แกะรอยโศกนาฏกรรมบางสะพานกับคำถามที่กรมชลฯ-รัฐต้องตอบ(2)
ความเสียหายก็จะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนดังที่เกิดขึ้นที่บางสะพาน รัฐบาลต้องมีการสอบสวนเรื่องนี้อย่างจริงจังไม่ใช่โบ้ยว่าไม่มีหน้าที่หรืออ้างระบบราชการแบบลอยๆรวมไปถึงการบิดเบือนเล่นลิ้นว่าเหตุการณ์ที่บางสะพาน “น้ำไม่ได้ท่วมแต่เป็นน้ำบ่า”
ตามหลักฐานในเอกสารการแบ่งงานสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยาตามคำสั่งกรมชลประทานที่ 143/2555 ซึ่งทาสำนักข่าวอิศราได้นำเสนอไปแล้วในตอนที่ 1 (อ่านประกอบ:แกะรอยโศกนาฏกรรมบางสะพาน กับคำถามที่กรมชลฯ-รัฐต้องตอบ ตอนที่ 1 ) ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า หน่วยงานของสำนักนี้ต้องรับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำอย่างไร
ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ชี้ให้เห็นเพิ่มเติมจากคำสั่งดังกล่าว ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา มีหน้าที่อะไรอีก โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอุทกภัย
จากเอกสารแนบท้ายคำสั่งดังกล่าวหัวข้อที่ 5 ระบุว่า
ส่วนความปลอดภัยของเขื่อนที่สังกัดสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เป็นศูนย์กลางในการอำนวยการและประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในกรมชลประทาน และหน่วยงานภายนอกเพื่อดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยของเขื่อนเก็บกักน้ำและอาคารประกอบ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่ด้านท้ายน้ำ ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและสถิติของเขื่อนต่างๆ เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลให้ทันสมัยอยู่เสมอและเพื่อวิเคราะห์ด้านความเสี่ยง (Risk Assessment) และจัดลำดับความเสี่ยงภัย (Hazard Classification) กำหนดแผนการดำเนินงานและวิธีการตรวจสอบเขื่อนและอาคารประกอบ เพื่อทำการวิเคราะห์และประเมินความปลอดภัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ ตลอดจนการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมและแผนปฏิบัติการกรณีฉุกเฉินให้กับหน่วยงานท้องถิ่น
นั่นเท่ากับว่า แนบท้ายคำสั่งกรมชลประทานดังที่กล้าวมาข้างต้นได้ระบุอย่างชัดเจนว่า หน่วยงานดังกล่าวต้องทำหน้าที่ที่สำคัญคือเสริมสร้างความปลอดภัยของเขื่อนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนที่อยู่ด้านท้ายน้ำ ต้องวิเคราะห์ด้านความเสี่ยง (Risk Assessment) และจัดระดับความเสี่ยงภัย (Hazard Classification) และจัดทำแผนเตรียมความพร้อมและแผนปฏิบัติการกรณีฉุกเฉินให้กับหน่วยงานท้องถิ่น
ดร.ไชยณรงค์ ตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนการเกิดเหตุการณ์วิปโยคคืนวันที่ 9 เราได้เห็นแล้วว่า ผู้บริหารระดับสูงของกรมชลประทานได้ออกมาแถลงว่า เขื่อนไม่พัง แค่น้ำล้นสปิลเวย์ (ซึ่งการแถลงนี้ก็ขัดกับข้อเท็จจริงที่น้ำล้นสปิลเวย์) (อ่านประกอบ:กรมชลฯ แจงข่าวอ่างเก็บน้ำที่ประจวบฯแตก ยันเป็นน้ำล้น spillway)
แต่ถึงอย่างไร กรมชลประทานก็ต้องตอบคำถามอยู่ดีว่า ได้มีการเสริมสร้างความปลอดภัยของเขื่อนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนท้ายเขื่อนทั้งสามแห่งที่บางสะพานหรือไม่
มีการวิเคราะห์ด้านความเสี่ยง (Risk Assessment) และจัดระดับความเสี่ยงภัย (Hazard Classification) หรือไม่
และที่สำคัญ มีการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมและแผนปฏิบัติการกรณีฉุกเฉินให้กับหน่วยงานท้องถิ่นหรือไม่ อย่างไร
“ยิ่งหากพิจารณาคำสั่งกรมชลประทาน หน่วยงานของกรมก็ต้องทำหน้าที่ทั้งสามอย่างไม่ว่าเขื่อนจะพังหรือไม่พังก็ตาม"
นอกจากนั้น ดร.ไชยณรงค์ ยังข้อสังเกตด้วยว่า จนถึงปัจจุบันยังไม่พบว่า มีการวิเคราะห์ด้านความเสี่ยงและจัดระดับความเสี่ยงภัยของเขื่อนทั้งสามแห่ง เพราะเห็นอย่างชัดเจนว่า แม้ว่าเขื่อนไม่พัง แต่น้ำล้นสปิลเวย์และล้นสั่นเขื่อนลงไปทางด้านท้ายน้ำที่มีประชาชนตั้งถิ่นฐานอยู่ ซึ่งเราก็ได้เห็นแล้วการแถลงของกรมชลประทานว่า เขื่อนไม่พังนั้น เป็นแค่การตอบโต้ข่าวลือของโซเชียลมีเดีย แต่ไม่ได้แถลงว่า ความเสี่ยงของน้ำล้นสั้นเขื่อนอยู่ในระดับไหน
“ผมเองแน่ไม่ใจว่า หน่วยงานของกรมชลประทานได้จัดทำแผนเตรียมความพร้อมและแผนปฏิบัติการกรณีฉุกเฉินให้กับหน่วยงานท้องถิ่นหรือไม่ หากมีก็ให้แสดงข้อมูลต่อสังคม โดยต้องมีหลักฐานยืนยันว่า หน่วยงานท้องถิ่นได้รับแผนเตรียมความพร้อมและแผนปฏิบัติการกรณีฉุกเฉินแล้วจริงๆ” ดร.ไชยณรงค์ ตั้งคำถามเพิ่มเติม และเห็นว่า กรมชลประทานต้องไม่ลืมว่า ในบรรดาเขื่อนที่บางสะพาน ที่กรมชลประทานอ้างว่า สร้างขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วมนั้น บางเขื่อนเคยวิบัติหรือแตกมาแล้ว
"เขื่อนคลองลอย" วิบัติเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2548 ทำให้น้ำท่วมไปถึงบ้านกรูด บางคนร้านค้าได้รับความเสียหาย ซึ่งกรมชลฯ ก็ได้จ่ายค่าชดเชยเพียง 13,000 บาท ซึ่งเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความเสียหาย และทำให้ชาวบ้าน ต.ธงชัย ออกคัดค้านการสร้างเขื่อนดังกล่าวที่อ้างว่า เพื่อป้องกันน้ำท่วม แต่กรมชลประทานก็ยังเดินหน้าสร้างต่อโดยไม่รับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำหน้าที่ให้ครบทั้งสามประการโดยทันทีหลังการมีเขื่อน
ทั้งนี้ ในคำสั่งดังกล่าว (ข้อ 7 ข้อ 7.3 และข้อ 13) ระบุว่า ศูนย์อุทกวิทยาและบริหารน้ำ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ที่ตั้งอยู่ในแต่ละภาคของประเทศไทย มีหน้าที่ติดตามสภาพน้ำฝน น้ำท่า เพื่อเตือนภัยน้ำท่วมในระดับลุ่มน้ำพร้อมทั้งรายงานข้อมูลและแนวโน้มของสถานการณ์ต่อกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาบริหารน้ำและแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากน้ำ ให้การสนับสนุนข้อมูลทางอุทกวิทยาและประสานความร่วมมือในการปฏิบัติงานเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยอันเนื่องมาจากน้ำ
ขณะที่ฝ่ายปฏิบัติการอุทกวิทยา ในสังกัดของ ศูนย์อุทกวิทยา มีหน้าที่ความรับผิดในการวางแผนและสำรวจข้อมูลด้านอุทกวิทยา อุตุนิยมวิทยา ตะกอนและคุณภาพน้ำ รวมทั้งข้อมูลกายภาพลุ่มน้ำ และที่สำคัญติดตามสภาพน้ำฝน-น้ำท่าของลุ่มน้ำเพื่อการเตือนภัยน้ำท่วม
สำหรับเขตบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ศูนย์อุทกวิทยาที่มีหน้าที่รับผิดชอบก็คือ ศูนย์อุทกวิทยาและบริหารน้ำภาคตะวันก
คำถามต่อกรมชลประทานและรัฐบาลก็คือ
1) ฝ่ายปฏิบัติการอุทกวิทยาของศูนย์อุทกวิทยาและบริหารน้ำภาคตะวันตก ได้ติดตามสภาพน้ำฝน น้ำท่า เพื่อเตือนภัยน้ำท่วมในระดับลุ่มน้ำ ตามคำสั่งนี้ หรือไม่ อย่างไร
2) ศูนย์อุทกวิทยาและบริหารน้ำได้รายงานข้อมูลและแนวโน้มของสถานการณ์ต่อกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาบริหารน้ำและแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากน้ำตามคำสั่งนี้ หรือไม่ อย่างไร
3) ศูนย์อุทกวิทยาและบริหารน้ำภาคตะวันตก ได้ให้การสนับสนุนข้อมูลทางอุทกวิทยาและประสานความร่วมมือในการปฏิบัติงานเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยอันเนื่องมาจากน้ำตามคำสั่งนี้หรือไม่อย่างไร
4) ฝ่ายปฏิบัติการอุทกวิทยาของศูนย์อุทกวิทยาและบริหารน้ำภาคตะวันตก ได้วางแผนและสำรวจข้อมูลด้านอุทกวิทยา อุตุนิยมวิทยา ตะกอนและคุณภาพน้ำ รวมทั้งข้อมูลกายภาพลุ่มน้ำ ตามคำสั่งนี้ หรือไม่อย่างไร
ดร.ไชยณรงค์ ย้ำถึงคำถามข้อแรกสำคัญมาก เพราะการติดตามสภาพน้ำฝน-น้ำท่าของลุ่มน้ำก็เพื่อการเตือนภัยน้ำท่วม เพราะจะโยงกับข้อที่สองและสาม นั่นก็คือ การรายงานข้อมูลและแนวโน้มของสถานการณ์ต่อกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาบริหารน้ำและแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากน้ำ ซึ่งรวมถึงการเตือนภัยน้ำท่วม และให้การสนับสนุนข้อมูลทางอุทกวิทยาและประสานความร่วมมือในการปฏิบัติงานเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยอันเนื่องมาจากน้ำ
ที่สำคัญที่สุด ข้อมูลดังกล่าว จะทำให้กรมชลประทานเองได้ทำหน้าที่เแจ้งเตือนภัย ซึ่งในคำสั่งนี้ว่า สำนักอุทกวิทยาและบริหารจัดการน้ำมีหน้าที่โดยตรง และแผนเผชิญอุทกภัยของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ระบุว่า โครงการชลประทานในพื้นที่เป็นหนึ่งในหน่วยงานในการแจ้งเหตุเผชิญอุทกภัยโดยตรง หากหน่วยงานของกรมชลประทานไม่ปฎิบัตตามข้อนี้ของคำสั่ง ก็จะส่งผลต่อการเตือนภัยตามมา
จากหลักฐานเท่าที่มี ดร.ไชยณรงค์ เผยว่า มีการติดตามน้ำท่า ซึ่งในลุ่มน้ำคลองบางสะพานมีเพียงสองจุดเท่านั้น และจุดที่ Gt.07 (ซึ่งก็พังเสียหายเมื่อคืนวันที่ 9 มกราคม) และการวัดปริมาณน้ำโดยใช้จุดสองจุดนี้ ก็ไม่น่าจะนำมาใช้ในการเตือนภัยให้กับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ (มีแต่ภาพกราฟฟิคที่แสดงในเวปของกรมชลประทาน ซึ่งก็มีคำถามว่าจะมีสักกี่คนที่เข้าถึง และเข้าใจ)
ที่สำคัญก็คือ ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าหน่วยงานดังกล่าวในสังกัดกรมชลประทานได้ติดตามสภาพน้ำฝน ซึ่งจะสัมพันธ์กับการวัดปริมาณน้ำท่าเพื่อการเตือนภัย แต่หากว่า กรมชลประทานมีข้อมูล ก็มีคำถามตามมาว่า ทำไมจึงไม่แจ้งเตือนภัยตามแผนเผชิญอุกทภัยของจังหวัดที่อนุมัติโดยผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมีกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรองรับ และไม่แจ้งเตือนภัยตามคำสั่งกรมชลประทานที่ 143/2555 ซึ่งคำสั่งนี้มีประกาศกระทรวงฯ รองรับ
ในส่วนคำถามข้อที่สี่ จะเห็นได้ว่า คำสั่งนี้ได้ระบุว่า ฝ่ายปฏิบัติการอุทกวิทยาของศูนย์อุทกวิทยาและบริหารน้ำภาคตะวันตก มีหน้าที่วางแผนและสำรวจข้อมูลด้านอุทกวิทยา อุตุนิยมวิทยา ตะกอนและคุณภาพน้ำ รวมทั้งข้อมูลกายภาพลุ่มน้ำ ประเด็นนี้ก็มีความสำคัญ ยิ่งข้อมูลกายภาพลุ่มน้ำยิ่งมีความสำคัญ เพราะข้อมูลส่วนนี้ จะทำให้รู้ว่า แต่ละพื้นที่ของลุ่มน้ำเป็นอย่างไร เช่น บริเวณต้นน้ำมีความเสี่ยงอย่างไร หากฝนตกหนัก จะเกิดอะไรขึ้น จะมีการไหลของโคลนหรือตะกนอนน้ำอย่างไร ซึ่งสำคัญต่อการเตือนภัยในลุ่มน้ำเช่นกัน
หลักฐานจากคำสั่งนี้ได้ยืนยันงว่า กรมชลประทานไม่ใช่รับผิดชอบและดูแลเฉพาะเขื่อนของตัวเองไม่ให้ชาวบ้านเดือดร้อนเท่านั้น แต่ต้องรับผิดชอบการบริหารจัดการน้ำ ทั้งลุ่มน้ำ ทั้งในสภาวะปกติ และสภาวะวิกฤตน้ำทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง
“คำถามที่ผมตั้งขึ้นมาทั้งหมดนี้ ผมขอให้สังคมช่วยกันกดดันให้กรมชลประทานและรัฐบาลต้องตอบให้ได้ เพราะหากไม่ทำตามทั้งตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัย และปฎิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ความเสียหายก็จะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ดังที่เกิดขึ้นที่บางสะพาน”
ดร.ไชยณรงค์ ฝากไปถึงรัฐบาลต้องมีการสอบสวนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่โบ๊ยว่าไม่มีหน้าที่ หรืออ้างระบบราชการแบบลอยๆ รวมไปถึงการบิดเบือนเล่นลิ้นว่า เหตุการณ์ที่บางสะพาน
“น้ำไม่ได้ท่วม แต่เป็นน้ำบ่า”
ขอบคุณภาพประกอบจากChainarong Sretthachau