คลอดแล้ว ก.ม.ยาเสพติด เพิ่มช่องโทษใหม่ไม่ใช่ประหารอย่างเดียว
ก.ม.ยาเสพติดฉบับใหม่ เพิ่มช่องโทษกรณีจำหน่าย จากประหารอย่างเดียว เป็นปรับและจำคุกตลอดชีวิต อีกทั้งอนุญาตให้ศาลกำหนดโทษใหม่ สำหรับจำเลยที่พิพากษาโทษไปแล้ว หรือจำคุกเเล้ว
เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯโดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้รับสนองพระราชโองการให้ประกาศว่าโดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และให้ใช้ ความต่อไปนี้แทน “การผลิต นําเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณ ดังต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานว่าเป็นการผลิต นําเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย
(1) เด็กซ์โตรไลเซอร์ไยด์ หรือ แอล เอส ดี มีปริมาณคํานวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ศูนย์จุดเจ็ดห้า มิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จํานวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือมีน้ําหนักสุทธิ ตั้งแต่สามร้อยมิลลิกรัมขึ้นไป
(2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคํานวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อย เจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จํานวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือ มีน้ําหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป
(3) ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 นอกจาก (1) และ (2) มีปริมาณคํานวณเป็นสารบริสุทธิ์ ตั้งแต่สามกรัมขึ้นไป”
มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “การมียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ไว้ในครอบครองคํานวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ หนึ่งร้อยกรัมขึ้นไป ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย”
มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “การมียาเสพติดให้โทษในประเภท 4 หรือในประเภท 5 ไว้ในครอบครองมีปริมาณตั้งแต่ สิบกิโลกรัมขึ้นไป ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย”
มาตรา6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 65 ผู้ใดผลิต นําเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 อันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 15 ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สิบปีถึงจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทําเพื่อจําหน่าย ต้องระวางโทษจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการผลิตโดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุ ต้องระวางโทษ จําคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคสาม เป็นการกระทําเพื่อจําหน่าย ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สี่ปี ถึงจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท”
มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา67ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท1 โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ”
มาตรา 8 บทบัญญัติมาตรา 15 วรรคสาม มาตรา 17 วรรคสอง และมาตรา 26 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ไม่ให้ใช้บังคับแก่คดีที่ศาลชั้นต้นมีคําพิพากษาแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้นํากฎหมาย ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ บังคับแก่คดีดังกล่าวต่อไปจนกว่าคดีถึงที่สุด
คดีซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายยื่นคําแถลงขอสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมว่าการกระทําของจําเลยเป็นการกระทํา เพื่อจําหน่ายหรือไม่ ก็ให้ศาลสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร
มาตรา 9 ในกรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษผู้กระทําความผิดตามมาตรา 65 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าผู้กระทําความผิดยังไม่ได้รับโทษ หรือกําลังรับโทษอยู่ เมื่อความปรากฏแก่ศาล หรือเมื่อผู้กระทําความผิด ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้นั้น ผู้อนุบาลของผู้นั้นหรือพนักงานอัยการร้องขอ ให้ศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดีนั้นมีอํานาจกําหนดโทษใหม่ตามมาตรา 65 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ในการที่ศาลจะกําหนดโทษใหม่นี้ ให้ศาลมีอํานาจไต่สวนผู้ที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นว่าจําเป็น ถ้าปรากฏว่า ผู้กระทําความผิดได้รับโทษมาบ้างแล้ว และศาลเห็นเป็นการสมควร ศาลจะรอการลงโทษที่เหลืออยู่หรือจะปล่อยผู้กระทําความผิดไปก็ได้
มาตรา10 ให้ประธานศาลฎีกา นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับอํานาจหน้าที่ของตน
หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายปัจจุบันมีบทบัญญัติบางส่วน ที่กําหนดว่าบุคคลใดซึ่งกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 ประเภท 4 และประเภท 5 โดยมียาเสพติดให้โทษเกินปริมาณที่กําหนดไว้ ให้ถือเป็นเด็ดขาดว่าผู้นั้นกระทําเพื่อจําหน่าย โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้พิจารณาจากพฤติการณ์หรือคํานึงถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้กระทําความผิดและไม่ได้ให้สิทธิผู้ต้องหาหรือจําเลยในการพิสูจน์ความจริงในคดี สมควรแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติดังกล่าวให้มีลักษณะเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจําเลยมีโอกาสพิสูจน์ความจริงได้นอกจากนี้อัตราโทษสําหรับความผิดเกี่ยวกับการผลิต นําเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ที่กําหนดโทษให้จําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต ยังไม่เหมาะสม สมควรแก้ไขปรับปรุงบทกําหนดโทษดังกล่าวเพื่อให้การลงโทษผู้กระทําความผิดมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้