ก.ล.ต. ติดตามสถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้และตั๋วบีอีอย่างใกล้ชิด
ก.ล.ต.ติดตามสถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้ตราสารหนี้อย่างใกล้ชิด พบว่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทจดทะเบียนและบริษัทนอกตลาดที่มีการผิดนัดคิดเป็นเพียง 0.03% ของจำนวนมูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ในระบบทั้งหมดซึ่งมีจำนวน 3.58 ล้านล้านบาท โดยเป็นตราสารหนี้ที่มิได้มีการจัดอันดับเครดิต (unrated) ที่เสนอขายได้เฉพาะในวงแคบต่อผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อยเท่านั้น ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการผิดนัดจึงมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับทั้งระบบ และอยู่ในกลุ่มผู้ลงทุนในวงจำกัด
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “กรณีการผิดนัดที่เกิดขึ้นแต่ละกรณีเกิดจากประเด็นเฉพาะของแต่ละบริษัท ดังจะเห็นได้ว่า บางกรณีเกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างผู้บริหาร บางกรณีเกิดขึ้นจากการบริหารจัดการสภาพคล่องที่ไม่มีประสิทธิภาพ สำหรับกองทุนรวมที่มีการลงทุนในตราสาร unrated และมีการผิดนัดชำระหนี้ก็เป็นกองทุนที่เสนอขายให้เฉพาะแก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย และจำกัดอยู่เฉพาะในบางบริษัทจัดการกองทุนเท่านั้น โดยมูลค่าตราสาร unrated ที่ผิดนัดชำระมีเพียง 368 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.34% ของ NAV ของกองทุนลักษณะดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่ได้ลุกลามต่อระบบ”
ทั้งนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างติดตามสถานะอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการดังนี้
สำหรับบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ unrated ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ระยะสั้น ก.ล.ต. ได้ขอความร่วมมือให้บริษัททำการประเมินสถานะทางการเงินและติดตามสภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด และจัดให้มีแหล่งเงินทุนสำรองในกรณีอาจประสบปัญหาด้านสภาพคล่องจากการไม่สามารถต่ออายุตราสารหนี้ระยะสั้นได้
สำหรับกรณีตัวกลางทางการเงินที่เป็นให้บริการแนะนำการลงทุนในตราสารหนี้ unrated และกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารดังกล่าว ก.ล.ต. กำชับให้ต้องอธิบายรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และจะต้องดำเนินการให้ผู้ลงทุนลงนามในแบบลงนามรับทราบความเสี่ยง
สำหรับกรณีบริษัทจัดการกองทุน ก.ล.ต. ได้กำชับให้ต้องระบุในชื่อกองว่าเป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย โดยให้มีข้อความอธิบายความเสี่ยงใต้ชื่อในทุกเอกสารประกอบการขาย และยังได้กำชับให้บริษัทจัดการกองทุนต้องจัดการลงทุนเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ลงทุน โดยต้องจัดให้มีระบบงานจัดการลงทุนตั้งแต่ขั้นตอนการจัดตั้งและบริหารจัดการกองทุน การติดต่อสื่อสารกับตัวกลางทางการเงิน ตลอดจนการติดตามดูแลผลการดำเนินงานของกองทุนที่ออกเสนอขายเพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีความเสี่ยงสอดคล้องกับผู้ลงทุนกลุ่มเป้าหมายด้วย
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ขอย้ำให้ผู้ลงทุนใช้ความระมัดระวังในการเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับฐานะทางการเงิน และความเสี่ยงที่ยอมรับได้