วิพากษ์โครงการระเบิดแก่งน้ำโขง ไทยมีแต่เสีย ชุมชนล่มสลาย ระบบนิเวศพัง!
วิพากษ์ โครงการระเบิดเกาะแก่งลุ่มน้ำโขงไทยมีแต่เสีย ทั้งเม็ดเงิน ระบบนิเวศ ชุมชน นักวิชาการย้ำ การพัฒนาที่ดีต้องไม่มีใครเสีย ไม่ว่าคน สัตว์ สิ่งแวดล้อม
ก่อนขึ้นขึ้นปีใหม่เพียง 5 วัน คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในวันที่ 27 ธ.ค.2559 ต่อแผนพัฒนาฯ เพื่อเปิดทางให้เรือพาณิชย์ระวางน้ำหนัก 500 ตัน ล่องจากประเทศจีนไปยังท่าเรือหลวงพระบาง ประเทศลาว
ซึ่งต่อมากลุ่มอนุรักษ์เชียงของและเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ( thaimekongpeople in 8 provinces) ออกแคมเปญรณรงค์ชื่อ "ยุติโครงการระเบิดแก่ง ปกป้องผืนดินไทย รักษาระบบนิเวศมรดกทางธรรมชาติ" โดยขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติและยกเลิกมติครม.เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 อันจะไปนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้ “แม่น้ำโขงกลายเป็นคลอง” เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนไทย ปกป้องระบบนิเวศอันทรงคุณค่าของภูมิภาค และมีความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกเพื่อให้เป็นมรดกทางธรรมชาติของลูกหลาน
ต่อมาในวันที่ 9 ม.ค.2560 สื่อหลายสำนักรายงานคำให้สัมภาษณ์ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กล่าวตอนหนึ่งถึงทรัพยากรในลุ่มน้ำโขงว่า "เรื่องของทรัพยากรก็หมดมาตั้งแต่ข้างบนแล้ว ปัญหาวันนี้น้ำข้างบนที่จะไหลลงมาข้างล่างก็ยังไม่พอเลย อยากถามว่าแล้วประมงพื้นบ้านหาเงินได้วันละเท่าไร น้ำมันตื้นขนาดนี้จะหาเงินได้เท่าไร"
ถัดจากนั้นเพียงวันเดียว พลเอกประยุทธ์ ก็ได้ออกมาชี้แจงประเด็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงว่า อยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ถึงการดำเนินการ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งการดำเนินการจะต้องปรึกษาหารือกับประเทศสมาชิกเพื่อนบ้านเพื่อหาทางออกร่วมกัน กับประเทศสมาชิก 4-5 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่จะมีผลต่อเขตแดนของประเทศ รัฐบาลจะไม่ไปตกลงกับใครเรื่อยเปื่อยอย่างแน่นอน
ขณะที่นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยกับเว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ถึงแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง พ.ศ.2558-2568 เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะสามารถลดต้นทุนการขนส่งได้ประมาณ 10 เท่า เมื่อเทียบกับการขนส่งทางบก พร้อมกับย้ำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่ควรวิตกมากเกินไป เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังคงอยู่ในระยะเริ่มต้น ต้องใช้เวลาสำรวจถึง 1 ปี ซึ่งทางการไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่และนักวิชาการหลายฝ่ายร่วมประชุมกับจีนเพื่อวางแผนการสำรวจและพัฒนาพื้นที่โดยให้กระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
ล่าสุด มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดเสวนา “เวทีวิพากษ์โครงการระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขง” เพื่อชี้ว่า หากมีการดำเนินโครงการฯ นี้จริงๆ ใครจะได้ ใครจะเสียบ้าง
นางเพียรพร ดีเทศน์ ผอ.ฝ่ายรณรงค์ประเทศไทย องค์การแม่น้ำนานาชาติ ได้ตั้งข้อสังเกตน่าสนใจต่อคำสัมภาษณ์จากทางภาครัฐว่า ตั้งแต่มีมติ ครม. พบว่า ตัวนายกฯเองไม่ได้มีข้อมูลที่ชัดเจน คำถามคือตกลงแล้วโครงการนี้ใครชง ซึ่งคิดว่าเจ้าของต้นเรื่องซึ่งน่าจะเป็นกรมเจ้าท่า
เธอยังพบข้อน่าสังเกตอีกอย่างจากคำให้สัมภาษณ์ เทียบกับโครงการอื่นๆ อย่างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่กรมเจ้าท่ามีข้อมูลพร้อมมากกว่า แต่พอถามในประเด็นของโครงการตัวนี้ กลับตอบได้ไม่ชัดเจนเท่าที่ควร
นางเพียรพร มองถึงการพัฒนาในลุ่มน้ำโขงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างเขื่อนทั้งในจีน ลาว กัมพูชา รวมไปถึงโครงการที่จะมีการอำนวยความสะดวกในการเดินเรือสินค้าขนาดใหญ่ผ่านลำน้ำโขง ซึ่งแน่นอนว่า ส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศในแม่น้ำ
"แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติมีความหลากหลายรองจากแม่น้ำอเมซอน ทั้งยังเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญที่สุดในโลก โดยมีการจับปลาน้ำจืดได้มากถึง 1.9-4 ล้านตันต่อปี"
ที่ผ่านมาการสร้างเขื่อนของจีนและในลาวทั้ง เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง เขื่อนปากแบง นางเพียรพร ชี้ว่า ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสัตว์น้ำ รวมถึงระบบนิเวศทั้งหมดของลุ่มน้ำโขง โดยปัญหาหลักๆ คือทำให้จำนวนของปลาลดลงอย่างเห็นได้ชัดราว 7-1.4 ล้านตันปี หรือร้อยละ 60 ต่อปีที่จับได้
ฉะนั้น ที่ผ่านมา การก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นลำน้ำไม่เคยมีการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนเลย ทั้งๆ ที่มีคนที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำแห่งนี้กว่า 2 ล้านคน ได้รับผลกระทบโดยตรง รวมถึงไม่เคยรัฐบาลในประเทศไหนเลยที่มีความกล้าหาญในการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ด้าน ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการด้านประมง ระบุว่า วันนี้การขนส่งสินค้าจากจีนเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียนใช้เส้นทาง R3A สามารถขนส่งจากยูนานมาถึงท่าเรือคลองเตยได้ภายในเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งเร็วมากและสะดวกกว่ามาก
"ดังนั้นการส่งสินค้าทางเรือยังจำเป็นอยู่หรือไม่ หากเทียบกับการสิ่งที่ต้องสูญเสียไป นักวิชาการด้านประมง" เขาตั้งเป็นคำถาม "เฉพาะแค่การสร้างเขื่อนต่างๆ กั้นลำน้ำก็ส่งผลรุนแรงเเล้ว หากยังระเบิดเกาะแก่งซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลของปลาโดยเฉพาะปลาบึก ซึ่งใกล้สูญพันธ์ุ รวมไปถึงแหล่งสำคัญของนกน้ำคือสันดอน เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ จะมีนักดูนกทั่วโลกมาดู มีความสำคัญต่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ นกบางตัวหายากเป็นนกอพยพ อย่างนกแอ่นทุ่งเล็กที่จะมาทำรังบนทรายปนกรวดในช่วงแล้ง สมมติเขื่อนปล่อยน้ำลงมา ประชากรนกรุ่นใหม่ก็สูญหายไปเลย"
เรื่องแบบนี้นักพัฒนาบอกว่า ไม่สำคัญ ตรงกันข้ามกับ นักวิชาการด้านประมง มองว่า แม้ไม่ได้มีผลต่อเศรษฐกิจก็ตาม แต่อย่าลืมว่า การพัฒนาที่ดีต้องไม่มีใครเสียผลประโยชน์ กลับกันวันนี้ มีแต่เห็นแก่ได้ การพัฒนาลุ่มน้ำโขง ถือเป็นการพัฒนาที่ล้าหลัง
ด้านนายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านนา บอกว่า ในฐานะคนท้องถิ่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด ได้สร้างความตกใจให้กับคนในท้องถิ่น
"เราเคยมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ เวลาลงเรือไปหาปลา กลับบ้านมา ก็หาบปลากลับมา วันนี้เริ่มหายไป ตั้งแต่เริ่มมีโครงการขนาดใหญ่อย่างเขื่อน เป็นต้น"
เขายืนยันว่า เกาะแก่งไม่ได้มีแค่ก้อนหิน แต่มีพันธ์ุพืชที่เป็นอาหารและสมุนไพร เมื่อแม่น้ำโขงโดยรวมเกิดการเปลี่ยนแปลง วิถีชีวิตของคนก็เปลี่ยนไป ช่วงเวลาหาปลาได้มากที่สุดคือ ฤดูแล้ง เมื่อปลาหายไปจากแม่น้ำ ต้องไปหางานอย่างอื่นทำ ไปใช้แรงงานในเมือง
"เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ทำให้คนในท้องถิ่นสูญเสียความเป็นตัวเอง เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจ โครงการระเบิดแก่ง ยิ่งทำให้คนที่อยู่ในท้องถิ่น ทุกข์ร้อนใจ ชาวบ้านคงไม่สามารถต่อต้านโครงการยักษ์ใหญ่ได้ ถ้ามีการระเบิดเกาะแก่ง ทำลายระบบนิเวศโขงตลอดเส้นทาง 800กว่ากิโลเมตร ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของปลาและพืช 200 ชนิด นกอีก 17 ชนิด ที่สำคัญเมื่อมีการปรับปรุงเกาะแก่งเเล้วก็มีข้อห้ามด้วยว่า ต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง ต้องไม่มีการวางตาข่ายดักปลา ไม่มีกิจกรรมในลุ่มน้ำ"
นี่จึงถือว่า เป็นการทำลายชุมชนลงอย่างสิ้นเชิง ความมั่นคงของคนลุ่มน้ำโขง หากชาวบ้านไม่มีสามารถประกอบอาชีพได้ คนท้องถิ่นก็ไม่มีความมั่นคง หากท้องถิ่นไม่มี ชาติจะเจริญได้อย่างไร นายสมเกียรติ ฝากไว้ให้คิด
ด้าน ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ให้มุมมองถึงการค้าขายบริเวณพรมแดนไทยจีนตอนใต้ โดยตัวเลขการซื้อขาย การค้าระหว่างประเทศผ่านชายแดนในปี2558 รวมกันอยู่ที่ 1.14 ล้านล้านบาท ในส่วนของบริเวณด่านเชียงแสนด่านเชียงของ อยู่ที่ 35,217ล้านบาทหรือคิดเป็น 3 % เท่านั้น
"แนวโน้มการที่ส่งออกจีนลดลง แต่กลายเป็นนำเข้าเพิ่มขึ้น หากดูมูลค่าการค้า บอกได้เลยว่าไม่มีความจำเป็นในการสร้างขนส่งทางเรือ เพราะถ้าหากเราส่งออกทางเรือต้องคำนวนความคุ้มค่าด้วยว่า ส่งออก นำเข้าเท่าไรถึงจะคุ้ม และสินค้าอะไรที่ส่งออกผ่านด่านพวกนี้ จำเป็นต้องใช้เรือหรือไม่"
นอกจากนี้ นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ ยังชี้ว่า วันนี้ไทยจะเป็น 4.0 เราบอกไม่อยากแค่ขายข้าว ขายยางอย่างเดียว หมายความคือขายของที่เล็กขายนวัตกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นของพวกนี้จำเป็นต้องใช้เรือขนาดใหญ่ขนหรือไม่ ขณะที่ตอนนี้เรายังตอบไม่ได้เลยว่าประโยชน์คืออะไร ต้นทุนเท่าไร ผลตอบแทนแค่ไหน แต่จะมาศึกษาเส้นทางเดินเรือแล้ว
จากข้อมูลที่ได้รับมาจากทางรัฐบาลของไทยก็ยังไม่มีความชัดเจนมากนักว่าผลประโยชน์ที่จะได้กลับมาคือสิ่งใด อีกทั้งการวางเส้นทางเดินเรือก็มาจากประเทศจีนเป็นหลัก
“นโยบายที่ดีต้องฟังเสียงคนในพื้นที่ ต้องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการฯ นี้หากลองพิจารณาทั้งสามด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องเม็ดเงิน สิ่งแวดล้อม ชุมชน จะเห็นได้ว่าเราเสียมากกว่าได้ เพราะคนที่ได้เต็มๆ คือจีน” ดร.เสาวรัจ กล่าวสรุปตอนท้าย
สำหรับการดำเนินงานในการสำรวจและระเบิกแก่งหินในลุ่มน้ำโขง ซึ่งมี บริษัท CCCC Second Habor Consultant ซึ่งได้รับสัมปทานจากทางการจีน โดยในเฟสแรกดำเนินการมาเเล้วตั้งแต่ปี 2002-2004 พัฒนาปรับปรุง 11 แก่ง ยกเว้นดอนผีหลง
ปัจจุบันท่าเรือในเขตแม่โขงใน 4 ประเทศมีทั้งหมด 15 แห่ง ส่วนการพัฒนาระยะที่ 2 จะมีงานสำรวจโครงการระยะทาง 631 กิโลเมตร จากพรมแดนประเทศพม่า-ลาว 31 กิโลเมตร ช่วงในเขตแดน 234 กิโลเมตร ส่วนพรมแดนไทยลาว 96 กิโลเมตร ยังไม่ได้รับการอนุมัติ ในลาวลงถึงหลวงพระบาง 270 กิโลเมตร ที่ผ่านมาได้ทำการศึกษาทางวิศวกรรม สำรวจปลา ระบบนิเวศ โดยการดำเนินการตามระเบียบของแต่ประเทศอย่างเคร่งครัด แต่บริษัทยังไม่ได้ดำเนินการในไทย
ทั้งนี้แม้ว่าครม.จะมีมติเห็นชอบให้มีการศึกษาในโครงการฯดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่คำถามที่หลายฝ่ายกังวลนอกเนือจากการล่มสลายของวิถีชีวิตและระบบนิเวศแล้ว นั่นคือ มติดังกล่าวเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญของไทย เนื่องจากยังไม่มีการพิจารณาผ่านสภา ทั้งยังเป็นการละเมิดข้อตกลงของแม่น้ำโขง ปี 2538 เพราะแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ
อ่านประกอบ
ดร.เดชรัต ยันแม่น้ำโขง มีความหลากหลายชีวภาพอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก
ขอบคุณภาพประกอบจาก
ดร.ชวลิตวิทยานนท์