำปาง กล่าวถึงการกำหนดเรื่องหรือประเด็นการนำเสนอใน 'บทบรรณาธิการ' ของหนังสือพิมพ์ส่วนกลางและท้องถิ่นว่า มีความเหมือนหรือแตกต่างกันทั้งในส่วนของการเลือกประเด็น และบริบทของผู้เชียน หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นมักจะพิจารณาประเด็นจากบริบทที่คนในท้องถิ่นสนใจอยู่เป็นหลัก ซึ่งการเขียนบท บ.ก. ผู้เขียนจำเป็นจะต้องมีวุฒิภาวะ ทั้งเรื่องการใช้ภาษา รวมถึงควรมีข้อเสนอแนะเพื่อหาทางออกอย่างสมเหตุสมผล และไม่มุ่งแต่จะโจมตีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียว
ส่วน นายสุนทร ทาซ้าย บ.ก.ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา นสพ.ไทยรัฐ กล่าวว่า บท บ.ก. สามารถเลือกข้าง หรือเห็นต่างได้ แต่ก็จำเป็นจะต้องมีข้อมูลมาประกอบ เพื่อชี้แจงเหตุผลเรื่องที่สื่อฯ เห็นต่างในกรณีนั้น ๆ ด้วย
ขณะที่ นายวีระพันธ์ โตมีบุญ ประจำกอง บ.ก.นสพ.เดลินิวส์ กล่าวว่า กรณีบท บ.ก. ที่ผู้เขียนไม่สามารถตัดสินใจในประเด็นที่นำเสนอในตอนจบได้ จึงมีวิธีการจบบท บ.ก. ด้วยการตั้งคำถามทิ้งท้ายอย่างมีข้อจำกัด โดยกระบวนการผลิตบท บ.ก. ของ นสพ.เดลินิวส์จะมองในภาพรวมของเรื่อง ซึ่งมีการพิจารณาบริบทที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ โครงสร้างการเขียนบท บ.ก. สามารถเขียนให้สั้นและกระชับลงได้ แต่ผู้เขียนจำเป็นจะต้องคำนึงว่าผู้อ่านต้องเข้าใจด้วย โดยประเด็นที่เลือกนำเสนอหลักจะมาจากเรื่องที่ประชาชนสนใจอยู่ขณะนั้น และเรื่องที่ประชาชนจำเป็นจะต้องรู้เพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป
นายทศพร โชคชัยผล บ.ก.ข่าวเศรษฐกิจ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ กล่าวว่า การเข้าร่วมการเสวนาครั้งนี้ ทำให้ทราบว่าการนำเสนอบทบรรณาธิการทั้งจากสื่อส่วนกลาง และสื่อท้องถิ่นมีการกำหนดความสำคัญในประเด็นของเรื่องแตกต่างกันออกไปตามบริบททางสังคม สื่อท้องถิ่นก็นำเสนอประเด็นที่มีจุดเด่นในเรื่องของความลึกของข้อมูลในพื้นที่ได้ดี ซึ่งความน่าสนใจของสื่อนั้น ๆ ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการนำเสนอว่ามีความน่าสนใจ และมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน อย่างไร ทั้งนี้ มองว่าในยุคที่สื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทอย่างมากในปัจจุบัน สื่อสิ่งพิมพ์ก็สามารถเข้ามาอยู่บนเว็บไซต์ในรูปแบบที่น่าสนใจ และมีรูปภาพประกอบ เพื่อขยายฐานผู้อ่านสู่คนนอกพื้นที่ได้ แต่ปัญหาที่พบในปัจจุบันคือ ผู้ที่ขียนบทบรรณาธิการได้ดี มีวุฒิภาวะ ความรอบรู้ในประเด็นต่าง ๆ นั้น กำลังขลาดแคลนจากสังคม ทั้งนี้ทั้งนั้น สถาบันการศึกษาควรจะตระหนัก และให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง