เจาะโครงสร้าง'ปรองดอง'ฉบับ คสช. ขอความเห็นกลุ่มการเมือง-ฉลุยหรือเหลว?
“…ความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระทั้งหลาย ในห้วงที่ผ่านมาไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนบางส่วน จะแก้ไขอย่างไร การซื้อเสียงเลือกตั้งที่นำไปสู่การไม่ยอมรับผล แก้ไขอย่างไร นโยบายประชานิยมที่กำหนดขึ้นเพื่อหวังผลคะแนนเสียง จนนำมาสู่การโจมตีของพรรคอื่น ก่อเกิดความขัดแย้งระหว่างพรรค และมวลชนสนับสนุนพรรค จะแก้ไขอย่างไร การใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือทางการเมือง มีการปลุกปั่นจัดตั้งมวลชนเคลื่อนไหว แก้ไขอย่างไร รวมถึงจัดการชุมนุมของประชาชนที่มีอาวุธและไม่มีอาวุธ จนขยายผลไปสู่ความรุนแรง จะแก้ไขอย่างไร ที่สำคัญความขัดแย้งอะไรที่อาจเป็นสาเหตุให้รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการตาม Road map ได้…”
ผ่านมากว่า 3 ปีแล้ว นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 โดยอ้างว่า เพื่อจะเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และการทุจริตคอร์รัปชั่นภายในประเทศ
ช่วงเวลากว่า 3 ปี ดังกล่าว มีหลายฝ่ายทั้งจากคนของ คสช. นักการเมือง นักวิชาการ หรือภาคประชาชน ที่เสนอแนวคิดสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม แต่ก็อย่างที่หลายคนทราบดีหลากหลายแนวคิดดังกล่าว ไม่ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมแม้แต่อย่างเดียว
กระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ กระแสสร้างความปรองดองได้ถูกจุดขึ้นมาอีกครั้ง ก่อนการเลือกตั้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอีก 1 ปีข้างหน้านี้ โดยเฉพาะสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเมือง ทำรายงานผลสร้างความปรองดองสมานฉันท์เสนอให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปแล้วเมื่อต้นเดือน ม.ค. 2559 ที่ผ่านมา
(อ่านประกอบ : เปิดโครงสร้าง-แนวทางปรองดองฉบับ สปท.-ให้โอกาสคนหนีคดีกลับไทย)
ส่วนซีกรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายให้ ‘พี่ป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นหัวเรือใหญ่รับผิดชอบเป็นประธานคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยกำกับดูแลโครงสร้างทั้งหมด
มีรายงานว่า คณะกรรมการฯชุดดังกล่าว มอบหมายให้กระทรวงกลาโหมเป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำความเห็นร่วมเพื่อสร้างความปรองดองแล้ว สำหรับคณะกรรมการอำนวยการเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ มีปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานฯ ปลัดกระทรวงมหาดไทยหรือผู้แทน เป็นรองประธานฯ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดหรือผู้แทน เป็นรองประธานฯ มีผู้บัญชาการเหล่าทัพ หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) หรือผู้แทน เป็นกรรมการ
ส่วนคณะอนุกรรมการมีทั้งหมด 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อความปรองดองสมาฉันท์ โดยมีคณะทำงานย่อยลงมาเพื่อจัดทำความเห็นร่วมเพื่อความปรองดองสมาฉันท์ คณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ คณะอนุกรรมการจัดทำกระบวนการปรองดองสมานฉันท์ (ดูเอกสารประกอบ)
นอกจากนี้มีการตั้งคณะที่ปรึกษามี พล.ท.เจิดวุธ คราประยูร (บุตรชาย พล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีต ผบ.ทบ.) ผู้บัญชาการวิทยาลัยเสนาธิการทหาร ร่วมกับนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มันสมองของฝ่ายความมั่นคงตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เป็นคณะกรรมการเจรจาฝ่ายการเมือง
คณะกรรมการเจรจาฝ่ายการเมือง ต้องกำหนดประเด็นคำถามในการสัมภาษณ์พิเศษพรรคการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะ 2 พรรคใหญ่ที่กุมเสียงในสภาไว้มากที่สุดคือ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งเชิญผู้ชุมนุมทางการเมืองในอดีต เช่น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) รวมถึงบรรดาแกนนำกลุ่มการเมืองอื่น ๆ อีก (อ่านประกอบ : http://www.posttoday.com/analysis/politic/475591)
สำหรับคำถามสัมภาษณ์เดี่ยว ‘เชิงลึก’ ดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า มีทั้งหมด 10 ประเด็น ได้แก่
1.ด้านการเมือง 2.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (ระบบราชการและข้าราชการ) 3.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 4.ด้านเศรษฐกิจ 5.ด้านสังคม 6.ด้านการสื่อสารมวลชน 7.ด้านพลังงาน และด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 8.ด้านสาธารณสุข 9.ด้านการต่างประเทศ 10.ด้านการศึกษา
อย่างไรก็ดีคำถามสำคัญคงหนีไม่พ้นประเด็น ‘การเมือง-การบริหารราชการแผ่นดิน-กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม’ ที่ถูกหลายฝ่ายตั้งคำถามอย่างท้าทายมาโดยตลอดว่า เป็น 3 เรื่องสำคัญที่นำประเทศไทยมาอยู่จุดนี้ ?
สำหรับประเด็นการเมือง มีการถามถึงความเห็นต่างทางการเมือง ปัญหาความขัดแย้งแบ่งฝ่ายในพื้นที่การหาเสียง ควรทำอย่างไรไม่ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง แก้ไขอย่างไร การปลุกเร้าและกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชังแก้ไขอย่างไร การควบคุมกิจกรรมทางการเมืองที่ปัจจุบันถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ทำอย่างไรไม่ให้ถูกหยิบยกขึ้นมาสร้างความขัดแย้ง
ความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระทั้งหลาย เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นต้น ในห้วงที่ผ่านมาไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนบางส่วน จะแก้ไขอย่างไร การซื้อเสียงเลือกตั้งที่นำไปสู่การไม่ยอมรับผล แก้ไขอย่างไร นโยบายประชานิยมที่กำหนดขึ้นเพื่อหวังผลคะแนนเสียง จนนำมาสู่การโจมตีของพรรคอื่น ก่อเกิดความขัดแย้งระหว่างพรรค และมวลชนสนับสนุนพรรค จะแก้ไขอย่างไร การใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือทางการเมือง มีการปลุกปั่นจัดตั้งมวลชนเคลื่อนไหว แก้ไขอย่างไร รวมถึงจัดการชุมนุมของประชาชนที่มีอาวุธและไม่มีอาวุธ จนขยายผลไปสู่ความรุนแรง จะแก้ไขอย่างไร ที่สำคัญความขัดแย้งอะไรที่อาจเป็นสาเหตุให้รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการตาม Road map ได้
ส่วนประเด็นการบริหาราชการแผ่นดิน เน้นไปที่ปัญหาความขัดแย้งจากการทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น การรับมอบของขวัญ การรับสินบน ซื้อขายตำแหน่ง โดยเฉพาะข้าราชการของรัฐในระดับสูง จะแก้ไขอย่างไรไม่ให้ลุกลามจนเกิดความขัดแย้ง ปัญหาความขัดแย้งจากระบบอุปถัมภ์ การใช้อำนาจมิชอบของข้าราชการการเมืองระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะความพยายามปรับปรุงกฏหมายเพื่อเอื้อนักการเมืองท้องถิ่น และปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการประจำกับข้าราชการเมือง จะแก้ไขอย่างไรไม่ให้ถูกขยายผลจนเกิดความขัดแย้ง
ส่วนด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เน้นไปที่ผลประโยชน์ทับซ้อนของนักการเมือง เช่น การแสวงหาอำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตัวเอง ที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันพวกพ้องของนักการเมืองเพื่อออกกฎหมายที่ขัดแย้ง เอื้อประโยชน์กับคนบางกลุ่ม รวมถึงระบบอุปถัมภ์ที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า สภาพกฎหมายไทยมีลักษณะให้อำนาจและเอกสิทธิ์แก่ระบบราชการ ทำให้เกิดการใช้อำนาจเหนือประชาชน ควรมีทางออกอย่างไรไม่ให้เกิดระบบนี้ และสร้างความเชื่อถือด้านกฏหมาย รวมไปถึงการแทรกแซงคดีในกระบวนการยุติธรรม ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมจนอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง การบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เท่าเทียมกัน และการไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมของบุคคลบางกลุ่ม จนทำให้หลีกเลี่ยงการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และกฎหมายที่มีความเสี่ยงให้เกิดสภาพความขัดแย้งในสังคม ทั้งหมดจะแก้ไขอย่างไร และควรมีทางออกอย่างไร
ทั้งหมดคือบางส่วนในคำถามสัมภาษณ์เชิงลึกแก่บรรดานักการเมือง แกนนำกลุ่มการเมือง และผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง ที่คณะเจรจาฝ่ายการเมืองจะนำคำตอบไปสรุป และรายงานผลแก่คณะกรรมการสร้างความปรองดองฯต่อไป
ท้ายสุดจะสำเร็จเป็นรูปธรรม หรือจะ ‘เหลวเป๋ว’ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด !