ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพประชุมความมั่นคงอาหาร 20 ปท. ร่วมลดคนอดอยาก
รมว.เกษตรฯ เผยคนอดอยากหิวโหยจากราคาอาหารโลกพุ่งร้อยละ 65 ผลพวงเพิ่มประชากร- พืชพลังงาน – ภัยพิบัติ เตรียมเป็นเจ้าภาพประชุม ASEM ความมั่นคงอาหาร กว่า 20 ชาติยืนยันเข้าร่วม หวังเกิดความร่วมมือแก้ปัญหา
เมื่อเร็วๆ นี้ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 6 (Asia-Europe Meeting : ASEM 6) เมื่อปี 2549 มีการรับรองปฏิญญาเฮลซิงกิ ได้มีการบรรจุชื่อประเทศไทยเป็นแกนนำเรื่องความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ซึ่ง กษ.ได้ตอบรับ และแจ้งยืนยันในการประชุมผู้นำ ASEM ครั้งที่ 7 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการ 4 ปี (พ.ศ. 2552 - 2555) โดยไทยจะจัดการประชุมความมั่นคงอาหารในกรอบเอเชีย-ยุโรป (ASEM High-Level Conference on Food Security) ระหว่างวันที่ 9-11 พ.ค. 54 โรงแรมแชงกรีล่าเมือง จ.เชียงใหม่
“ครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่ประเทศสมาชิก รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศกว่า 20 แห่งจะมาร่วมแลกเปลี่ยนตลอดจนเสนอแนะแนวทางการในการกำหนดกรอบความร่วมมือเรื่องความมั่นคงด้านอาหารที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น และยังทำให้ประเทศ ASEM รู้จักประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก” รมว.กษ. กล่าว
นายธีระ กล่าวต่อไปว่า ความมั่นคงทางอาหารส่งผลกระทบถึงกันทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา เป็นประเด็นที่ท้าทายประชาคมโลกที่ต้องร่วมมือแก้ไขอย่างจริงจัง โดยแถลงการณ์การประชุม “High Level Meeting on Food Security for All” โดยรัฐบาลสเปน, สหประชาชาติ (ยูเอ็น) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ระบุกรอบการทำงานร่วมกันว่าทุกประเทศควรดำเนินนโยบายแบบบูรณาการเพื่อให้ประชากรสามารถเข้าถึงอาหารได้ โดยให้มีการแก้ไขปัญหาร่วมกันในทุกภาคส่วน และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ครอบคลุม
รมว.กษ. กล่าวด้วยว่า ปัญหาวิกฤติอาหารปรากฏชัดจากราคาอาหารโลกที่เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 65 ระหว่างปี 2549 - 2551 ส่งผลกระทบทำให้ประชากรโลกมีคนอดอยากหิวโหยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยสาเหตุสำคัญประกอบด้วยความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการเพิ่มของประชากร และการขยายตัวของเศรษฐกิจเกิดใหม่, การนำธัญพืชไปผลิตพลังงานชีวภาพ, ปริมาณผลผลิตอาหารลดลงเนื่องจากผลกระทบจากการผันผวนและแปรปรวนสภาพภูมิอากาศก่อให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ นำไปสู่การขาดแคลนอาหาร
“นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับการเพิ่มขึ้นของราคาปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ปุ๋ยเคมี และสารเคมีการเกษตร รวมทั้งการเปลี่ยนพฤติกรรมของนักลงทุนหันมาเก็งกำไรในตลาดซื้อขายสัญญาสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าแทนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และยังมีการลงทุนซื้อหรือเช่าที่ดินระยะยาวในการปลูกพืชอาหารหรือพืชพลังงานในต่างประเทศอีกด้วย” นายธีระ กล่าว