กางมาตราเกี่ยวกับการรับสนองพระบรมราชโองการใน รธน.ไทย ก่อน รบ.แก้
เปิดครบรัฐธรรมนูญ-ธรรมนูญการปกครองตั้งแต่ปี 2475-ฉบับผ่านประชามติล่าสุด กางมาตราเกี่ยวกับการรับสนองพระบรมราชโองการ ก่อนนายกฯทูลเกล้าฯถวายขอรับพระราชทานลงมาแก้ไขตามพระราชกระแสรับสั่ง
เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทูลเกล้าฯถวายขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ เพื่อลงมาแก้ไขตามพระราชกระแสรับสั่งแล้ว โดยตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2560 บัญญัติว่า ต้องดำเนินการให้เสร็จและทูลเกล้าฯถวายใหม่ภายใน 30 วัน
(อ่านประกอบ : ทูลเกล้าฯขอรับร่าง รธน.ลงมาแก้-ใช้ ม.44 ตั้ง ป.ย.ป. 3 เดือนปรองดองได้ข้อยุติ)
สาระสำคัญในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ที่มีการเปิดเผยจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และหนึ่งในคณะกรรมการพิเศษแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า จะมีการแก้ไขในมาตรา 5 มาตรา 17 และมาตรา 182 โดยทั้งหมดเกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ยืนยันว่า จะไม่แตะต้องในประเด็นการเมือง หรือสิทธิเสรีภาพแต่อย่างใด
(อ่านประกอบ : ตั้ง กก.พิเศษแก้ร่าง รธน.ใหม่ ใช้คนจากกฤษฎีกา-'วิษณุ'ยันไม่แตะการเมือง, ‘วิษณุ-มีชัย-บวรศักดิ์-พรเพชร-อสส. -ปธ.ศาลฎีกา’นั่ง กก.พิเศษแก้ร่าง รธน.ใหม่)
อย่างไรก็ดี หากนับเฉพาะมาตรา 182 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ที่ร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำโดย ‘เนติบริกรครุฑ’ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พบว่า มีเนื้อหาแตกต่างกับรัฐธรรมนูญฉบับเก่า ๆ อยู่บางถ้อยคำ
อย่างไร ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นับตั้งแต่ปี 2475-ฉบับล่าสุด พบรายละเอียด ดังนี้
สำหรับประเด็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา ถูกบรรจุไว้ในหมวด คณะรัฐมนตรี แต่อาจบัญญัติในมาตราที่แตกต่างกัน ได้แก่
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ อยู่ในมาตรา 182 บัญญัติว่า บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ
ให้ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการทั้งปวงบรรดาที่ได้รับสนองพระบรมราชโองการ
(อ่านประกอบ : http://bit.ly/1MxQ1gK)
รัฐธรรมนูญปี 2550 อยู่ในมาตรา 195 บัญญัติว่า บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้
รัฐธรรมนูญปี 2540 อยู่ในมาตรา 232 บัญญัติว่า บทกฎหมายที่ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วหรือถือเสมือนหนึ่งว่าได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาโดยพลัน
รัฐธรรมนูญปี 2534 อยู่ในมาตรา 185 บัญญัติว่า บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใด ๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้
รัฐธรรมนูญปี 2521 อยู่ในมาตรา 168 บัญญัติว่า บัญญัติว่า บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใด ๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้
ธรรมนูญการปกครองปี 2520 (คณะรัฐประหาร นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่) อยู่ในมาตรา 28 บรรดาบทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใด อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
รัฐธรรมนูญปี 2519 อยู่ในมาตรา 22 บัญญัติว่า บรรดากฎหมาย พระราชหัตถเลขาและพระบรมราชโองการใดอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
รัฐธรรมนูญปี 2517 อยู่ในมาตรา 201 บัญญัติว่า บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใด ๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้
ธรรมนูญการปกครองปี 2515 (คณะรัฐประหาร นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร) อยู่ในมาตรา 18 บัญญัติว่า บรรดากฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใด ๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
รัฐธรรมนูญปี 2511 อยู่ในมาตรา 156 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 13 มาตรา 18 มาตรา 112 มาตรา 117 และมาตรา 170 วรรคสอง บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใด ๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
(มาตรา 13 เกี่ยวกับการแต่งตั้งองคมนตรี มาตรา 18 เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มาตรา 112 สมาชิกรัฐสภาใช้สิทธิเข้าชื่อร้องขอพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ มาตรา 117 เกี่ยวกับการตราร่างพระราชบัญญัติ)
ธรรมนูญการปกครองปี 2502 (คณะรัฐประหาร นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) อยู่ในมาตรา 18 บัญญัติว่า บรรดาบทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใด ๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
รัฐธรรมนูญปี 2492 อยู่ในมาตรา 160 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 14 มาตรา 18 มาตรา 82 มาตรา 85 มาตรา 116 มาตรา 140 และมาตรา 174 บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขาและพระบรมราชโองการใด ๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
(มาตรา 14 เกี่ยวกับการแต่งตั้งองคมนตรี มาตรา 18 เกี่ยวกับการแต่งตั้ง/ถอดถอนข้าราชการในพระองค์ มาตรา 82 และ 85 เกี่ยวกับการทรงแต่งตั้ง ส.ว. มาตรา 116 สมาชิกรัฐสภาใช้สิทธิเข้าชื่อร้องขอพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ มาตรา 140 เกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี โดยมีประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ มาตรา 174 พระราชอำนาจให้ประชาชนออกเสียงประชามติเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ)
รัฐธรรมนูญปี 2490 อยู่ในมาตรา 87 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 56 และมาตรา 74 บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขาและพระบรมราชโองการใดอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีคนหนึ่งลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
(มาตรา 56 สมาชิกรัฐสภาใช้สิทธิเข้าชื่อร้องขอพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ มาตรา 74 เกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี โดยมีประธานคณะอภิรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ)
รัฐธรรมนูญปี 2489 อยู่ในมาตรา 79 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 48 และมาตรา 66 บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขาและพระบรมราชโองการใดอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีคนหนึ่งลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ
(มาตรา 48 สมาชิกรัฐสภาใช้สิทธิเข้าชื่อร้องขอพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ มาตรา 66 เกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี โดยมีประธานพฤฒสภาและประธานสภาผู้แทนเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ)
รัฐธรรมนูญปี 2475 อยู่ในมาตรา 57 บัญญัติว่า ภายในบังคับแห่งมาตรา 32 และ 46 บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใด ๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ท่านว่ารัฐมนตรีนายหนึ่งต้องลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ
(มาตรา 32 สมาชิกรัฐสภาใช้สิทธิเข้าชื่อร้องขอพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ มาตรา 46 เกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี โดยมีประธานแห่งสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ)
(อ่านรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ได้ที่นี่ : http://bit.ly/2jvfOwv)
ทั้งหมดคือสาระสำคัญเกี่ยวกับการรับสนองพระบรมราชโองการในรัฐธรรมนูญ-ธรรมนูญการปกครอง ไม่ว่าจะมาจากรัฐบาลพลเรือน หรือรัฐบาลคณะรัฐประหารในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเกือบ 85 ปีที่ผ่านมา
ท้ายสุดคณะกรรมการพิเศษแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้งหมดเป็นกรรมการกฤษฎีกาคณะต่าง ๆ ในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และเป็น ‘ซือแป๋’ ด้านกฎหมายเมืองไทย จะแก้ไขถ้อยคำออกมาเป็นอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป
อ่านประกอบ :
มติ สนช.เอกฉันท์โหวตผ่าน 3 วาระรวดแก้ รธน.ชั่วคราว เปิดช่องแก้ รธน. ใหม่
พระราชกระแสรับสั่งให้แก้ รธน. ใหม่หมวดพระมหากษัตริย์-เข้าวาระ สนช. 13 ม.ค.
หมายเหตุ : ภาพประกอบรัฐธรรมนูญจาก oknation