“การลงทุนด้านสังคม” มองให้ไกลกว่าเรื่อง ให้-บริจาค
สังคมไทยวันนี้ พอพูดถึงการลงทุน หลายท่านไปนึกถึงธุรกิจที่ต้องหวังผลออกมาในรูปตัวเงิน ขณะที่การลงทุนทางสังคม คือ การหวังผลให้สังคมดีขึ้น เป็นความสุขใจ และวัดผลได้
บ่อยครั้งเราจะเห็น คำประกาศเชิญชวน ร่วมทำบุญ บริจาค ทั้งในรูปตัวเงิน และสิ่งของ หรืออย่างเหตุการณ์อุทกภัยน้ำท่วมภาคใต้ล่าสุด ก็มีการขอรับบริจาคช่วยน้ำท่วม ได้ทั้งบุญ ได้ทั้งสิทธิลดหย่อนภาษี เป็นต้น
เมื่อเร็วๆ นี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เปิดผลการศึกษา "โครงการศึกษาการลงทุนด้านสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภาคีสุขภาวะ" โดยพบว่า แม้ประเทศไทยมีตัวเลขเงินบริจาคเพื่อการกุศล โดยเฉลี่ยปีละ 7,000 ล้านบาท และยังมีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลผ่านกองทุนด้านสังคม ได้แก่ กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม กองทุนคุ้มครองเด็ก กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กองทุนผู้สูงอายุ และกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับเด็กพิการ ซึ่ง 5 กองทุนดังกล่าว ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลในปีงบประมาณ 2559 จำนวน 453 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.02 ของงบประมาณทั้งหมดจำนวน 2.72 ล้านล้านบาท แต่ก็ยังมีปัญหาการใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ และยังไม่มากพอ จำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมลงทุน
“การบริจาค” นับเป็นการทำการกุศลแบบเก่าของสังคมไทย ขณะที่ “การลงทุนด้านสังคม” (Social Investment) ถือเป็นแนวโน้มใหม่ของโลกที่กำลังเกิดขึ้นและก่อเกิดผลดีต่อสังคม
“การลงทุนด้านสังคม” นิยามมองไกลกว่าเรื่องของการให้โดยไม่หวังผล ซึ่งการลงทุนด้านสังคมของประเทศจึงไม่ได้หมายความแค่ “ทุน” ที่หมายถึง “เงิน” แต่ยังหมายถึงทุนประเภทอื่น เช่น ทุนมนุษย์ หรือทุนความรู้ ตลอดจนทุนทางสังคมด้วย
ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้ให้เห็นความแตกต่าง ระหว่าง การลงทุนด้านสังคม (Social Investment) กับการบริจาค
"ในอดีตเราคุ้นชินกับการบริจาค การให้เพื่อการกุศล แต่การลงทุนเพื่อสังคมเราจะนึกถึงผลตอบแทน ซึ่งก็คือ ผลลัพธ์ทางสังคมที่จับต้องได้ ทำให้สังคมดีขึ้นและยั่งยืน ฉะนั้น การหวังผลทางสังคมไม่ควรมองในแง่ร้ายเสมอไป การหวังผลให้สังคมเราดีขึ้นก็คือการหวังผลแล้ว
สังคมไทยวันนี้ พอพูดถึงการลงทุน หลายท่านไปนึกถึงธุรกิจที่ต้องหวังผลออกมาในรูปตัวเงิน ขณะที่การลงทุนทางสังคม คือ การหวังผลให้สังคมดีขึ้น เป็นความสุขใจ และวัดผลได้”
ขณะที่หลายคนยังอาจสงสัยว่า ทำไมสังคมไทยต้องการการลงทุนด้านสังคม นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ผู้ศึกษาและวิจัยรูปแบบการลงทุนเพื่อสังคม พบว่า
1.ภาครัฐมีทรัพยากร (คน เงิน ของ) จำกัด
2.มาตรการรัฐ ก็ทำแบบตัดเสื้อตัวเดียวใช้เหมือนกันหมด (one size fits all) ทั้งๆที่ปัญหาทางสังคมเกิดกับกลุ่มคนที่ต่างกัน ก็ต้องการมาตรการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน
3.สังคมไทยยังเน้นการให้บริจาค การกุศล หวังได้บุญ
และ 4.องค์กรการกุศลมีมากมายและต่างคนต่างทำ กระจัดกระจาย
ทั้งยังค้นพบ ประเด็นปัญหาสังคม มีตั้งแต่ "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน"
- ปฐมวัย มีปัญหาแม่วัยใส ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการและโภชนาการเด็ก
- ทุนการศึกษา ที่มีกระจัดกระจาย ไม่ต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาเลิกเรียนกลางคัน
- การศึกษาระดับอาชีวศึกษา พบปัญหานักเรียนตีกัน และปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือ
- กลุ่มผู้เปราะบางทางสังคม เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ติดยาเสพติด ผู้พ้นโทษ/ติดคุกซ้ำ
- คนพิการ ก็มีปัญหาการว่างงาน และขาดโอกาสทางสังคม
- แม้แต่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ก็จะมีปัญหาผู้ป่วยติดเตียง ขาดโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ทัศนคติของญาติและผู้ให้การพยาบาลที่ต้องการยื้อชีวิตเอาไว้ เป็นต้น
ดร.ณัฐนันท์ ได้ยกตัวอย่างถึงเรื่องการให้ทุนการศึกษา บ้านเราจะให้แบบครั้งเดียวจบ หรือไม่ก็ 1-2 ปีจบ ไม่ได้ให้ทุนการศึกษาแบบต่อเนื่อง ซึ่งการให้แบบนี้ ก็เป็นปัญหาเช่นกัน เพราะการลงทุนทางสังคมนั้น ต้องการเวลาเพื่อเห็นผล ไม่ใช่หยอดเงินแล้วจะเห็นผลทันที
อีกทั้ง ข้อค้นพบสำคัญเรื่องการให้ทุนการศึกษา คือ ยังขาดการติดตามตรวจสอบการให้ทุน และยังพบอีกว่า ทุนการศึกษายังคงมีไม่เพียงพอ (ทั้งมูลค่าและปริมาณ) บางแห่งเฉลี่ยทุนการศึกษาให้เด็กได้รับเกือบทั้งหมด ทุนที่ได้จึงน้อยไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกอย่าง หรือแม้แต่การบริหารจัดการทุนของผู้ให้ทุนที่ไม่โปร่งใส ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น ใช้จ่ายผิดวัตถุประสงค์ หักทุนบริจาคไปเป็นค่าใช้จ่ายของมูลนิธิ เป็นต้น
ส่วนกลุ่มเปราะบางทางสังคม ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ติดยาเสพติด ผู้พ้นโทษ/ติดคุกซ้ำดร.ณัฐนันท์ บอกว่า ยังคงพึ่งพิงอยู่กับการช่วยเหลือภาครัฐค่อนข้างเยอะ
พร้อมกับตั้งคำถามถึงสังคมไทย หากให้เลือกบริจาคให้ทุนการศึกษาเด็ก กับบริจาคให้ผู้ติดยาเสพติดไปบำบัด ท่านจะเลือกให้ใคร?
"ผมอยากจะบอกว่า กลุ่มคนเปราะบางทางสังคม ก็คือผลผลิตจากเด็กที่ออกจากการเรียนกลางคัน เด็กอาชีวะที่ไม่มีงานทำ ไม่มีคุณภาพ ฉะนั้น การช่วยเหลือทางสังคมก็ต้องนึกถึงคนกลุ่มนี้ด้วย”
แม้ปัจจุบันเมืองไทยมีองค์กรตัวกลาง และเวทีเชื่อมต่ออยู่บ้างแล้ว โดยเฉพาะในส่วนของทุนทรัพย์ และเริ่มมีการพัฒนากลไกและองค์กรเพื่อนเป็นตัวกลางในด้านทุนมนุษย์ และมีองค์กรตัวกลางเฉพาะด้าน เช่น การจ้างงานคนพิการ (มูลนิธินวัตกรรมสังคม) และการให้ทุนการศึกษา (มูลนิธิยุวพัฒน์)
แต่ดร.ณัฐนันท์ ก็ยังเห็นว่า ประเทศไทยยังขาด "องค์กรตัวกลาง" (Intermediary Organization) ในด้านทุนความรู้และทุนทางสังคม
"องค์กรตัวกลางมีหลายประเภทมาจากภาคธุรกิจ ภาคสังคม หรือภาครัฐก็ได้จะมุ่งเน้นทำงานเชิงประเด็นด้านเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ฯลฯ ก็ได้ หรือเชิงความเชี่ยวชาญ เช่น ด้านการพัฒนาแหล่งทุน ด้านอาสาสมัคร ด้านการจัดกระบวนการ ด้านสร้างเสริมศักยภาพ ด้านการสื่อสาร เป็นต้น
ยิ่งมีองค์กรตัวกลางทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพมาก ยิ่งช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศการลงทุนด้านสังคมของประเทศ เกิดผลลัพธ์ทางสังคมอย่างยั่งยืน
ขณะที่ “วาทนันทน์ พีเทอร์สิค” ผู้เขียนรายงานเรื่องการลงทุนเพื่อสังคม From charity to change มองว่า สังคมไทยควรเปลี่ยนทัศนคติจากการให้เพื่อบริจาค หรือเน้นการให้ มาเป็นการลงทุนทางสังคมเพื่อเห็นผล
พร้อมกันนี้ เธออยากเห็นภาพจากสื่อมวลชน โดยเปลี่ยนจากภาพการมอบเช็คใบใหญ่ๆ มาเป็นผู้รับทุนมารายงานผลจากงานที่ทำ "ประเทศไทยเวลาคุยเรื่องการลงทุนด้านสังคม มักจะมอบบทบาทไปที่รัฐบาล แต่หากดูตัวอย่างในต่างประเทศ จะพบว่า การลงทุนเพื่อสังคม มีน้อยประเทศมากที่รัฐบาลมีบทบาทโดยตรง"
ส่วนนายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย แสดงความเห็นด้วยว่า สังคมไทยต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมการลงทุนเพื่อแก้ปัญหาสังคมที่ก้าวไกลและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยกรอบความคิดเดิม หน้าที่แก้ไขปัญหาสังคมนั้น เรายังยกให้กับผู้ให้บริการทางสังคมที่ใหญ่ที่สุด คือรัฐ รองลงมา คือ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมถึงองค์กรรูปแบบใหม่ วิสาหกิจเพื่อสังคม และตัวบุคคล
"วันนี้ระบบความคิดของคนไทยต้องปรับ ปัญหาสังคมเป็นหน้าที่ของทุกคน ทุกหน่วยงาน รวมไปถึงภาคธุรกิจก็ไม่ควรตีกรอบหน้าที่ของตัวเองจำกัดเกินไป แค่เสียภาษี จ้างงาน แล้วละเลยหน้าที่ทางสังคม ส่วนองค์กรสาธารณะประโยชน์ ธุรกิจเพื่อสังคมก็ต้องปรับตัวเอง ให้ทำงานให้เกิดผลลัพธ์ขนาดใหญ่ เน้นการทำงานแบบสร้างการมีส่วนร่วมกับองค์กรต่างๆ"
ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย ชี้ว่า การบริจาคเพื่อสังคม ช่วยเหลือสังคม ความพึงพอใจเดิมๆ สบายใจดีใจสุขใจ วันนี้ไม่น่าเพียงพอแล้ว เราน่าจะหวังผลการให้ อยากให้ความสุขทวีคูณ ช่วยเด็กและเห็นเด็กไปตลอดรอดฝั่งได้ ช่วยโรงเรียน ก็อยากเห็นโรงเรียนเหล่านั้นบริหารงานอย่างยั่งยืนได้ หรือการช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติด ก็กลายเป็นตัวบวกของสังคมได้ ดูแลสิ่งแวดล้อมพลิกกลับมาเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดี เป็นต้น
เช่นเดียวกับนางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด และประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ผู้ร่วมก่อตั้ง กองทุนรวมคนไทยใจดี หรือ BKIND ก่อตั้งมาประมาณ 2 ปี ลงทุนในหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทสไทย โดยเฉพาะมีเกณฑ์การลงทุน ในบริษัทที่ผ่านเกณฑ์ความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม มีธรรมาภิบาล และการต่อต้านคอร์รัปชั่น (ESGC)
รวมถึง BKIND ยังสนับสนุนเงินร้อยละ 0.8 ของผู้ลงทุน หรือร้อยละ 40 ของค่าบริหารจัดการกองทุน นำไปพัฒนาโครงการเพื่อสังคมหรือสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ
"2 ปีที่ผ่านมาเงินที่ใส่ลงไปไม่ต่ำกว่า 25.5 ล้านบาท เราช่วยสังคมไปแล้ว 32 โครงการ แก้ปัญหาสังคมใน 9 ประเด็น และมีผู้รับประโยชน์ทางตรง 13,843 คน หรือ 829,634 คนหากโครงการดำเนินงานแล้วเสร็จ "
นางวรวรรณ ยังได้ยกตัวอย่างผลตอบแทนที่ไม่ใช่ตัวเงิน ในปีแรก สามารถเปลี่ยนพื้นที่บุกรุกป่าจากการทำไร่ข้าวโพด 579 ไร่ ให้กลับมาเป็นป่า คนได้รับประโยชน์ก็คือชาวบ้าน, เกษตรกร 20 คนพ้นจากภาวะยากจน ด้วยการปลูกข้าวอินทรีย์,เกษตรกร 50 คน ฝึกปฏิบัติพร้อมคืนถิ่นไปทำเกษตรในถิ่นตนเอง,เด็กมัธยมต้น 200 คน มีผลการเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ดีขึ้น,ครู 62 คน มีความรู้สอนเด็กให้มีปัญญารอบด้าน หรือแม้แต่ผู้ป่วยติดเตียงติดบ้าน 317 คนได้รับการดูแลถึงบ้าน ควบคู่กับการบริการทางการแพทย์ เป็นต้น
นางวรวรรณ บอกว่า วันนี้เราคนไทยไม่สามารถพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐบาล ได้ในทุกๆ เรื่อง เช่น เหตุการณ์น้ำท่วม เกิดทีคนก็มาย้อนคิดเกิดเพราะอะไร ทำไมแก้ไขไม่ได้ เกิดทุกปี ถกเถียงกันไป แต่ส่วนหนึ่งเป็นการกระทำของมนุษย์เอง ซึ่งไม่มีรัฐบาลไหนช่วยคนทั้งประเทศได้ทั้งหมด ฉะนั้นอยากให้สังคมดีเราต้องลงมือทำเองด้วย
"คนไทยเป็นคนใจบุญอยู่แล้ว เราบริจาคให้วัดในประเทศไทย 90% เราลองมาคิดการลงทุนเพื่อสังคมบ้างไหม แบบนี้สังคมก็จะดีขึ้นได้เช่นกัน" นางวรวรรณ ระบุ และเห็นว่า การลงทุนเพื่อสังคม แม้แต่บางสำนักข่าวดีๆ อย่างสำนักข่าวอิศรา เปิดโปงข้อเท็จจริง เขาจะมีศัตรูเป็นรัฐบาลทุกยุค ซึ่งไม่มีการสนับสนุนที่เพียงพอ แบบนี้เราอาจสนับสนุนได้ โดยผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการ และติดตามผล เพื่อให้เงินที่เราลงทุนทางสังคมไปให้ถูกที่
สำหรับผลการศึกษา "โครงการศึกษาการลงทุนด้านสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภาคีสุขภาวะ" พบว่า
1.การพัฒนาระบบการศึกษาระดับปฐมวัยของประเทศไทย : ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพัฒนาการศึกษาระดับปฐมวัยของประเทศเกิดความอย่างยั่งยืน คือ การมีส่วนร่วมกับท้องถิ่น ทั้งผู้บริหารท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และเอกชนในท้องถิ่น ตลอดจนความสามารถและความมุ่งมั่นของผู้บริหารศูนย์เด็กเล็ก ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการสร้างกลไกในการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนให้เข้ามาสนับสนุนศูนย์เด็กเล็กให้ตรงกับความต้องการ รวมทั้งมีกระบวนการพัฒนาบุคลากรของศูนย์เด็กเล็กเพื่อสร้างครูพี่เลี้ยงที่มีประสิทธิภาพต่อไป
2.การให้ทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียน : ทุนการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กนักเรียน แต่ไม่เพียงพอกับความต้องการของเด็กด้อยโอกาสประมาณ 4.8 ล้านคน มีเด็กนักเรียนออกกลางคันในรอบ 5 ปี ประมาณ 8.4 หมื่นคน
นอกจากนี้ ทุนการศึกษายังต้องพึ่งพิงเงินบริจาคที่มีความไม่แน่นอนตามสภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งขาดการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ดังนั้น จึงเสนอให้บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคสังคมและภาคเอกชนร่วมกัน รณรงค์การให้ทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เชื่อมโยงกับปัญหาอื่นๆ ของเด็ก จัดตั้งองค์กรตัวกลางเพื่อพัฒนาระบบและประสานงานระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้อง และพัฒนามาตรการและกลยุทธ์ในการให้และการระดมทุนการศึกษา
3.อาชีวศึกษาทวิภาคี : ประเทศไทยยังขาดกรอบการกำกับดูแลและประกันคุณภาพระบบอาชีวศึกษาทวิภาคีที่สามารถบังคับใช้ได้จริง เพราะกลไกที่มีอยู่ยังขาดความรัดกุมและมีต้นทุนธุรกรรมสูง ขาดมาตรการจูงใจให้สถานประกอบการและผู้เรียน การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงจำเป็นต้องอาศัย องค์กรตัวกลาง ที่เกิดจากความร่มมือภาคเอกชนเข้ามาทำหน้าที่บริหารระบบ โดยเสนอให้ออกพระราชบัญญัติจัดตั้ง สภาส่งเสริมการศึกษาทวิภาคี เพื่อทำหน้าที่องค์กรตัวกลาง ที่มีรูปแบบเป็นหน่วยงานเอกชนลักษณะพิเศษ
4.การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีตราบาปทางสังคม: ผู้ที่มีตราบาปทางสังคม (ผู้พ้นโทษ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ติดยาเสพติด) เป็นกลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือจากภาคสังคมน้อยกว่ากลุ่มผู้ด้อยโอกาสอื่นๆ ทำให้ขาดโอกาสและกลับเข้าสู่วงจรเดิม ขณะที่หน่วยงานและองค์กรที่ช่วยเหลือมีข้อจำกัดทางด้านเงินทุนและบุคลากร อีกทั้งยังขาดความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคสังคม ดังนั้น จึงเสนอให้บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคสังคมและภาคเอกชนในการดำเนินมาตรการเพื่อช่วยกลุ่มผู้มีตราบาปกลับสู่สังคม ผ่านการสนับสนุนองค์กรภาคสังคมในการพัฒนาระบบการช่วยเหลือผู้มีตราบาปทางสังคมให้มีประสิทธิภาพต่อไป
5.การให้ความช่วยเหลือด้านอาชีพแก่ผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ : ร้อยละ 56 ของผู้พิการวัยทำงานไม่ประกอบอาชีพทั้งๆ ที่มีความสามารถที่จะทำได้ สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจเกือบ 32,000 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากส่วนใหญ่มีการศึกษาแค่ประถมศึกษาหรือต่ำกว่าและขาดทักษะในการทำงาน รวมทั้งไม่สามารถปรับตัวเพื่อร่วมกับผู้อื่น จึงเสนอให้หาองค์กรตัวกลางในการจ้างงาน และสร้างอาชีพให้แก่ผู้พิการ รวมถึงปรับปรุงปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการเพื่อให้สามารถนำเงินกองทุนฯ ไปช่วยเหลือผู้พิการได้มากขึ้น
6.การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง : (Palliative Care) ถือเป็นทางเลือกในการรักษาเพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมาน ทำให้ผู้ป่วยได้ตายอย่างสงบโดยวิถีแห่งธรรมชาติ แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในสังคมไทย ดังนั้นจึงควรปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ป่วยและญาติ รวมทั้งแพทย์และผู้ให้บริการสาธารณสุขว่าการรักษาให้ถึงที่สุดอาจไม่ใช่ทางออกที่ดี การให้ความรู้กับประชาชนทั่วไปและบุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิในการทำพินัยกรรมชีวิต (Living Will) รวมทั้งบรรจุหลักสูตรภาคปฏิบัติดังกล่าวเข้าไปในการเรียนการสอนคณะแพทย์ พยาบาล เภสัช และสังคมตลอดจนปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาระงับปวด เป็นต้น
ที่มาภาพ:http://khonthaifoundation.org/