หญิงไทยกลุ่มแรกได้กลับบ้าน...อุทาหรณ์ถูกลวงขายแรงงาน – นายหน้าลอยนวล!
หญิงสูงอายุ 12 คนจาก 21 คนที่ถูกกักตัวเป็นพยานในคดีค้ามนุษย์ที่รัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ และเดินทางกลับถึงภูมิลำเนาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว เมื่อช่วงเย็นของวันพฤหัสบดีที่ 19 ม.ค.60
หญิงไทย 12 คนที่ได้กลับมาตุภูมิเป็นกลุ่มแรก คือ น.ส.สะละมา บาโล, นางลีหม๊ะ เจะโด, นางลิเยาะ สุหลง, นางฮาสือนะ อาแว, นางรอเมาะ เดหล่ำ, นางกอยะห์ กาเจมูซอ, น.ส.ลีเมาะ สาและ, นางกอรีเยาะ สาแม, นางคอบเสาะ ลาเต๊ะ, น.ส.ฮามีด๊ะ สาและ, นางเจะมือลอ เจะลี และ นางปิอะ เจะหะ
เจ้าหน้าที่มาเลเซียได้พาหญิงไทยทั้ง 12 คนมาส่งที่ด่านพรมแดนด้าน อ.สะเดา จ.สงขลา โดยมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นำโดย พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ ศอ.บต. ไปรอต้อนรับ ก่อนจะพาส่งภูมิลำเนาทุกคน
พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีเจ้าหน้าที่เดินทางไปเยี่ยมเยียนแต่ละครัวเรือน เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านอาชีพ ซึ่ง ศอ.บต.และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่กำลังขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่ทำเกษตรกรรม สร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อไม่ให้พี่น้องในพื้นที่ต้องข้ามประเทศไปทำงานในต่างแดนแบบนี้อีก
นางกอยะห์ กาเจมูซอ หนึ่งใน 12 หญิงไทยที่ได้กลับบ้าน เล่าว่า ไปขายของ 2 วันก็ถูกจับ เถ้าแก่ไม่ยอมรับว่ารู้จักกัน ส่วนภรรยาเถ้าแก่อ้างว่าหาพวกเราไม่เจอ ไม่รู้ถูกจับไว้ที่ไหน พวกเราก็ต้องต่อสู้กันเอง ยังดีที่ขึ้นศาลเสร็จ เจ้าหน้าที่บอกว่าจะได้กลับบ้านก็รู้สึกดีใจมาก
“ออกจากศูนย์ควบคุมที่รัฐยะโฮร์ตอนเที่ยงคืน ถึงด่าน 8 โมงเช้า เจ้าหน้าที่มาเลเซียมาส่งถึงด่าน และเจ้าหน้าที่ ศอ.บต.ไปรับพาส่งบ้าน”
นางฮามีด๊ะ สุหลง หนึ่งในหญิงไทยอีกคนที่ได้กลับบ้าน บอกว่า ดีใจมาก หลังจากนี้จะไม่ไปไหนแล้ว ขอเลี้ยงหลานอยู่ที่บ้าน สิ่งที่เจอถือว่าโชคชะตากำหนด
ภายใต้รอยยิ้มและบรรยากาศอบอุ่น ยังมีข่าวร้ายซ่อนอยู่ คือ ฮามีด๊ะ ต้องสูญเสียสามีไปขณะที่เธอถูกกักตัวอยู่ที่มาเลเซีย เพราะสามีตรอมใจที่ติดต่อเธอไม่ได้ คิดว่าเธอจะเป็นอันตราย แต่เธอยังไม่ทราบเรื่องนี้
นายมะสาดี สุหลง ลูกชายของฮามีด๊ะที่เดินทางมารับแม่ บอกว่า คำแรกที่แม่ถามเมื่อเจอกันคือ พ่อไม่ได้มาด้วยหรือ พ่อไปไหน ตนพยายามกลั้นน้ำตาไม่ให้ไหลออกมา และบอกว่าพ่ออยู่บ้าน ยังไม่อยากให้แม่รู้ตอนนี้
“ผมขอขอบคุณ ศอ.บต. ขอบคุณนักข่าวที่เสนอข่าวจนทำให้รัฐบาลทราบถึงปัญหา รู้สึกดีใจอย่างบอกไม่ถูกที่แม่กลับมา แต่ก็ยังนึกไม่ออกว่าหลังจากที่แม่ทราบข่าวว่าพ่อตายไปแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปกับครอบครัว เราสูญเสียมากพอแล้ว เสียทั้งเงิน 7หมื่นบาทที่นายหน้าเรียกไป และยังเสียพ่อ ยังดีที่วันนี้เราได้แม่กลับมา ขอภาวนาอย่าให้แม่ตกใจจนเป็นอะไรไปอีกคน” มะสาดี กล่าว
ย้อนกลับไปช่วงที่เรื่องนี้ถูกเปิดเผย เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ปีที่แล้ว “ทีมข่าวอิศรา” ได้รับการติดต่อจากครอบครัวของ 21 หญิงสูงอายุ ขอให้ช่วยหาตัวหญิงทั้งหมด เนื่องจากเดินทางไปขายข้าวเกรียบที่ประเทศมาเลเซียตามคำชักชวนของนายหน้า และไม่ได้ติดต่อกลับมาอีกเลย
“ทีมข่าวอิศรา” ได้ประสานไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รองหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “ครม.ส่วนหน้า” ให้ช่วยติดตาม จนผ่านมา 2 วันจึงพบว่าหญิงทั้งหมดถูกกักตัวเป็นพยานในคดีค้ามนุษย์ของทางการมาเลเซียอยู่ในบ้านพักฉุกเฉิน เมืองยะโฮร์บารู เมืองหลวงของรัฐยะโฮร์ จึงได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือ
ระหว่างรอการพิจารณาคดี เจ้าหน้าที่ไทยได้เข้าเยี่ยมหญิงไทยที่บ้านพักฉุกเฉินรวม 3 ครั้ง คือวันที่ 15, 22 และ 30 พ.ย.
ครอบครัวและญาติของหญิงไทยได้ร้องเรียนกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่าถูกข่มขู่เรียกเงินจากกลุ่มนายหน้า โดยอ้างว่าจะนำเงินไปช่วยเหลือ 21 หญิงไทย แต่กลับไม่ได้ไปช่วยเหลือจริงๆ ชาวบ้านบางรายต้องสูญเงินเพิ่มขึ้นไปอีก ทีมข่าวฯจึงได้ลงพื้นที่พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พาครอบครัวของหญิงทั้งหมดไปแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มนายหน้า
บทสรุปของคดีนี้ ทางฝั่งมาเลเซียได้ดำเนินคดีกับชาย 2 คนที่เป็น “ผู้นำพา” หญิงไทยทั้ง 21 คนเข้าไปทำงานผิดกฎหมาย อันเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ แม้ว่าทนายความของทั้งสองคนจะพยายามยื่นประกันตัว แต่ศาลไม่อนุญาต ทำให้ขณะนี้ชายทั้งสองถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำในรัฐยะโฮร์ กระบวนการทั้งหมดใกล้เสร็จสิ้น และหญิงไทยทั้งหมดได้ทะยอยให้การในฐานพยาน
แต่คดีทางฝั่งไทยที่มีการแจ้งความเอาไว้กลับไม่มีความคืบหน้า มีแต่การพยายามโยนลูกกันไปมาของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง บ้างก็ว่าผู้ที่เข้าแจ้งความเป็นเพียงญาติ ไม่ใช่ตัวผู้เสียหายโดยตรง บ้างก็ว่าคดีค้ามนุษย์ ต้องให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ หรือ ปคม.รับผิดชอบเท่านั้น ซึ่งล้วนไม่เป็นความจริง
สิ่งสำคัญที่สุดคือท่าทีของ ศอ.บต.ที่ยืนกรานมาตลอดว่ากรณีนี้ไม่เข้าข่ายการค้ามนุษย์
ล่าสุด นายศุภณัฐ สิรีนทวิเนติ เลขาธิการ ศอ.บต.ก็ยังยืนยันคำเดิม
“พวกเขาเป็นพยาน ไม่ใช่เหยื่อ เพราะกฏหมายเรากับกฎหมายมาเลเซียต่างกัน ของเราไปด้วยความสมัครใจ ถือว่าไม่ได้เป็นเหยื่อ"
เป็นที่น่าสังเกตว่า ถ้อยคำในเอกสารข่าวของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่เผยแพร่เรื่องนี้ ก็ใช้ถ้อยคำที่ไม่สอดคล้องกับท่าทีของ ศอ.บต.
“หญิงไทยทั้ง 12 คนเป็นส่วนหนึ่งของหญิงไทยสูงอายุจำนวน 21 คนที่ถูกนายหน้าชักจูงไปขายข้าวเกรียบบังหน้าการขอทานในรัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย จนถูกทางการมาเลเซียควบคุมตัว เมื่อวันที่ 27 ก.ย.59 และถูกกันตัวไว้เป็นพยานเพื่อดำเนินคดีกับนายหน้าดังกล่าว”
“สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศมาเลเซียได้ให้ความช่วยเหลือหญิงไทยทั้ง 21 คนในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของทางการมาเลเซีย โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ นอกจากนั้น ยังติดตามและอำนวยความสะดวกในกระบวนการพิจารณาคดี เพื่อให้หญิงไทยทั้งหมดได้กลับบ้านโดยเร็ว”
“ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศมาเลเซียกำลังติดตามกับทางการมาเลเซียอย่างใกล้ชิดเพื่อให้หญิงไทยอีก 9 คนได้รับการปล่อยตัวและเดินทางกลับประเทศไทยต่อไป”
เป็นเนื้อหาส่วนหนึ่งของเอกสารข่าว
เอกสารยังอ้างคำสัมภาษณ์ของ นายดำรง ใคร่ครวญ เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศมาเลเซียว่า “ทางการมาเลเซียได้ดำเนินคดีกับนายหน้าในความผิดตามกฎหมายการค้ามนุษย์ของมาเลเซีย ซึ่งถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการแสวงหาประโยชน์ด้วยการเอารัดเอาเปรียบผู้เสียหาย และมีโทษคือจำคุกไม่เกิน 15 ปี หญิงไทยทั้ง 21 คนถูกกันตัวไว้เป็นพยานในชั้นศาล โดยต้องอยู่ในการควบคุมของทางการมาเลเซียถึงกว่า 3 เดือนจึงได้กลับบ้าน โดยสภาพความเป็นอยู่ก็ไม่ได้สะดวกสบาย และหลายคนก็มีปัญหาด้านสุขภาพ ดังนั้นจึงขอแนะนำประชาชนทั่วไปไม่ให้หลงเชื่อ หากถูกชักชวนให้เข้ามาทำงานในมาเลเซียในลักษณะดังกล่าว”
นี่คือมาตรฐานที่แตกต่างกันของการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งๆ ที่พฤติการณ์ค้ามนุษย์เป็นความผิดสากลที่ทั่วโลกต้องการขจัดให้หมดไป
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : หญิงที่ไปตกระกำลำบากในมาเลเซียพากันร่ำไห้หลังหมดทุกข์หมดโศกได้กลับสู่อ้อมกอดของครอบครัว