กอ.รมน.สรุปสถิติเหตุร้ายประจำเดือนมกราฯ.. ฮือฮา "4 ศพปัตตานี" ไม่ใช่ประชาชน!
ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ศจฉ.กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ได้รายงานสถิติเหตุร้ายและยอดการสูญเสียตลอดเดือน ม.ค.2555 ซึ่งเป็นเดือนแรกของศักราชใหม่ โดยมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งสิ้น 55 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 85 ราย
อย่างไรก็ดี จากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นจำนวน 55 เหตุการณ์ ซึ่งเป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 44 ครั้ง ลอบวางระเบิด 9 ครั้ง และก่อกวน 2 ครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ได้สรุปเบื้องต้นแล้วว่าเป็นเหตุส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับการสร้างสถานการณ์จำนวน 23 เหตุการณ์ คงเหลือ 32 เหตุการณ์ที่เป็นเหตุความมั่นคง โดยยอดรวมของเหตุการณ์ลดลงจากเดือนก่อนหน้า (ธ.ค.2554) ที่เกิดเหตุรุนแรงทั้งสิ้น 71 ครั้ง
เมื่อแยกสถิติการเกิดเหตุร้ายเป็นรายจังหวัด พบว่า จ.ปัตตานี มีเหตุร้ายเกิดขึ้นมากที่สุดในเดือน ม.ค.2555 คือ 28 ครั้ง รองลงมาคือ จ.นราธิวาส 18 ครั้ง จ.ยะลา 8 ครั้ง และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา 1 ครั้ง โดยอำเภอที่ติดกลุ่มมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นถี่ ได้แก่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี สูงสุด 5 ครั้ง อ.กะพ้อ กับ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อำเภอละ 4 ครั้ง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี อ.บาเจาะ กับ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส อำเภอละ 3 ครั้ง
ส่วนในจำนวนผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ 55 ราย แยกเป็นเสียชีวิต 37 ราย บาดเจ็บ 48 ราย แบ่งตามกลุ่มอาชีพหรือสถานะของบุคคลได้ดังนี้
- เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 3 นาย บาดเจ็บ 16 นาย
- ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย
- ประชาชนเสียชีวิต 24 ราย บาดเจ็บ 19 ราย
- อาสารักษาดินแดน (อส.) เสียชีวิต 4 นาย บาดเจ็บ 5 นาย
- ผู้นำท้องถิ่นเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 4 ราย
- ผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 4 ราย
ทั้งนี้ การรวบรวมสถิติเหตุร้ายและยอดการสูญเสียของเดือน ม.ค.2555 เป็นเดือนแรกที่ ศจฉ.กอ.รมน.ภาค 4 สน.แยกสถานะบุคคลอย่างละเอียดเช่นนี้ โดยกลุ่มที่ไม่มีการสูญเสียเลยตลอดทั้งเดือน ได้แก่ ข้าราชการครู ข้าราชการพลเรือน อาสาสมัครทหารพราน ผู้นำศาสนา และครูสอนศาสนา โดยมีวันที่ไม่มีความสูญเสียเกิดขึ้นเลย ซึ่งหมายถึงไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบรวม 6 วัน
สำหรับภาพรวมสถานการณ์ความไม่สงบตลอด 8 ปีเศษนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 เป็นต้นมา กระทั่งถึงสิ้นเดือน ม.ค.2555 ข้อมูลของ ศจฉ.กอ.รมน.ภาค 4 สน.สรุปว่า มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 4,615 ราย แยกเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ 1,932 ราย ศาสนาอิสลาม 2,556 ราย ไม่ระบุศาสนา 127 ราย จำนวนผู้บาดเจ็บรวม 8,198 ราย แยกเป็นผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ 5,108 ราย ศาสนาอิสลาม 2,589 ราย ไม่ระบุศาสนา 501 ราย
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าการสรุปสถิติเหตุร้ายและยอดการสูญเสียตลอดเดือน ม.ค.2555 ของ ศจฉ.กอ.รมน.ภาค 4 สน.ได้บันทึกตัวเลขการสูญเสียเมื่อวันที่ 29 ม.ค.เอาไว้ว่า มีประชาชนเสียชีวิต 1 ราย ผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บอีก 4 ราย ซึ่งในวันที่ 29 ม.ค.นั้น เป็นวันที่เกิดเหตุทหารพรานกองร้อยที่ 4302 ตั้งฐานอยู่ที่ ต.ปุโละปะโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ถูกคนร้ายใช้เครื่องยิงลูกระเบิดยิงถล่มฐาน จากนั้นได้จัดกำลังออกติดตามไล่ล่าคนร้าย จนพบรถกระบะต้องสงสัยที่บ้านกาหยี ต.ปุโละปุโย และมีการใช้อาวุธปืนยิงใส่รถคันดังกล่าว ทำให้มีประชาชนเสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 4 ราย
ทั้งนี้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าการบันทึกข้อมูลว่ามีผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ 4 ราย น่าจะหมายถึงกลุ่มประชาชนที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากการใช้อาวุธของทหารพราน ซึ่งทั้งหมดได้รับการยืนยันในเวลาต่อมาว่าไม่มีประวัติเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบหรือกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ส่วนข้อมูลที่บันทึกว่าประชาชนเสียชีวิตอีก 1 รายนั้น น่าจะหมายถึงเหตุการณ์สังหาร นายแวมะ วาจิ อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 20/2 บ้านคลองหงส์ หมู่ 3 ต.ตะมะยูง อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ขณะจอดรถจักรยานยนต์เติมน้ำมันที่ร้านขายน้ำมันภายในหมู่บ้านลูโบ๊ะบาตู หมู่ 4 ต.ตะมะยูง
เหตุการณ์ทหารพรานใช้อาวุธปืนยิงรถต้องสงสัยจนมีประชาชนเสียชีวิต 4 รายและบาดเจ็บ 4 รายนั้น กำลังมีการสอบสวนโดยคณะกรรมการอิสระที่แม่ทัพภาคที่ 4 แต่งตั้งขึ้นว่า เหตุใดปฏิบัติการของทหารพรานจึงก่อให้เกิดความสูญเสียจำนวนมาก ซึ่งเหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้กับพี่น้องมุสลิมในพื้นที่อย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีการให้ข่าวหลังเกิดเหตุของเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายความมั่นคงบางรายว่า คนที่ถูกยิงเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการสอบสวนข้อเท็จจริงแต่ประการใด
อนึ่ง เอกสารของศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้านั้น เป็นเอกสารเผยแพร่รายเดือนที่เริ่มจัดทำขึ้นตั้งแต่เดือน มิ.ย.2551 แม้จะมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรายงานสถิติการเกิดเหตุรุนแรงและความสูญเสียเป็นการภายในระหว่างหน่วยงานความมั่นคงด้วยกันเอง แต่เอกสารนี้ก็เผยแพร่ไปยังสื่อมวลชนบางแขนงและองค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กรด้วย การสรุปสถานะผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บว่าเป็น "ผู้ก่อเหตุรุนแรง" ก่อนที่จะมีการสรุปข้อเท็จจริงทางคดีอย่างเป็นทางการนั้น จึงเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความเข้าใจผิด และพึงระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : สภาพรถกระบะต้องสงสัยที่ถูกทหารพรานยิงจนได้รับความเสียหาย เมื่อคืนวันที่ 29 ม.ค.2555 ที่ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
ขอบคุณ : ภาพจาก อับดุลเลาะ เบญญกาศ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์