เปิดข้อกล่าวหา‘อำพล’ปมตั้งผู้บริหารสมัยอยู่ ป.ป.ท.ก่อนถูกเบรกนั่งเลขาฯ กกต.
“…การดำเนินการของเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีอำนาจ รวมทั้งยังเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามสาระสำคัญของหนังสือ ก.พ. ที่กำหนดให้ส่วนราชการเสนอรายชื่อข้าราชการพลเรือนสามัญที่มีคุณสมบัติครบถ้วน และอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งที่จะแต่งตั้งทุกคนต่อคณะกรรมการ ... ดังนั้นคำสั่งสำนักงาน ป.ป.ท. เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2554 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ร้องทุกข์ของผู้ร้องทุกข์ฟังขึ้น…”
ความเคลื่อนไหวภายในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่น่าจับตาในช่วงเวลานี้คือ กรณีการแต่งตั้งเลขาธิการ กกต. คนใหม่ แทนนายภุชงค์ นุตราวงศ์ อดีตเลขาธิการ กกต. ที่มีปัญหาคาราคาซัง ท่ามกลางข่าวซุบซิบเรื่องการเมืองภายในสำนักงาน กกต. กระทั่งถูกปลดไปเมื่อช่วงต้นปี 2559
ในที่สุด กกต. มีมติเลือกนายอำพล วงศ์ศิริ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นเลขาธิการ กกต. คนใหม่ โดยมีสัญญา 5 ปี และเริ่มต้นปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 1 ก.พ. 2560
อย่างไรก็ดีชื่อของนายอำพล วงศ์ศิริ กลับอยู่ในชั้นการไต่สวนข้อเท็จจริง ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยถูกกล่าวหาเมื่อครั้งนั่งเก้าอี้เลขาธิการ ป.ป.ท. ว่า ดำเนินการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเป็น ผอ.สำนักเลขาธิการ และ ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ โดยมิชอบ เมื่อปี 2554
ซึ่งกรณีนี้คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551 ได้วินิจฉัยแล้วว่า คำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอน และให้สรรหาบุคคลขึ้นมาดำรงตำแหน่งใหม่
สำหรับความคืบหน้าปัจจุบันในชั้นการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. ผ่านมาประมาณ 2 ปี 9 เดือนแล้ว โดยนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุว่า รับเรื่องดังกล่าวมานานแล้ว ต้องตรวจสอบข้อมูลก่อนว่า ตอนนี้อยู่ในชั้นไหน
(อ่านประกอบ : กกต.เบรกตั้งเลขาฯใหม่ เหตุถูก ป.ป.ช. สอบปมตั้งคนนั่ง ผอ.สมัยอยู่ ป.ป.ท.)
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า พฤติการณ์ตามข้อกล่าวหานายอำพล วงศ์ศิริ ที่ ก.พ.ค. วินิจฉัยว่า ดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีรายละเอียด ดังนี้
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2554 นายอำพล วงศ์ศิริ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการระดับต้น (ผอ.สำนัก) จำนวน 2 ราย ได้แก่ นายศรัณย์ รักษ์เผ่า นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ กลุ่มงานบริหารงานบุคคล ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักงานเลขาธิการ และนายนิทัศน์ แสงวัฒนะ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กลุ่มงานนโยบายและยุทธศาสตร์ ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์
ต่อมามีบุคคลร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. กรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการบริหารงานบุคคล เนื่องจากเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ขณะนั้น เป็นประธานกรรมการคัดเลือกบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนัก 2 ราย ใช้ดุลพินิจโดยไม่สุจริต และมีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งการแต่งตั้งดังกล่าว ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่นายศรัณย์ และนายนิทัศน์ ให้ได้รับตำแหน่งตามการดำเนินการของเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ซึ่งอาจเข้าข่ายมีผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากอยู่ในฐานะผู้มีอำนาจสั่งบรรจุ และแต่งตั้งตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ซึ่งมีหน้าที่เสนอรายชื่อข้าราชการระดับชำนาญการต่อคณะกรรมการคัดเลือกที่ตนเองเป็นประธานกรรมการคัดเลือกฯ และสามารถที่จะชี้นำกรรมการคัดเลือกฯคนอื่นให้คล้อยตามความเห็นของตนเองได้
ในการเสนอชื่อก็ดำเนินการอย่างลับ ๆ เนื่องจากไม่มีกระบวนการเปิดรับสมัครสอบข้อเขียนและ/หรือสอบสัมภาษณ์ เพื่อเปิดโอกาสให้ข้าราชการระดับชำนาญการ ที่มีอยู่ประมาณ 30 คน ได้เข้ามาแข่งขันอย่างเท่าเทียมตามระบบคุณธรรม และเป็นการให้หลักประกันความเป็นธรรมของข้าราชการแต่อย่างใด ในการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีผู้ทรงคุณวุฒิได้ทักท้วงถึงความเหมาะสมของวิธีการคัดเลือกแล้ว แต่ไม่เป็นผลแต่อย่างใด
จากพฤติการณ์ของเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. เห็นว่า เป็นการไม่คำนึงถึงระบบคุณธรรมตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551
พฤติการณ์ของเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. เป็นการไม่คำนึงถึงระบบคุณธรรมตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศใ2551 มาตรา 42 (2) ทำให้ข้าราชการในสำนักงาน ป.ป.ท. ส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเป็นธรรม พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นมีการวางแผนใน 4 ขั้นตอน ดังนี้
หนึ่ง มีการเตรียมตำแหน่ง ผอ.สำนัก ซึ่งเป็นตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับต้น ไว้สำหรับการหมุนย้าย 2 ตำแหน่ง
สอง เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้แสดงเจตนาพิเศษที่จะเลือก (ล็อคสเปก) ด้วยการมีหนังสือหารือสำนักงาน ก.พ. อย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อสอบถามคุณสมบัติของนายศรัณย์ และนายนิทัศน์ ว่าจะสามารถคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักงานเลขาธิการ และ ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงาน ป.ป.ท. ได้หรือไม่
สาม ดำเนินการย้าย ผอ.สำนักจำนวน 4 ราย เพื่อเปิดตำแหน่ง ผอ.สำนักงานเลขาธิการ และตำแหน่ง ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ให้ว่างไว้
สี่ ใช้อำนาจในฐานะเป็นประธาน อ.ก.พ. (คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน) สำนักงาน ป.ป.ท. ไม่เสนอเรื่องหใ อ.ก.พ. สำนักงาน ป.ป.ท. พิจารณาความเหมาะสมของวิธีการแต่งตั้ง ผอ.สำนัก ว่าจะใช้วิธีการที่ 1 คือการย้ายข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งระดับเดียวกันไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ว่าง หรือจะใช้วิธีการที่ 2 ให้ อ.ก.พ. สำนักงาน ป.ป.ท. ทราบวิธีเดียว และใช้อำนาจแต่งตั้งตนเป็นประธานกรรมการคัดเลือกฯ เพื่อบงการหรือชี้นำให้การคัดเลือกเป็นไปตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากเป็นผู้เสนอรายชื่อข้าราชการต่อคณะกรรมการคัดเลือกฯ ในฐานะผู้มีอำนาจบรรจุ แต่งตั้ง และมาเป็นประธานกรรมการคัดเลือกฯด้วย
ทั้งนี้ ก.พ.ค. มีคำวินิจฉัยถึงกรณีนี้ ตามการเสนอของคณะกรรมการวินิจฉัยการร้องทุกข์ คณะที่ 4 โดยตรวจกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง พิจารณาหลักฐานในสำนวน ฟังคำชี้แจง และคำอภิปรายของผู้ที่เกี่ยวข้อง และปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นด้วยกับคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ฯ มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า การดำเนินการเพื่อออกคำสั่งสำนักงาน ป.ป.ท. เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2554 นั้น ไม่ได้ดำเนินการตามรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการที่กฎหมาย และระเบียบกำหนดให้ต้องปฏิบัติอันเป็นสาระสำคัญ
โดยนายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ กรรมการ ก.พ.ค. มีความเห็นในสาระสำคัญว่า การดำเนินการของเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. เป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีอำนาจ รวมทั้งยังเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามสาระสำคัญของหนังสือ ก.พ. ที่กำหนดให้ส่วนราชการเสนอรายชื่อข้าราชการพลเรือนสามัญที่มีคุณสมบัติครบถ้วน และอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งที่จะแต่งตั้งทุกคนต่อคณะกรรมการ และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติตามข้อย่อยของหนังสือ ก.พ. ที่กำหนดว่า “ส่วนราชการอาจกำหนดให้มีวิธีการอื่นเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาคัดเลือก และประเมินบุคคลด้วยก็ได้ …” เพราะการดำเนินการตามข้อย่อยดังกล่าว ต้องดำเนินการในระบบเปิดที่มีการประกาศหลักเกณฑ์ให้ผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องทราบเป็นการล่วงหน้า ในลักษณะเช่นเดียวกับการสอบโดยทั่วไป ดังนั้นคำสั่งสำนักงาน ป.ป.ท. เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2554 จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ร้องทุกข์ของผู้ร้องทุกข์ฟังขึ้น
ล่าสุด แหล่งข่าวจาก กกต. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า ที่ประชุม กกต. ได้หารือเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา มีมติให้ชะลอการแต่งตั้งนายอำพล วงศ์ศิริ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กกต. คนใหม่ไว้ก่อน เพื่อตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องที่ถูกสอบสวน และให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ทั้งนี้ในเวลา 15.00 น. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการ กกต. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า จะมีการแถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีของนายอำพล วงศ์ศิริ ด้วย
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายอำพลจาก astvmanager