พลิกคดีทุจริต-สินบนข้ามชาติ"ล่าช้า-ล้มเหลว"?สะท้อนคุณภาพองค์กรตรวจสอบไทย
“…สิ่งที่น่าสนใจในปรากฏการณ์ดังกล่าวคือ เมื่อมีข่าวลักษณะนี้ เกือบทุกครั้งจะมี ‘แอ็คชั่น’ จากรัฐบาล หรือหน่วยงานตรวจสอบมาเป็นระยะ และเรื่องก็เงียบหายไปทุกที ทั้งที่หน่วยงานยุติธรรมในต่างประเทศ หรือศาลในต่างประเทศ มีคำพิพากษา เอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้แล้ว ตรงนี้สะท้อนอะไรบางอย่างในกระบวนการตรวจสอบทุจริต กระบวนการยุติธรรมของไทยหรือไม่ อย่างไร…”
สาธารณชนกำลังจับตาอย่างเข้มงวด สำหรับการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ ให้การยอมรับต่อสำนักงานปราบปรามการทุจริตของสหราชอาณาจักร (SFO) ว่าจ่ายสินบนให้หลายประเทศที่ซื้อขายเครื่องยนต์ของ ‘โรลส์-รอยซ์’ โดยจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินไทยฯ ด้วย ในระหว่างปี 2534-2548 รวม 3 ครั้ง วงเงินประมาณ 1,200 ล้านบาท เพื่อแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือในการจัดทำสัญญาจัดซื้อเครื่องยนต์ T-800
โดยเรื่องนี้ใช้เวลาสอบประมาณ 6 ปี มีเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดประมาณ 30 ล้านแผ่น และใช้เงินในการตรวจสอบไปแล้วกว่า 13 ล้านปอนด์
นอกเหนือจากนี้กระทรวงยุติธรรม ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยอีกว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ ให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ในช่วงปี 2543-2556 เป็นเงินประมาณ 385 ล้านบาทด้วยเช่นเดียวกัน
ปัจจุบันบริษัท การบินไทยฯ และบริษัท ปตท. ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และรวบรวมข้อมูลเรื่องนี้โดยด่วนแล้ว ตอนนี้ผ่านมาประมาณ 1 สัปดาห์ ยังคงไม่มีความคืบหน้าอะไรมากนัก
ขณะเดียวกันองค์กรอิสระในไทย ได้กระโดดร่วมวงเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ทันทีอย่างน้อย 2 องค์กร ได้แก่ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยขอข้อมูลไปยัง SFO กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ บริษัท การบินไทยฯ และบริษัท ปตท. เพื่อนำมาประกอบการตรวจสอบด้วย
(อ่านประกอบ : หลักฐานเด็ด!มติ ครม.ปี 47 คดีสินบนโรลส์รอยส์-'สุริยะ'ชงเปลี่ยนซื้อ'B777' 6 ลำ, แกะรอยจากเอกสารคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ อ้าง"บิ๊ก"กองทัพอากาศพัวพัน(ตอนที่ 1), แกะรอยจากเอกสาร โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนครั้งที่ 2 ช่วงปี 35-40 "จัดการขั้นตอนทางการเมือง", แกะรอย บ.โรลส์-รอยซ์ จ่ายสินบนครั้งที่ 3 ช่วงปี 47-48 "ดินเนอร์กับคนในรัฐบาล" (จบ))
อย่างไรก็ดีคดีการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐไทย ไม่ใช่มีแค่ 2 กรณีดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น แต่ที่ผ่านมายังมีอีกอย่างน้อย 5 คดี ทั้งที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบขององค์กรตรวจสอบของไทย และอยู่ระหว่างการแสวงหาข้อมูลเบื้องต้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมไว้ ดังนี้
หนึ่ง คดีอดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รับสินบนจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ 60 ล้านบาท
กรณีนี้เมื่อต้นปี 2553 ศาลสหรัฐฯ และเอฟบีไอ ได้ดำเนินคดีตามกฎหมายการกระทำอันเป็นการทุจริตข้ามชาติ (Foreign Corrupt Practices Act) หรือ FCPA ของสหรัฐฯ กับนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย กรีน ในข้อหาให้สินบนกับนางจุฑามาศ ศิริวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ททท. กระทั่งปลายปี 2553 ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซีย 6 เดือน จากนั้นกักบริเวณในบ้านอีก 6 เดือน จ่ายเงินชดใช้ 2.5 แสนดอลลาร์ หรือประมาณ 8 ล้านบาท โดยนอกเหนือจากนางจุฑามาศ แล้วยังกล่าวหาบุตรสาวนางจุฑามาศด้วย
ขณะเดียวกันสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเร่งด่วน โดยใช้ข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือ FBI เป็นข้อมูลเอกสารกว่า 2,200 แผ่น พร้อมทั้งเส้นทางการเงินที่นางจุฑามาศนำไปฝากที่ต่างประเทศด้วย และเชิญนางจุฑามาศ และบุตร เข้ามาให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช.
กระทั่งในปี 2554 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนางจุฑามาศ และบุตร ถูกกล่าวหาเรียกรับสินบนสองสามีภรรยาชาวสหรัฐฯ วงเงินประมาณ 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 60 ล้านบาท (ค่าเงินขณะนั้น) และส่งสำนวน พร้อมความเห็นให้กับอัยการสูงสุด (อสส.) อย่างไรก็ดี อสส. เห็นว่า ยังมีข้อเท็จจริงไม่สมบูรณ์ในคดีอยู่ จึงประสานมายัง ป.ป.ช. เพื่อแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในคดี
ผ่านมาประมาณ 3 ปี ประมาณปลายปี 2557 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงแถลงผลการประชุมคณะทำงานร่วมฯว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อไม่สมบูรณ์เสร็จแล้ว ปัจจุบันนำตัวนางจุฑามาศ และบุตร ส่งฟ้องต่อศาลอาญา และศาลนัดไต่สวนนัดแรกแล้วเมื่อช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้นางจุฑามาศ ยังถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนกรณีถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติอีกทางหนึ่งด้วย หากพบว่าผิดจริง จะยื่นฟ้องต่อศาลให้ริบทรัพย์สินดังกล่าว ตกเป็นของแผ่นดิน
(อ่านประกอบ : “อดีตผู้ว่าฯ ททท.”ลุ้นอีก! ป.ป.ช.ลุยสอบรวยผิดปกติปมรับสินบน 60 ล., อสส.นำ“อดีตผู้ว่าฯ ททท.-บุตร”ฟ้องศาลอาญา ปมรับเงิน 60 ล.จัดเทศกาลหนัง, อสส.สั่งฟ้อง! “อดีตผู้ว่าฯ ททท.”ปมเรียกรับเงิน 60 ล.จัดงานเทศกาลหนัง, คณะทำงานร่วมฯส่งหลักฐานจากสหรัฐเพิ่ม!ชงอสส.ฟ้อง"จุฑามาศ"รับสินบน 60 ล., คณะทำงานร่วมฯสอบ 3 ปีชง อสส. ฟ้องอดีตผู้ว่าฯททท.รับสินบน 60 ล.)
สอง คดีกล่าวหานักการเมือง-เจ้าหน้าที่รัฐ รับสินบนเอื้อประโยชน์บริษัททำเหมืองแร่ข้ามชาติ
กรณีนี้เกิดขึ้นช่วงประมาณปี 2558 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ข้อมูลและหลักฐานจากคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และการลงทุนของประเทศออสเตรเลีย (ASIC) ที่ส่งมาให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) พบว่า มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย ถูกร้องเรียนว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำการทุจริตในการขุดเหมืองแร่ทองคำในไทย โดยมีการโอนเงินจากประเทศออสเตรเลียมายังประเทศไทย ที่อาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอใบอนุญาตขุดเหมืองแร่ทองคำ หรือเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ พร้อมทั้งให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐในไทยด้วย
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบปมเหมืองทอง พบเอกชน ตปท.ติดสินบน จนท.รัฐ)
ต่อมา มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนในคดีนี้ ล่าสุด มีการเปิดเผยว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อย 13 ราย เข้าไปพัวพันกับการกล่าวหาว่า ได้รับเงินสินบนจากบริษัทข้ามชาติเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับการขุดเหมืองแร่ทองคำ เบื้องต้นสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า มีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีต รมว.มหาดไทย และนายประเสริฐ บุญชัยสุข อดีต รมว.อุตสาหกรรม สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา พร้อมเปิดเผยชื่อบริษัทเอกชนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนให้สินบนด้วย คือ กลุ่มบริษัท คิงส์เกต
โดยข้อกล่าวหาดังกล่าว ระบุว่า ระทำความผิดต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ตามนัยมาตรา 66 และมาตรา 88 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. โดยเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ หรือให้ ขอให้ หรือรับว่า จะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้กลุ่มบริษัท คิงส์เกต ได้ประโยชน์ในการสำรวจและทำเหมืองแร่ ในพื้นที่ จ.สระบุรี จ.ลพบุรี จ.เพชรบูรณ์ จ.พิจิตร และ จ.พิษณุโลก โดยมิชอบ
ขณะที่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย เป็นบริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) บริษัททำเหมืองแร่ขนาดใหญ่ในประเทศไทย โดยบริษัท คิงส์เกตฯ ถือหุ้นใหญ่สุดร้อยละ 48%
(อ่านประกอบ : ‘จารุพงศ์-ประเสริฐ’ถูก ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบปมเรียกรับเงินเอื้อ บ.เหมืองแร่)
อนึ่ง เมื่อช่วงกลางปี 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจเหมืองแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรด้วย ขณะเดียวกันกรณีบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพนักงาน และเพื่อเตรียมการเลิกประกอบกิจการ จึงเห็นควรให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมไปจนถึงสิ้นปี 2559 เพื่อให้สามารถนำแร่ที่เหลืออยู่ไปใช้ประโยชน์ได้ พร้อมทั้งให้บริษัท อัคราฯ เร่งดำเนินการปิดเหมืองและฟื้นฟูที่ที่ผ่านการทำเหมืองให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาต (อ่านประกอบ : http://www.manager.co.th/Weekend/ViewNews.aspx?NewsID=9590000048516)
สาม คดีกล่าวหานักการเมือง-เจ้าหน้าที่รัฐ รับสินบนจากเอกชนข้ามชาติ เพื่อติดตั้งเครื่องตรวจสอบระเบิด (CTX) ในสนามบินสุวรรณภูมิ
คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงปี 2548 (สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร 2) โดยสื่อไทยเปิดเผยผลการสอบสวนของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของสหรัฐฯ ตรวจพบการติดสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐของบริษัท อินวิชั่น หรือ InVision สัญชาติสหรัฐฯ ซึ่งประกอบธุรกิจออกแบบ และผลิตระบบการตรวจสอบวัตถุระเบิดเพื่อติดตั้งในท่าอากาศยาน ถูกกล่าวหาว่า มีการติดสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐหลายประเทศ ส่วนในไทยพบว่า มีความพยายามจะติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐไทย แต่ยังไม่ทันทำเสร็จ ถูกสื่อมวลชนสหรัฐฯขุดคุ้ยขึ้นมาเสียก่อน
โดยการจัดซื้อ CTX เกิดขึ้นเมื่อปี 2546 โดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรียุครัฐบาลนายทักษิณ (ทักษิณ 1) จากบริษัท อินวิชั่น โดยเจ้าของเรื่อง บริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) ที่เป็นเจ้าของโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ได้ทำสัญญาว่าจ้างกลุ่มบริษัทร่วมทุน ITO (บริษัท อิตาเลียน-ไทยฯ, บริษัท ทาเคนากะฯ, บริษัท โอบายาชิฯ) ให้จัดสร้างสนามบินแบบจ้างเหมาเบ็ดเสร็จครอบคลุมงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร และอาคารเทียบเครื่องบินตั้งแต่ปี 2544 กระทั่งปี 2546 คณะรัฐมนตรีอนุมัติจัดซื้อ
ทั้งนี้ในขั้นตอนการสอบสวนบริษัท อินวิชั่น ยอมรับว่า รู้เห็นถึงพฤติกรรมของตัวแทนจำหน่ายในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ที่พยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใน 3 ประเทศคือ ไทย ฟิลิปปินส์ และจีน เพื่อให้จัดซื้อชุดอุปกรณ์สำหรับตรวจสอบวัตถุระเบิดของบริษัท และนำไปติดตั้งประจำท่าอากาศยานต่าง ๆ ของแต่ละประเทศ โดยในประเทศจีนและฟิลิปปินส์ ได้มีการจ่ายเงินสินบนแล้ว ส่วนประเทศไทยพบว่ามีความพยายามที่จะติดสินบนเจ้าหน้าที่ แต่ยังไม่ทันจะจ่าย ก็ถูกตรวจพบเสียก่อน
ในผลการสอบสวน บริษัท อินวิชั่น ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้สูงที่นายวี ซุคกี ตัวแทนจำหน่ายภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก มีความตั้งใจจะใช้เงินซึ่งเกิดจากส่วนต่างของราคา ไปติดสินบนเจ้าหน้าที่ของไทย แต่ขณะที่มีการเตรียมควบรวมกิจการ การสอบสวนดังกล่าวอยู่ในช่วงที่การจ่ายเงินสินบนยังไม่เกิดขึ้น จึงยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีการจ่ายเงินสินบนให้กับใคร เป็นจำนวนเท่าไร แต่การเตรียมการเหล่านี้ ทางการสหรัฐฯ ถือว่าเป็นความผิด เนื่องจากบริษัท อินวิชั่น รู้เห็น แต่ไม่มีการคัดค้าน
โดยบริษัท อินวิชั่น ยอมสารภาพความผิดทั้งหมด และต้องยอมจ่ายเงินค่าปรับกว่า 1.1 ล้านดอลลาร์ ในคดีที่ถูก ก.ล.ต. สหรัฐฯ ฟ้อง และต้องยอมจ่ายค่ายอมความอีก 800,000 ดอลลาร์ ในอีกคดีที่ถูกกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ฟ้อง เพื่อแลกกับการยุติคดี (อ่านประกอบ : http://thaipublica.org/2012/09/ctx-1/)
ต่อมาภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าไปไต่สวนด้วย ก่อนจะส่งสำนวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอยู่ 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ กรณีกล่าวหานายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม รวมถึงข้าราชการระดับสูงใน บทม. และบริษัทเอกชนรวม 25 ราย จัดซื้อเครื่องในราคาแพงเกินจริง และ บทม. เป็นนายหน้าในการจัดซื้อเครื่อง CTX และกรณีข้าราชการระดับสูงใน บทม. พัวพันกับการรับประโยชน์หรือรับสินบนจากบริษัทนายหน้าขายเครื่อง CTX ดังกล่าว ระหว่างเดินทางไปดูงานต่างประเทศที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ
โดยเมื่อปี 2555 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งรับสำนวนการไต่สวนมาจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำทีก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐ (คตส.) ตั้งแต่ช่วงปี 2549 มีมติเอกฉันท์ยกคำร้องกรณีกล่าวหา นายทักษิณ นายสุริยะ กับพวกรวม 25 ราย ในฐานจัดซื้อเครื่องแพงเกินจริง และ บทม. เป็นนายหน้าซื้อเครื่อง CTX แล้ว โดยเห็นว่า พยานหลักฐานทั้งหมดไม่เพียงพอ
ส่วนข้อกล่าวหาข้าราชการระดับสูงใน บทม. พัวพันกับการรับประโยชน์หรือรับสินบนจากบริษัทนายหน้าขายเครื่อง CTX ดังกล่าว ระหว่างเดินทางไปดูงานต่างประเทศที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพิ่มเติมจำนวน 6 ราย ปัจจุบันอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน (อ่านประกอบ : http://www.manager.co.th/politics/viewnews.aspx?NewsID=9550000105760)
สี่ กรณีเอกชนผู้ผลิตเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ของโลกติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐไทยในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทย
กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2554 จากที่สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักรายงานว่า บริษัท ดิอาจิโอ พีแอลซี บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยักษ์ใหญ่ของโลก เช่น เหล้ายี่ห้อ ‘จอห์นนี่ วอล์คเกอร์’ และบริษัทลูก ได้จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย กว่า 6 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 18 ล้านบาท) ในการรับผิดชอบด้านการจัดซื้อหรืออนุมัติ ในการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มของบริษัท ดิอาจิโน โดยจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่รัฐไทยระดับสูงรายหนึ่ง ช่วงปี 2547-2551 เพื่อช่วยในการวิ่งเต้นสู้คดีด้านภาษีและศุลกากรหลายคดี แต่ไม่ได้มีการเปิดเผยชื่อเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวแต่อย่างใด
โดยกรณีนี้ในช่วงปี 2546 กองปราบปรามเข้าตรวจค้นและอายัดเหล้านอกยี่ห้อ ‘จอห์นนี่ วอล์คเกอร์’ ของบริษัท ริชมอนเด้ (บางกอก) หรือชื่อใหม่บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทลูกของ ดิอาจิโอ พีแอลซี ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ดิอาจิโอฯ ประเทศอังกฤษ ประมาณ 45,000 ลัง ต่อมากรมศุลกากรได้เข้าไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าวกรณีอาจมีการเลี่ยงภาษีเกิดขึ้นได้ กระทั่งเมื่อปี 2554 กรมศุลกากรมีมติให้ ดิอาจิโอฯ เสียค่าปรับในคดีจ่ายภาษีไม่ครบ ประมาณ 3 พันล้านบาท
อย่างไรก็ดีในช่วงเวลาดังกล่าว ดิอาจิโอฯ ได้ทำหนังสือขอทำความตกลงระงับคดีเลี่ยงภาษี ในจำนวนเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งรับผิดชอบสำนวนคดีนี้ด้วย ได้ทำหนังสือแจ้งให้ ดิอาจิโอฯ เข้ามาเสียค่าปรับเพื่อระงับคดีดังกล่าว โดยถือว่าเป็นสิทธิตามกฎหมาย (อ่านประกอบ : http://www.thairath.co.th/content/189896)
ห้า คดีบริษัท พีทีที.กรีนเอเนอร์ยี่ฯ (PTT.GE) ถูกกล่าวหาทำโครงการปลูกปาล์มน้ำมันประเทศอินโดนีเซียไม่โปร่งใส และมีการจ่ายค่านายหน้าที่ดินแพงเกินจริง
กรณีนี้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีกล่าวหาว่า ผู้บริหารระดับสูงในบริษัท พีทีที.กรีนเอเนอร์ยี่ฯ บริหารการลงทุนโครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย 5 โครงการ ของบริษัท พีทีที.กรีนเอเนอร์ยี่ฯ เป็นบริษัทลูกของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยไม่คุ้มค่า และอาจเกิดความเสียหายให้แก่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กว่า 2 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันนายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ถูกคณะกรรมการ (บอร์ด) ปตท. และบอร์ด ปตท.สผ. ให้พ้นสภาพจากการเป็นพนักงานเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ดีประเด็นที่ควรโฟกัสในเรื่องนี้ตามผลสอบสวนของ ปตท. คือ กรณีการจ่ายค่านายหน้าที่ดินแพงเกินจริงอย่างน้อย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ PT.Az Zhara และ PT.KPI
โดยในส่วนโครงการ PT.Az Zhara พบว่า ในการจัดทำนายหน้าจัดหาที่ดิน มีการตกลงกันว่าในราคาหุ้น 550 เหรียญสหรัฐ/เฮกตาร์ ผู้ขายจะได้ส่วนแบ่ง 327.25 เหรียญสหรัฐ ส่วน KSL ได้รับส่วนแบ่ง 222.75 เหรียญสหรัฐ
โดยเป็นที่น่าสังเกตคือ ค่านายหน้าที่ทำความตกลงกัน เป็นเงิน 222.75 เหรียญสหรัฐ/เฮกตาร์ เมื่อเทียบกับมูลค่าที่ดินที่ผู้ขายได้รับเพียง 327.25 เหรียญสหรัฐ/เฮกตาร์ เป็นอัตราที่สูงมาก (ประมาณ 40%) จึงไม่น่าจะเป็นรูปแบบของสัญญานายหน้าอันเป็นลักษณะปกติทางการค้าแต่อย่างใด
ส่วนโครงการ PT.KPI มีการพบว่า ในการกำหนดให้ PT.KPI จ่ายเงินค่าที่ปรึกษากับพวกค่านายหน้าขายที่ดิน เป็นเงินประมาณ 19 ล้านเหรียญ ตามสัญญา Consultancy Service Agreement ไว้ด้วย ซึ่งจากพยานหลักฐานการชำระเงินให้แก่ KSL (บริษัทจัดซื้อที่ดินที่ PTTGE จ้าง) ที่ Mr.Burhan (ผู้ขายที่ดินที่ PTTGE ซื้อ) นำมาแสดงมีความสอดคล้องกับการจ่ายเงินของ PTTGE
โดยมูลค่าที่ปรึกษา/นายหน้า เป็นเงิน 325 เหรียญสหรัฐ/เฮกตาร์ เมื่อเทียบกับมูลค่าที่ดินในราคา 1,325 เหรียญสหรัฐ/เฮกตาร์ ก็ยังถือเป็นสัดส่วนที่สูง (ประมาณ 25%) จึงไม่น่าจะเป็นรูปแบบของสัญญาที่ปรึกษา/นายหน้า อันเป็นลักษณะปกติทางการค้าแต่อย่างใด
(อ่านประกอบ : เปิดผลสอบ ปตท.ปมปลูกปาล์มฯ แกะรอยจ่ายค่านายหน้าซื้อที่แพง 25-40%, (INFO) ไทม์ไลน์ปลูกปาล์มน้ำมันอินโดฯ ส่ง ป.ป.ช.สอบ-เด้ง‘นิพิฐ’พ้น ปตท.สผ.)
ปัจจุบันคดีนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์คณะไต่สวนยกชุด มีการเชิญผู้บริหารระดับสูงจาก ปตท. และผู้เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหลายรายแล้ว และเตรียมประสานกับหน่วยงานตรวจสอบด้านการทุจริตจากประเทศอินโดนีเซีย เพื่อขอข้อมูล และเชิญบุคคลจากประเทศอินโดนีเซียมาให้ถ้อยคำด้วย
หก คดีการจัดซื้อ GT200
กรณีนี้มีการกล่าวหาร้องเรียนตั้งแต่ในช่วงปี 2550 ว่า เครื่อง GT200 ดังกล่าว ใช้งานไม่ได้จริง กระทั่งมีการพิสูจน์ตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ ท่ามกลางการตอบโต้จากบุคลากรในกองทัพว่า เครื่องดังกล่าวสามารถใช้งานได้ กระทั่งช่วงปี 2557 ศาลอังกฤษพิพากษาจำคุก ตัวแทนเอกชนที่จัดจำหน่ายเครื่อง GT200 เนื่องจากเห็นว่า เครื่องดังกล่าวใช้งานไม่ได้จริง เป็นการหลอกหลวงเพื่อขายของเท่านั้น และรัฐบาลได้เลิกซื้อเครื่องมือดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา
ขณะเดียวกันช่วงเวลาดังกล่าวคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ จำนวนหลายสิบสำนวน มีผู้ถูกกล่าวหาตั้งแต่ หน่วยงานความมั่นคง ผู้บริหารหน่วยงานในกองทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และหน่วยงานในกระทรวงมหาดไทย แต่ไม่ปรากฏชื่อ ‘บิ๊กกองทัพ’ แต่อย่างใด
จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า นับตั้งแต่ปี 2550-2552 มีอย่างน้อย 10 หน่วยงาน ที่จัดซื้อเครื่อง GT200 รวม 848 เครื่อง วงเงินกว่า 767 ล้านบาท ได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กรมราชองค์รักษ์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สภ.จ.ชัยนาท กรมศุลกากร องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สระแก้ว และ อบจ.สมุทรปราการ
(อ่านประกอบ : INFO: ข้อมูลหน่วยงานรัฐจัดซื้อจีทีฯ 767 ล.-ผลสอบ สตง.มัดลวงโลก?)
ทั้งหมดคือ 6 กรณีที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายสินบน-กล่าวหาการทุจริตข้ามชาติในประเทศไทย ก่อนหน้าข่าวฉาวระดับโลกอย่าง ‘โรลส์-รอยซ์’ ติดสินบนเจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทย และบริษัท ปตท. วงเงินหลายพันล้านบาท ในขณะนี้
สิ่งที่น่าสนใจในปรากฏการณ์ดังกล่าวคือ เมื่อมีข่าวลักษณะนี้ เกือบทุกครั้งจะแสดงท่าทีเหมือนเอาจริงจากรัฐบาล หรือหน่วยงานตรวจสอบมาเป็นระยะ และเรื่องก็เงียบหายไปทุกที เหมือน 'ไฟไหม้ฟาง' ทั้งที่หน่วยงานยุติธรรมในต่างประเทศ หรือศาลในต่างประเทศ มีคำพิพากษา เอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้แล้ว
ตรงนี้สะท้อนอะไรบางอย่างในกระบวนการตรวจสอบทุจริต กระบวนการยุติธรรมของไทยหรือไม่ อย่างไร
เพราะคดีในลักษณะนี้ น่าจะใช้ พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องอาญา เพื่อขอเอกสารที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว แต่เท่าที่ผ่านมาก็ไม่น่าจะบังคับใช้ได้จริง แม้แต่การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ก็ประสบผลสำเร็จน้อยมาก ที่สำคัญกฏหมายนี้ก็ไม่มีการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแต่อย่างใด ?
ดังนั้นคงต้องรอผลการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน-คดีดังกล่าวข้างต้นเป็นเครื่องพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ของกฏหมายไทยว่า จะล่าตัวคนทุจริตมาเอาผิดได้ตอนไหน !