แผนการปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
วันที่ 17 มกราคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแผนการปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้
1. แผนแม่บทพัฒนาระบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คค. โดย ขบ. ได้จัดทำแผนแม่บทฯ (พ.ศ. 2560 – 2564) เพื่อรองรับการถ่ายโอนการกำกับดูแลรถโดยสารประจำทางจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็น ขบ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (27 กันยายน 2559) ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2526 (เรื่อง นโยบายการเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร) ที่กำหนดให้ ขสมก. เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเส้นทางที่เชื่อมติดต่อระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการเพียงรายเดียว โดยแผนแม่บทฯ มีวิสัยทัศน์คือ “ระบบรถโดยสารประจำทางต้องเป็นโครงข่ายหลักของการเดินทางในเขตเมืองที่มีคุณภาพและเป็นทางเลือกที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ทั้งด้านความครอบคลุม ความสะดวกสบาย และความปลอดภัยของประชาชน” ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) การปรับเปลี่ยนระบบการจัดสรรเส้นทางการเดินรถ 2) การจัดตั้งองค์กรเพื่อกำกับดูแลการบริหารจัดการการเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 3) การเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ 4) การพัฒนาการกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพ และ 5) การจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนแนวทางแผนแม่บทพัฒนาระบบโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
2. แผนการปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสารปรำจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจในการประชุมครั้งที่ 14/2559 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 ได้มีมติมอบหมายให้ ขบ. ดำเนินการศึกษาแผนการปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2559 และรายงานผลการศึกษาดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ ซึ่ง ขบ. ได้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิรูปเส้นทางเดินรถและบรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทฯ (ตามข้อ 1) แล้ว
ทั้งนี้ การปฏิรูปเส้นทางฯ ตามแผนแม่บทฯ จะทำให้แต่ละเขตการเดินรถมีจำนวนเส้นทางที่เพิ่มขึ้นและมีความครอบคลุมมากขึ้น โดยในภาพรวมเส้นทางจะเพิ่มขึ้นจาก 202 เป็น 269 เส้นทาง และมีระยะทางเพิ่มขึ้นจาก 6,437 กิโลเมตร เป็น 7,833 กิโลเมตร ระยะทางเฉลี่ยต่อเส้นทางปรับลดลง 3 กิโลเมตร