แผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้
วันที่ 17 มกราคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อ (ร่าง) แผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. 2560 - 2564 เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
2. เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อเป็นกลไกผลักดันการขับเคลื่อนและบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สาระสำคัญของเรื่อง
วธ. รายงานว่า วธ. ได้จัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ. 2560 - 2564 ตามนโยบายรัฐบาล เนื่องจากได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพประชากรผ่านการอ่าน แสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และปลูกฝังผ่านมิติทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นวิธีที่เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย เริ่มจากครอบครัวชุมชนและสังคม โดยการหลอมรวมเข้ากับแนวทางวิถีการดำเนินชีวิต ค่านิยม ประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ และเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาคนและสังคมไทยมาช้านาน โดยมี 4 ยุทธศาสตร์หลัก ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ปลูกสร้างพฤติกรรมรักการอ่านที่เข้มแข็งให้กับคนทุกช่วงวัย เพื่อให้คนไทยทุกช่วงวัยมีทัศนคติที่ดีและตระหนักถึงประโยชน์ของการอ่านและมีนิสัยรักการอ่านและแสวงหาความรู้มากขึ้น
ยุทธศาสตร์ที่ 2 อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสื่อการอ่านของประชาชนทั้งในชุมชนเมืองและภูมิภาค เพื่อให้ประเทศไทยมีแหล่งเรียนรู้และสื่อการอ่านทั้งในรูปแบบที่มีความหลากหลายสามารถเข้าถึงได้อย่างง่าย สะดวก ทั่วถึงและไม่จำกัดเวลาและสถานที่
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับคุณภาพแหล่งเรียนรู้และสื่อการอ่านเพื่อการเรียนรู้ เพื่อให้ประเทศไทยได้มีแหล่งเรียนรู้และสื่อการอ่านเพื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ มีความทันสมัยและสามารถให้บริการแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง
ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมการอ่าน เพื่อการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของชุมชน/สังคมให้เอื้อต่อการส่งเสริมการอ่าน โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วม มีกลไกขับเคลื่อนและมีการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ มีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธานกรรมการ โดยมีรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และเลขาธิการสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม
อำนาจหน้าที่
1) กำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนวัฒนธรรมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ของประเทศไทย
2) พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนงาน/โครงการบูรณาการที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน
3) กำหนดแนวทางหรือมาตรการเพื่อผลักดันให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐกับภาคเอกชนหรือประชาสังคมในการขับเคลื่อนการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านของประเทศไทย
4) กำกับ ติดตาม ประสานงาน สนับสนุน และเร่งรัดการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน และรายงานผลการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ
5) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ/คณะทำงานเพื่อดำเนินการใด ๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
6) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย