แกะรอยมติครม.บิ๊กตู่ ไฉนไฟเขียวบ.เสี่ยเจริญแก้สัญญาเช่าศูนย์ฯสิริกิติ์ 50 ปี
"...จากการสืบค้นข้อมูลยังพบด้วยว่า บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ เคยปรากฎชื่อ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในช่วงปี 2541 ด้วย ก่อนที่บริษัทแห่งนี้ จะเปลี่ยนมือเป็นธุรกิจในเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ในภายหลัง อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัญหาเกิดขึ้นรื้อรังมาตั้งแต่ปี 2543 แต่เพิ่งจะมาแก้ไขปัญหาเสร็จสิ้นในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี.."
สาธารณชน คงได้รับทราบข้อมูลกันไปแล้วว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2560 ได้มีการอนุมัติแก้ไขสัญญาการบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
ขณะที่บริษัทเอกชนที่บริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติ สิริกิติ์ คือ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ ธุรกิจในเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี โดยเบื้องต้นการแก้ไขสัญญาดังกล่าวจะปรับ อายุสัญญาเช่าเป็น 50 ปี จากเดิม 25 ปี และปรับปรุงการก่อสร้าง โดยดัดแปลงอาคารศูนย์ประชุมเดิมให้มีพื้นที่มากขึ้น เพิ่มพื้นที่ใช้เพื่อการพาณิชย์และที่จอดรถ รวมไม่น้อยกว่า 1.8 แสนตารางเมตร มูลค่าลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท แทนการก่อสร้างโรงแรม 4-5 ดาว รวม 400 ห้อง ตามสัญญาเดิม เนื่องจากติดปัญหา ข้อกฎหมาย
(อ่านประกอบ : พลิกปูม บ.เอ็น.ซี.ซี.ฯ'เสี่ยเจริญ' รับอานิสงส์ แก้สัญญาเช่าศูนย์ฯสิริกิติ์ 50 ปี?)
แต่เนื่องจากมติที่ประชุมครม.วาระนี้ มิได้มีการเปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ นอกจากคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ ซึ่งกระทรวงการคลังได้พิจารณาจากบริษัทที่ให้ผลประโยชน์และข้อเสนอที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อราชการ จึงทำให้สาธารณชนอาจจะยังไม่ทราบข้อเท็จจริงรายละเอียดเกี่ยวกับที่มาที่ไปการแก้ไขสัญญาการบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ทั้งหมด
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นเอกสารประกอบการนำเสนอวาระแก้ไขสัญญาการบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ต่อที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 17 ม.ค.60 ดังกล่าว พบว่า มีการระบุข้อมูลสาระสำคัญ ดังนี้
ความเป็นมาของเรื่อง
-เดิมที่ ครม.เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2532 อนุมัติให้ กระทรวงการคลัง ออกแบบและก่อสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประจำปี 2534 โดย บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้บริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้กรมธนารักษ์ลงนามในสัญญากับบริษัท เอ็น.ซี.ซีฯ รวม 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 มีระยะเวลา 4 เดือน (2 ส.ค.2534-30 พ.ย.2534) ในช่วงการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกฯ โดยมีเงื่อนไขว่าหากจัดการประชุมได้โดยสมบูรณ์เรียบร้อย และคณะกรรมการประเมินผลมีมติเห็นสมควรให้เป็นผู้บริหารศูนย์การประชุมฯ ต่อไป ก็จะได้รับสิทธิในการบริหารศูนย์การประชุมฯ ต่อไปอีกมีกำหนดเวลา 5 ปี
ระยะที่ 2 มีระยะเวลา 5 ปี (1 ธ.ค.2534-30 พ.ย.2539) โดยมีเงื่อนไขให้บริษัท เอ็น.ซี.ซีฯ ต้องเสนอแผนการลงทุนและผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อจะได้รับสิทธิการบริหารศูนย์การประชุมฯ ในระยะที่ 3 มีกำหนดเวลา 25 ปี
ระยะที่ 3 มีระยะเวลา 29 ปี ดังนี้
ช่วงที่ 1 นับตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.2539 ถึงวันที่ก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลังตามเงื่อนไขสัญญาฯ ข้อ 10 แล้วเสร็จ และถือว่าวันสิ้นกำหนดระยะเวลาการก่อสร้างดังกล่าวเป็นวันที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ออกแบบ 1 ปี ก่อสร้าง 3 ปี)
ช่วงที่ 2 มีระยะเวลา 25 ปี นับแต่วันถัดจากวันที่ก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลัง ตามเงื่อนไขสัญญาฯ ข้อ 10 แล้วเสร็จ หรือวันที่ถือเป็นวันที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ
ต่อมาครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 11 เม.ย.2538 รับทราบตามที่กระทรวงการคลังได้อนุมัติให้ต่ออายุสัญญาระยะที่ 3 ด้วยแล้ว โดยเงื่อนไขสัญญาระยะที่ 3 ข้อ 3 และข้อ 10 กำหนดให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ต้องก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลัง ประกอบด้วย โรงแรมมาตรฐานระดับ 4-5 ดาว จำนวนห้องพักไม่ต่ำกว่า 400 ห้อง สถานที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 3,000 คัน และพื้นที่ซึ่งใช้เพื่อการพาณิชย์ไม่น้อยกว่า 28,000 ตารางเมาตร มูลค่าการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 2,732 ล้านบาท และผลประโยชน์ตอบแทน 25 ปี คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (PV) 3,130 ล้านบาท มูลค่าในอนาคต (FV) 11,400 ล้านบาท
ขณะที่การบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมฯ สิริกิติ์ ได้ดำเนินการภายใต้ขั้นตอนของพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 โดยมีคณะกรรมการประสานงานบริหารศูนย์การประชุมฯ ติดตามกำกับดูแลให้มีการดำเนินงานตามที่กำหนดในสัญญา และในปี 2557 ได้ดำเนินการภายใต้ขั้นตอนของพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556
เงื่อนปมปัญหา
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างสัญญาปรากฎว่า บริษัทเอ็น.ซี.ซี.ฯ ไม่สามารถก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างตามเงื่อนไขของสัญญาข้างต้น เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านกฎหมายที่กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณศูนย์การประชุมฯ เป็นสีน้ำเงิน ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ และกำหนดให้บริเวณศูนย์การประชุมฯ เป็นพื้นที่ห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน 23 เมตร
ต่อมาบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ จึงได้เสนอขอยกเลิกการก่อสร้างและขอแก้ไขสัญญาโดยปรับปรุงดัดแปลงอาคารศูนย์การประชุมฯ เดิมให้มีพื้นที่ศูนย์การประชุม พื้นที่ใช้เพื่อการพาณิชย์ และที่จอดรถยนต์โดยมีพื้นที่รวมไม่น้อยกว่า 180,000 ตารางเมตร มูลค่าการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท และระยะเวลาการเช่า 50 ปี
- จากนั้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2543 คณะกรรมการประสานงานบริหารศูนย์การประชุมฯ มีมติให้กรมธนารักษ์เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณานำเสนอครม.อนุมัติหลักการในนโยบายเป็น 2 แนวทาง โดยให้ดำเนินการบอกเลิกสัญญาพร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย หรือ แก้ไข สัญญาโดยการยกเลิกการก่อสร้างโรงแรมและเสนอโครงการใหม่ที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่าโครงการเดิม
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังเห็นว่าการบอกเลิกสัญญาพร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย หรือ การแก้ไขสัญญาโดยการเลิกการก่อสร้างโรงแรมและเสนอโครงการใหม่นั้น จะต้องมีข้อเท็จจริงเพียงพอต่อการวินิจฉัย จึงได้หารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหารือข้อกฎหมาย
ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว กระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นชอบให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ บริหารอาคารศูนย์ประชุมฯ ไปก่อนจนกว่าการก่อสร้างอาคารในส่วนขยายจะแล้วเสร็จ เพื่อไม่ให้การบริหารและการดำเนินกิจการศูนย์การประชุมฯ ขาดช่วงอันส่งผลกระทบต่อภาพพจน์และก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ โดยกำหนดผลตอบแทนร้อยละ 10 ของรายได้รวม แต่ไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท (ปรับปรุงร้อยละ 15 ทุก 5 ปี) และส่วนแบ่งร้อยละ 10 ขอกำไรสุทธิ ซึ่งเป็นอัตราที่เรียกเก็บจนถึงปัจจุบัน
เบื้องต้นสำหรับข้อหารือ สำนักงานคณะกรรมการกฎษฏีกา ได้ให้ความเห็นว่า การที่บริษัทเอ็น.ซี.ซี.ฯ ขอแก้ไขสัญญาเดิม ในฐานะคู่สัญญาสามารถเสนอได้ โดยกระทรวงการคลังต้องเป็นผู้พิจารณาว่ามีการกระทำใดที่เป็นการผิดสัญญาและสมควรบอกเลิกสัญญาด้วยหรือไม่
หากปรากฎว่ามีการกระทำดังกล่าว กระทรวงการคลังอาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ แต่หากพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเสนอแก้ไขสัญญาดังกล่าวทางราชการจะได้รับประโยชน์และไม่เป็นการเสียประโยชน์และได้ผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าหรือดีกว่าข้อกำหนดในสัญญาเดิม ก็อาจพิจารณาให้มีการแก้ไขสัญญาได้ต่อไป และการแก้ไขสัญญาดังกล่าวไม่ต้องปฏิบัติตาม พรบ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 เพราะมิใช่การให้เอกชนรายใหม่ ร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ
-จากนั้น วันที่ 20 ส.ค.2551 คณะกรรมการประสานงานบริหารศูนย์การประชุมฯ ได้พิจารณาแนวทางตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และมีมติว่าการที่บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ เนื่องจากติดขัดปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเป็นการพ้นวิสัยที่จะปฏิบัติตามสัญญาได้ จึงถือว่าบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญาอันเป็นเหตุให้กรมธนารักษ์สามารถบอกเลิกสัญญากับบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ได้
กรมธนารักษ์จึงได้เสนอกระทรวงการคลัง เพื่อให้ความเห็นชอบแนวทางให้แก้ไขสัญญา โดยมีเงื่อนไขให้บริษัทฯ ศึกษาและออกแบบโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 12 เดือน ซึ่งกระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นชอบแนวทางให้แก้ไขสัญญาตามที่กรมธนารักษ์เสนอ
ต่อมา บริษัท เอ็น.ซี.ซีฯ ได้เสนอขอแก้ไขสัญญาโดยขอปรับปรุงดัดแปลงอาคารเดิมให้มีพื้นที่รวมไม่น้อยกว่า 180,000 ตารางเมตร มูลค่าการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท และระยะเวลาการเช่า 50 ปี
ซึ่งกรมธนารักษ์ ได้จ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์ผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐควรได้รับ ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ผลตอบแทนที่รัฐจะได้รับสำหรับการประเมินมูลค่าผลตอบแทน 50 ปี คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (PV) เท่ากับ 5,083 ล้านบาท ไม่น้อยกว่าสัญญาเดิม
ต่อมาคณะกรรมการประสานงานบริหารศูนย์การประชุมฯ ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 พ.ย.2556 และวันที่ 30 ม.ค.2557 เห็นชอบให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ แก้ไขสัญญาโดยปรับปรุงดัดแปลงอาคารศูนย์ประชุมฯ เดิมให้มีพื้นที่ศูนย์ประชุม พื้นที่ใช้เพื่อการพาณิชย์ และที่จอดรถยนต์ โดยมีพื้นที่รวมไม่น้อยกว่า 180,000 ตารางเมตร มูลค่าก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท ระยะเวลาการเช่าซึ่งรวมถึงเวลาเตรียมการ รื้อถอน และก่อสร้าง 8 ปี รวมเป็น 58 ปี ผลประโยชน์ตอบแทนคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (PV) 5,100.55 ล้านบาท มูลค่าในอนาคต (FV) 18,998.60 ล้านบาท โดยระยะเวลาการเช่า 50 ปี
ต่อมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2557 คณะกรรมการที่ราชพัสดุ ได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ เช่าที่ราชพัสดุเพื่อบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมฯ โดยมีระยะเวลาการเช่า 50 ปี ตามที่กรมธนารักษ์เสนอ ซึ่งระยะเวลาการเช่าดังกล่าว อยู่ภายใต้กรอบพ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์ เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 และให้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วน
จากนั้นก็มีการส่งร่างสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเดิมให้สำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณา และมีการปรับปรุงรายละเอียดบางส่วนเพื่อให้เกิดความถูกต้อง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2559 คณะกรรมการกำกับดูแลบริหารศูนย์การประชุมฯ ได้มีมติให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ได้รับสิทธิในการบริหารศูนย์การประชุมฯ ในสัญญาระยะที่ 3 เป็นเวลา 50 ปี โดยรวมระยะเวลาเตรียมการรื้อถอน และก่อสร้าง 3 ปี ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบระยะเวลาการเช่าตามพ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 โดยมีมูลค่าการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท ผลประโยชน์ตอบแทนคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน(PV) 5,100.55 ล้านบาท (มูลค่าในอนาคต (FV) 18,998.60 ล้านบาท) ซึ่งมากกว่าผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาเดิม รวมทั้งเห็นชอบกรอบแนวทางการแก้ไขสัญญา โดยให้กรมธนารักษ์ปรับปรุงสาระสำคัญให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบร่างสัญญาฯ อีกครั้ง จนกระทั่งไม่มีข้อสังเกตเพิ่มเติมอีก
จากนั้น กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ได้พิจารณาเรื่องและนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2560 ตามที่ปรากฎเป็นข่าว
ทั้งนี้ จากการสืบค้นข้อมูลยังพบด้วยว่า บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ เคยปรากฎชื่อ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในช่วงปี 2541 ด้วย ก่อนที่บริษัทแห่งนี้ จะเปลี่ยนมือเป็นธุรกิจในเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อเท็จจริงกรณีนี้ หากพิจารณารายละเอียดในเอกสารวาระเรื่องที่นำเสนอต่อที่ประชุมครม.เรื่องการปรับแก้ไขสัญญา จะพบว่ามีน้ำหนัก มีเหตุมีผลรับฟังได้
แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อครม.มีมติออกมากลับไม่มีการแถลงข่าวเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างเป็นทางการ
ยิ่งปัญหากรณีนี้เกิดขึ้นรื้อรังมาตั้งแต่ปี 2543 แต่เพิ่งจะมาแก้ไขปัญหาเสร็จสิ้นในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี?
ขณะที่ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา เคยตรวจสอบพบว่า บริษัท ุ69 พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในเครือข่ายของนายเจริญ เป็นผู้ซื้อที่ดินจาก บิดา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ก่อนเป็นนายกรัฐมนตรี) เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2556 วงเงินประมาณ 600 ล้านบาท (จำนวนเงินตามที่ระบุว่าในสัญญาซื้อขายและพล.อ.ประยุทธ์แจ้งต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ-ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 4 ก.ย.57) (อ่านประกอบ : สิ้นสงสัย!“หุ้นใหญ่”ซื้อที่ดินพ่อประยุทธ์ ที่อยู่เดียว“บ.เสี่ยเจริญ”บนบริติชเวอร์จิน)
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร ที่เมื่อมีข่าวปรากฎออกมา คนในสังคมจะรู้สึกว่า เรื่องนี้น่าจะต้องมีอะไรในก่อไผ่ ไม่เช่นนั้น เขาคงจะไม่อุบเงียบทำอะไรกันแบบนี้?