3,417 ล้าน! ผลประเมินมูลค่าปัจจุบันสินบนโรลส์รอยส์ ฉบับ ม.รังสิต
"...อยากให้เอากรณีสินบนโรลส์รอยส์มาเป็นตัวอย่างของการปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างในรัฐวิสาหกิจและระบบราชการให้สำเร็จเป็นรูปธรรมโดยขอเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการภายนอกที่เป็นกลาง เป็นอิสระ ไม่มีส่วนได้เสีย ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมสอบสวนในกรณีดังกล่าวและทำความจริงให้ปรากฎแก่สาธารณชน..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2560 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป คณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ได้เปิดเผยผลประเมินมูลค่าปัจจุบันของสินบนโรลส์รอยส์และความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคม
โดยจากการประเมินมูลค่าปัจจุบันของสินบนโรลส์รอยส์ในเบื้องตัน พบว่า มีมูลค่าปัจจุบันโดยรวมจากการให้สินบนและการทุจริตคอร์รัปชันสามครั้งโดยรวมประมาณเท่ากับ 3,417 ล้านบาท (กรณีแรกใช้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 5% คำนวณ) เท่ากับ 2,780 ล้านบาท (กรณีที่สอง ใช้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 4%) หรือเท่ากับ 2,263 ล้านบาท (กรณีที่สาม ใช้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 3%)โดยทั้งสามกรณีใช้อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ 32-35 บาทต่อดอลลาร์ มูลค่าปัจจุบันของสินบนที่ระดับ 2,263-3,417 ล้านบาท นี้ จะเห็นได้ชัดว่า ความเสียหายและมูลค่าสินบนสูงสุดอยู่ในยุครัฐบาลรัฐประหาร รสช ในปี พ.ศ. 2534-2535 อยู่ที่ประมาณ 1,386-2,248 ล้านบาท
ตารางแสดงคำนวณมูลค่าปัจจุบันสินบนโรลล์รอยส์
ช่วงที่จ่ายสินบน | จำนวนเงินตอนที่เกิดเหตุการณ์ |
2559 value (อัตราดอกเบี้ยนโยบายเฉลี่ยที่ 3.0%)* |
2559 value (อัตราดอกเบี้ยนโยบายเฉลี่ยที่ 4.0%)* |
2559 value (อัตราดอกเบี้ยนโยบายเฉลี่ยที่ 5.0%)* |
2534-2535 (25 ปีถึงปัจจุบัน) |
USD 18.8 mil. (663 ล้านบาท) |
663 x 2.09 = 1,386 ล้านบาท |
663 x 2.67 = 1,770 ล้านบาท |
663 x 3.39 = 2,248 ล้านบาท |
2535-2540 (20 ปีถึงปัจจุบัน) |
USD 10.38 mil. (336 ล้านบาท) |
336 x 1.81 = 608 ล้านบาท |
336 x 2.19 = 736 ล้านบาท |
336 x 2.65 = 890 ล้านบาท |
2547-2548 (2 ปีถึงปัจจุบัน) |
USD 7.2 mil. (254 ล้านบาท) |
254 x 1.06 = 269 ล้านบาท |
254 x 1.08 = 274 ล้านบาท |
254 x 1.10 = 279 ล้านบาท |
รวม | 2,263 ล้านบาท | 2,780 ล้านบาท | 3,417 ล้านบาท |
แหล่งที่มา: ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป คณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต (ประมาณการเบื้องตัน)
ดร. อนุสรณ์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต ระบุว่า "การติดสินบนเช่นนี้และการทุจริตจะเห็นได้ว่า กรณีสินบนโรลส์รอยส์นี้เป็นกรณีตัวอย่างสะท้อนว่า การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ยังเกี่ยวข้องกันนักการเมืองแต่งตั้งโดยอำนาจรัฐประหารด้วย เกี่ยวข้องกับผู้นำกองทัพ เกี่ยวข้องกับข้าราชการระดับสูงและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจและบอร์ดรัฐวิสาหกิจอีกด้วย กรณีนี้เป็นเพียงรัฐวิสาหกิจเดียวเท่านั้นที่ถูกตรวจสอบและเผยแพร่ข้อมูลโดย สำนักงานปราบปรามการทุจริตของอังกฤษ (Serious Freud Office (SFO) ผมและประชาชนผู้เสียภาษีทั้งหมดและผู้เป็นเจ้าของประเทศนี้ต้องขอขอบพระคุณ สำนักงานปราบปรามการทุจริตของอังกฤษ (Serious Freud Office (SFO) เป็นอย่างสูง และ ขอขอบคุณสื่อมวลชนทุกแห่งที่ได้ทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่ต้องถูกตรวจสอบ สอบสวนและนำเข้ามาสู่การกระบวนการยุติธรรมและยึดทรัพย์ต่อผู้กระทำความผิด
ตนในฐานะ อนุกรรมการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง ที่ทำหน้าที่มาหลายรัฐบาลขอเรียนว่า กรณีการบินไทยไม่ใช่กรณีเดียวอย่างแน่นอนที่มีการติดสินบนการจัดซื้อจัดจ้างเช่นนี้ อาจกล่าวได้ว่า การจัดซื้อจัดจ้างไม่ต่ำ 60%-70% ของรัฐวิสาหกิจหลายแห่งมีปัญหาเช่นนี้ การติดสินบนหรือคอร์รัปชันในลักษณะนี้ได้ทำกันจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติปรกติ เป็นที่เอือมระอาของบรรดานักธุรกิจและนักลงทุนทั้งหลายที่ไม่เห็นด้วยกับระบบอันฉ้อฉลนี้"
ดร.อนุสรณ์ ยังกล่าวอีกว่า การติดสินบนเช่นนี้และการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นเสมอ และ หลายกรณีก็ไม่ปรากฏว่าเอาผิดใครได้ ทั้งกรณี CTX กรณีการจัดซื้ออาวุธ การรั่วไหลจากการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร เป็นต้น ระบบราชการและรัฐวิสาหกิจจึงซื้อของไม่มีคุณภาพและราคาแพง ให้ประเทศและประชาชนได้มาใช้ บางทีความเสียหายจากการดำเนินการในลักษณะนี้มากมายกว่าความเสียหายทางการเงินเพราะมันหมายถึง ต้นทุนค่าเสียโอกาสของประเทศ การบิดเบี้ยวของการพัฒนา ปัญหาต่างๆในการจัดซื้อที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน ทำให้ผู้ปฏิบัติงานในระบบราชการและรัฐวิสาหกิจเสียชีวิตหรือไม่ปลอดภัย กิจการหรือบริษัทดีๆที่ไม่ยอมจ่ายสินบนบางแห่งถึงขั้นล้มละลาย ต้องเลิกจ้างพนักงานทำให้เกิดปัญหาการว่างงานอีก ภาคเอกชนไทยก็จะลงทุนทางด้านวิจัยและสร้างนวัตกรรมน้อยแต่จะใช้เงินไปสร้างสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจ ข้าราชการระดับสูงในหลายกรมก็ไปเป็นที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เอื้อประโยชน์ให้กันโดยไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล การแต่งตั้งอธิบดีบางกรมต้องผ่านความเห็นชอบกับกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่รับสัมปทานจากรัฐก่อน ระบบแบบนี้ สั่นคลอนระบบคุณธรรมในระบบราชการ คนดีมีความรู้ความสามารถขาดโอกาสในการเข้ามาอยู่ในตำแหน่งที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้ดีขึ้นได้
ส่วนต่างค่าคอมมิสชั่นหรือสินบนไปอยู่ในกระเป๋าของผู้มีอำนาจทั้งในระบบรัฐวิสาหกิจ ระบบราชการและระบบการเมืองทั้งแบบแต่งตั้งโดยรัฐประหารหรือเลือกตั้งก็ตาม
ขณะที่ภาคเอกชนที่ได้งานไปก็จะนำการจ่ายสินบนคิดเป็นเป็นต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ บางแห่งจ่ายผ่านบริษัทที่ปรึกษาก็คำนวณเป็นต้นทุนเช่นเดียวกัน ไม่มีเอกชนรายใดยอมขาดทุน ก็จะไปลดคุณภาพของที่ส่งมอบให้ราชการ ทำให้ราชการได้ของใช้คุณภาพต่ำหรือบางทีใช้ไม่ได้ก็มี เช่น กรณีโกงกล้ายาง ความเสียหายของธนาคารรัฐหลายแห่ง กรณีจัดสร้างโรงพัก กรณีทุจริตโครงการไทยเข้มแข็ง กรณีรับจำนำข้าว กรณีการสร้างถนนที่ชำรุดเร็วมากๆ กรณี GT200 กรณีเรือเหาะ กรณีอุทยานทราชภักดิ์ กรณีอุปกรณ์ทางการแพทย์คุณภาพต่ำ โกงนมโรงเรียน โกงอุปกรณ์การศึกษา เป็นต้น การจัดซื้อของคุณภาพต่ำราคาแพงไม่ได้ส่งผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น โดยเฉพาะการทุจริตคอร์รัปชันในแวดวงการศึกษาทำให้เรามีทรัพยากรมนุษย์ที่อ่อนแอมาก ไม่สามารถเป็นความหวังสำหรับอนาคตของสังคมไทยได้
จึงเป็นเรื่องเศร้ามากๆสำหรับประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชันประมาณปีละ 120,000-400,000 ล้านบาท (ตัวเลขจาก หอการค้าไทย) ที่ต้องกู้เงินมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจทั้งที่บางโครงการไม่ต้องกู้หากสามารถลดหรือหยุดการทุจริตคอร์รัปชันได้สัก 50% ของมูลค่าคอร์รัปชันและมูลค่าสินบนที่มีอยู่ในสังคมไทย ขณะเดียวกัน เราจะมีงบประมาณมากขึ้นในการดูแลระบบการศึกษาไทยให้มีคุณภาพ เอกชนไทยอยู่ในสภาวะที่สามารถปรับเพิ่มเงินเดือนให้พนักงานและค่าแรงขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงานแรกเข้าให้เพียงพอต่อการดำรงชีพได้สบาย รัฐไม่ต้องมีแรงกดดันทางการเงินการคลังแล้วต้องไปหาวิธีในการตัดสวัสดิการด้านต่างๆโดยเฉพาะสวัสดิการในการรักษาพยาบาลของประชาชน เป็นต้น
ดร. อนุสรณ์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตและมีข้อเสนอแนะ ต่อ คณะกรรมการ ปยป ว่า ในฐานะที่เคยทำหน้าที่ ประธานโครงการปฏิรูปประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี (ปี พ.ศ. 2548-2549) คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ปี 2553 แต่งตั้งโดยรัฐสภาจากการเลือกตั้ง) ว่า ขอสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการ ปยป ที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการสร้างความปรองดองอย่างแท้จริงนั้นต้องอาศัยการปฏิรูปเชิงโครงสร้างด้วยเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งบางเรื่องมีรากเหง้ามาจากปัญหาความขัดแย้งเชิงโครงสร้างซึ่งต้องอาศัยการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง และเห็นด้วยกับประเทศที่ต้องมียุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อกำหนดเป้าหมายทิศทางให้ชัดเจนแต่ต้องเป็นยุทธศาสตร์ที่เกิดจากการปรึกษาหารือและคิดร่วมกัน และขอเรียกร้องให้มีการสร้างความปรองดอง กำหนดยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปบนหลักการประชาธิปไตยซึ่งต้องเปิดกว้าง ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ยึดหลักเหตุผลและสันติธรรม เป็นไปตามหลักนิติรัฐนิติธรรม นิรโทษกรรมนักโทษทางความคิดและทางการเมืองที่ไม่ได้กระทำผิดอาญา
นอกจากนี้ อยากให้เอากรณีสินบนโรลส์รอยส์มาเป็นตัวอย่างของการปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างในรัฐวิสาหกิจและระบบราชการให้สำเร็จเป็นรูปธรรมโดยขอเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการภายนอกที่เป็นกลาง เป็นอิสระ ไม่มีส่วนได้เสีย ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมสอบสวนในกรณีดังกล่าวและทำความจริงให้ปรากฎแก่สาธารณชน
ข้อมูลการจ่ายสินบนโรลส์-รอยซ์สามครั้งใหญ่ในช่วงเวลา 26 ปีที่ผ่านมา
(แหล่งข้อมูล: สรุปข้อมูลจากสื่อมวลชน)
ครั้งที่ ๑ เกิดขึ้นในการจัดซื้อ ระหว่างวันที่ ๑ มิ.ย.๒๕๓๔ - ๓๐ มิ.ย.๒๕๓๕
โรลส์-รอยซ์ จ่ายค่านายหน้าคนกลางให้หน่วยงานหนึ่งเป็นเงิน ๑๘.๘ ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว ๖๖๓ ล้านบาท) และเงินดังกล่าวมีการนำไปให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานของการบินไทย เพื่อช่วยให้โรลส์-รอยซ์ ชนะการเสนอขายดังกล่าว
ครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๑ มี.ค.๒๕๓๕ - ๓๑ มี.ค.๒๕๔๐
โรลส์-รอยซ์ จ่ายเงิน ๑๐.๓๘ ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว ๓๓๖ ล้านบาท) ให้นายหน้าคนกลาง ซึ่งนำเงินดังกล่าวบางส่วนไปให้พนักงานการบินไทย
ครั้งที่ ๓ เกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๑ เม.ย.๒๕๔๗ - ๒๘ ก.พ.๒๕๔๘
โรลส์-รอยซ์ จ่ายเงินให้กับคนกลาง ๗.๒ ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว ๒๕๔ ล้านบาท) ซึ่งมีเงินบางส่วนตกไปสู่เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานของการบินไทย
โฟกัสมาที่ประเทศไทย การซื้อขายเครื่องยนต์รุ่น T-๘๐๐ เพื่อติดตั้งในเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง ๗๗๗ ของการบินไทยมีการจ่ายเงินสินบน จำนวน ๓ ครั้ง รวม ๑,๒๒๓ ล้านบาท