เปิดคำวินิจฉัย ก.พ.ค.ชี้‘อำพล’ ตั้งผู้บริหารสมัยอยู่ ป.ป.ท.ไม่ชอบด้วย กม.
“…นายอำพล แต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งระดับ ผอ.สำนัก โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากตำแหน่งดังกล่าวตามคุณสมบัติ ก.พ. แล้ว ไม่ได้มีแค่ข้าราชการ 2 ราย (นายศรัณย์ และนายนิทัศน์) แต่ยังมีอีกประมาณ 34 ราย ดังนั้นจึงควรเปิดให้มีการแข่งขัน นอกจากนี้นายอำพล ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอชื่อข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนัก อยู่แล้ว แต่กลับเข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯอีก จึงอาจชี้นำกรรมการรายอื่น ๆ ได้…”
สาธารณชนอาจทราบไปแล้วว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติชะลอการแต่งตั้งนายอำพล วงศ์ศิริ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ว่าที่เลขาธิการ กกต. ป้ายแดง ออกไปก่อน
เนื่องจากถูกตรวจสอบพบว่า ปรากฏชื่อเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาในชั้นการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ท. กรณีแต่งตั้งนายศรัณย์ รักษ์เผ่า และนายนิทัศน์ แสงวัฒนะ ให้ดำรงตำแหน่งระดับ ผอ.สำนัก โดยมิชอบ ตั้งแต่ปี 2554
โดยข้อกล่าวหาดังกล่าวคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เคยวินิจฉัยแล้วว่า การโยกย้ายดังกล่าวของนายอำพล เป็นการออกคำสั่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และสรรหาใหม่
(อ่านประกอบ : เปิดข้อกล่าวหา‘อำพล’ปมตั้งผู้บริหารสมัยอยู่ ป.ป.ท.ก่อนถูกเบรกนั่งเลขาฯ กกต., กกต.เบรกตั้งเลขาฯใหม่ เหตุถูก ป.ป.ช. สอบปมตั้งคนนั่ง ผอ.สมัยอยู่ ป.ป.ท.)
เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงมากยิ่งขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำความเห็นและมติของ ก.พ.ค. เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวมาเปิดเผย ดังนี้
ก.พ.ค. มีคำวินิจฉัย ตามการเสนอของคณะกรรมการร้องทุกข์ คณะที่ 4 ที่นำเสนอเรื่องดังกล่าว โดยตรวจกฎหมาย กฏระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง พิจารณาหลักฐานในสำนวน ฟังคำชี้แจงและคำอภิปรายของผู้ที่เกี่ยวข้อง และปรึกษาหารือกันแล้ว มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า การดำเนินการเพื่อออกคำสั่งดังกล่าว เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2554 เกี่ยวกับการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงให้ดำรงตำแหน่งระดับ ผอ.สำนัก ใน ป.ป.ท. ของนายอำพล ไม่ได้ดำเนินการตามรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการ และระเบียบกำหนดให้ต้องปฏิบัติอันเป็นสาระสำคัญ โดยมีเหตุผล ดังนี้
หนึ่ง นายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ กรรมการ ก.พ.ค. เห็นว่า การที่คณะกรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกและประเมินผลได้มีมติให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 เสนอรายชื่อข้าราชการผู้มีความเหมาะสมที่จะแต่งตั้งตำแหน่งละอย่างน้อย 3 ชื่อ ต่อคณะกรรมการฯ ต่อมาผู้มีอำนาจสั่งบรรจุคือ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. (นายอำพล) ได้เสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมที่จะแต่งตั้งตำแหน่งละ 3 ราย ให้คณะกรรมการพิจารณา
ทั้งที่มีข้อเท็จจริงว่า มีข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ จำนวนถึง 34 ราย ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งที่จะแต่งตั้งในแต่ละตำแหน่งได้ การดำเนินการของคณะกรรมการที่มีมติให้ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุ เสนอรายชื่อตำแหน่งละอย่างน้อย 3 ชื่อ ต่อคณะกรรมการฯ จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย เนื่องจากไม่มีกฎหมายที่ให้คณะกรรมการฯสามารถกำหนดจำนวนข้าราชการพลเรือนสามัญที่ส่วนราชการจะต้องเสนอให้คณะกรรมการฯพิจารณา รวมทั้งไม่มีกฎหมายที่ให้คณะกรรมการฯสามารถมอบอำนาจกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯไปให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดได้
การที่เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. (นายอำพล) อาศัยมติดังกล่าวส่งรายชื่อข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ ให้คณะกรรมการฯพิจารณาเพียงตำแหน่งละ 3 ราย ทั้งที่มีข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการถึง 34 ราย ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งที่จะแต่งตั้งในแต่ละตำแหน่งได้
การดำเนินการของเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. (นายอำพล) จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีอำนาจ รวมทั้งยังเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามสาระสำคัญของหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่กำหนดให้ส่วนราชการเสนอรายชื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน และอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งที่จะแต่งตั้งทุกคนต่อคณะกรรมการฯ และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติตามข้อย่อยที่ 6 ของข้อ ข. ของหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่กำหนดว่า “ส่วนราชการอาจกำหนดให้มีวิธีการอื่นเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาคัดเลือกและประเมินบุคคลด้วยก็ได้ เช่น การสอบ การประเมินจากผลการฝึกอบรม เป็นต้น” เนื่องจากการดำเนินการตามข้อย่อยที่ 6 ดังกล่าว จะต้องเป็นการดำเนินการในระบบเปิดที่มีการประกาศหลักเกณฑ์ให้ผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องทราบเป็นการล่วงหน้า ในลักษณะเช่นเดียวกับการสอบโดยทั่วไป
ดังนั้น คำสั่งสำนักงาน ป.ป.ท. เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2554 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ร้องทุกข์ของผู้ร้องทุกข์ฟังขึ้น
นายชั่งทอง มีความเห็นอีกว่า การที่นายอำพล มีหนังสือหารือเลขาธิการ ก.พ. ว่า มีความประสงค์จะรับโอนนายศรัณย์ รักษ์เผ่า ซึ่งสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม มาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักงานเลขาธิการ และหารือกรณีที่ประสงค์จะแต่งตั้งนายนิทัศน์ แสงวัฒนะ ให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ก็ดี ยังไม่เพียงพอให้ฟังว่า เป็นการดำเนินการแต่งตั้งโดยกำหนดตัวบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งไว้แล้ว
สอง นายศราวุธ เมนะเศวต ประธานกรรมการ ก.พ.ค. นางจรวยพร ธรณินทร์ นายภิรมย์ ศรีจันทร์ และนายภิรมย์ สิมะเสถียร กรรมการ ก.พ.ค. เห็นว่า นายอำพล อาจใช้ดุลพินิจในการพิจารณาเบื้องต้นว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดควรได้รับการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภท ผอ.ระดับต้น (ผอ.สำนัก) ในสังกัดสำนักงาน ป.ป.ท. ไม่ว่าจะโดยวิธีการโอน ย้าย หรือเลื่อน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องดำเนินการในภายหลังให้ถูกต้อง มีเหตุผล ตามที่กฏหมายของสำนักงาน ป.ป.ท. กำหนด
ที่ผ่านมาการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภท ผอ.ระดับต้น (ผอ.สำนัก) ด้วยวิธีการย้ายข้าราชการ แต่ก็ยังขาดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ซึ่งทำให้ผลการปฏิบัติงานของทั้ง 2 หน่วยงานที่ผ่านมาถือว่ายังไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
สำหรับการพิจารณาเลือกผู้ที่เหมาะสมเพื่อดำรงตำแหน่งที่ว่างลง 2 ตำแหน่งดังกล่าวในครั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากข้าราชการสำนักงาน ป.ป.ท. ซึ่งดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการพิเศษ ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ ก.พ. กำหนดในปัจจุบันแล้ว ปรากฏว่า ยังไม่มีผู้ที่มีความเหมาะสมหรือมีความเป็นมืออาชีพกับลักษณะงานของทั้ง 2 หน่วยงาน จึงต้องพิจารณาจากผู้ที่ดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการ และเคยดำรงตำแหน่งในระดับ 7 หรือเทียบเท่ามาแล้วรวมกันไม่น้อยกว่า 1 ปี ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่ ก.พ. กำหนด เพื่อหาผู้ที่มีความเป็นมืออาชีพ เพื่อมาดำรงตำแหน่งที่ว่างทั้ง 2 ตำแหน่งดังกล่าว
เมื่อพิจารณาจากคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. สรุปได้ว่า นายอำพล แต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งระดับ ผอ.สำนัก โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากตำแหน่งดังกล่าวตามคุณสมบัติ ก.พ. แล้ว ไม่ได้มีแค่ข้าราชการ 2 ราย (นายศรัณย์ และนายนิทัศน์) แต่ยังมีอีกประมาณ 34 ราย ดังนั้นจึงควรเปิดให้มีการแข่งขัน
นอกจากนี้นายอำพล ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอชื่อข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนัก อยู่แล้ว แต่กลับเข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกฯอีก จึงอาจชี้นำกรรมการรายอื่น ๆ ได้
ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงจากการสอบสวนของ ก.พ.ค.
ส่วนความคืบหน้ากรณีดังกล่าวที่ ป.ป.ช. ล่าสุด คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้สั่งให้นำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุม ในวันที่ 19 ม.ค. 2560 นี้แล้ว ภายหลังรับเรื่องมาไต่สวนยาวนานเกือบ 3 ปี
ผลจะเป็นอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด
อ่านประกอบ : ป.ป.ช.สั่งรวมข้อมูลคดี‘อำพล’ ปมตั้งผู้บริหารมิชอบ-ชงหารือที่ประชุมใหญ่
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก คมชัดลึก