วันเด็กฯของ "เด็กพิเศษ" ครึ่งหมื่น และ "เด็กกำพร้า" กว่า 6,300 ชีวิตที่ปลายขวาน
เด็กและเยาวชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องเผชิญกับปัญหาความไม่สงบมานานกว่า 13 ปี ปัญหาเด็กกำพร้าที่ต้องสูญเสียพ่อหรือแม่ หรือทั้งพ่อและแม่จากเหตุการณ์ความรุนแรง เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุด
แต่เด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงนักคือ “เด็กพิเศษ” ที่มีปัญหาเรื่องพัฒนาการทางสมอง ไปจนถึงความพิการทางร่างกาย
ทั้งยังมีเด็กที่อาจจะเรียกได้ว่า “พิการทางใจ” เป็นอีกหนึ่งความหมายของ “เด็กพิเศษ” ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงอีกด้วย
ที่จังหวัดปัตตานี มีศูนย์การศึกษาพิเศษของจังหวัด สุรัตน์ บุญฤทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้จัดกิจกรรมวันเด็กขึ้น โดยมี “เด็กพิเศษ” ทั้งที่อยู่ในความดูแลของศูนย์ฯ และจากโรงเรียนทั่วไปทั้ง 12 อำเภอของปัตตานี จำนวนกว่า 300 คนมาร่วมกิจกรรม
ผู้ปกครองของเด็กหลายคนมาร่วมงานด้วย เด็กๆ พากันเล่นและรับประทานอาหารร่วมกันอย่างสนุกสนาน บรรยากาศเต็มไปด้วยรอยยิ้ม
สุรัตน์ บอกว่า รู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสุขให้กับเด็กๆ กลุ่มนี้ วันเด็กแห่งชาติเป็นวันที่พวกเขามีความสุขกันมาก รวมทั้งผู้ปกครองด้วย แต่ละคนมีท่าทีผ่อนคลาย ทางศูนย์ฯมีการจับรางวัล ให้ทุกคนได้ของขวัญ และเปิดเวทีให้ได้แสดงความสามารถกันอย่างเต็มที่
ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เท่าที่สำรวจได้ มีเด็กพิเศษกว่า 5,000 คน เฉพาะที่ปัตตานีมีทั้งสิ้น 1,833 คน ขณะที่จังหวัดนราธิวาสพบเด็กพิเศษมากที่สุด เท่าที่พบสถิติเด็กกลุ่มนี้มีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่ลดลงเลย
จำนวน “เด็กพิเศษ” ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สะท้อนปัญหาบางอย่างที่ซ่อนอยู่ภายใต้สถานการณ์ความรุนแรง คือปัญหาด้านสุขอนามัย โดยเฉพาะของแม่และเด็ก ซึ่งถูกพูดถึงน้อยมาก ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงควรเร่งหันมาให้ความสำคัญ
เพราะ “ออทิสติก” ปัจจุบันผู้เป็นแม่สามารถป้องกันความเสี่ยงได้ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ส่วนคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แล้ว ก็ยังต้องดูแลสุขภาพ งดสารเคมีและยาบางชนิด เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงภาวะพัฒนาการช้าของลูกในครรภ์
นอกจากนั้นสภาพแวดล้อม สภาพครอบครัว ตลอดจนสภาพจิตใจของผู้เป็นแม่ ล้วนมีผลกับสุขภาพและพัฒนาการของลูกทั้งสิ้น
นี่คือตัวอย่างของปัญหาด้านสุขภาวะในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ถูกละเลย...
ขณะที่ “เด็กพิเศษ” อีกกลุ่มหนึ่งในบริบทเฉพาะของพื้นที่ชายแดนใต้ที่ประสบปัญหาความรุนแรง ก็คือเด็กที่เป็นเหยื่อหรือได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ความไม่สงบ สุรัตน์ บอกว่าเขาให้ความสำคัญกับเด็กกลุ่มนี้เป็นพิเศษ
"ศูนย์ฯของเรามีภารกิจดูแลเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ด้วย กลุ่มนี้เราจะดูแลเป็นพิเศษมากกว่าเด็กพิเศษทั่วไป เด็กพิเศษที่เกิดจากเหตุการณ์ เราต้องดูแลไปถึงผู้ปกครองเขาด้วย เด็กกลุ่มนี้ก็จะมีเพิ่มขึ้นทุกปีโดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ" สุรัตน์ กล่าว
ปัญหาด้านสุขภาวะที่ถูกละเลย ทำให้การดูแลเด็กพิเศษ รวมถึงเด็กพิการทางกายที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่สู้ดีนัก
อย่าง น้องซูซานะ บากา วัย 4 ขวบ ซึ่งพิการที่ขา และไม่มีทวารหนัก บอกว่า วันเด็กปีนี้เธออยากได้ชุดนักเรียน เพราะไม่มีชุดนักเรียนเป็นของตัวเอง
สาเหตุที่น้องไม่มีชุดนักเรียน สุรียา บากา พ่อน้องซูซานะบอกว่า เป็นเพราะหาโรงเรียนสำหรับเด็กปกติให้น้องเรียนไม่ได้ สุดท้ายต้องมาเรียนรวมกับโรงเรียนของเด็กพิเศษ ที่มีปัญหาพัฒนาการทางสมอง แม้จะไม่ตรงกับที่ตั้งใจนัก แต่ก็อยากให้ลูกได้เรียนไว้ก่อน
“ปีที่แล้วตลอดทั้งปี หาโรงเรียนปกติให้น้องไม่ได้ จึงได้ส่งไปที่โรงเรียนเด็กพิเศษก่อน ขณะนี้ลูกสาวกำลังรักษาเรื่องทวารหนักและหมอจะทำขาเทียมให้ เป็นหมอที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ถ้าได้ขาเทียมก็จะพาน้องไปเรียนในโรงเรียนปกติ เพราะน้องพิการขากับไม่มีทวาร ไม่ได้มีปัญหาเรื่องพัฒนาการช้า การมาเรียนรวมกับเด็กพิเศษกลัวว่าจะทำให้น้องพัฒนาการช้าตามไปด้วย”
"ของขวัญวันเด็กถ้าเป็นไปได้ อยากขอโรงเรียนปกติให้น้องได้ไปเรียน และขอทุนการศึกษาแค่ นี้ก็ถือว่าเป็นของขวัญที่ดีที่สุดแล้วสำหรับน้องและครอบครัว"
กิจกรรมวันเด็กที่ศูนย์การศึกษาพิเศษปัตตานี เปิดให้เด็กๆ ได้แสดงความสามารถกันอย่างเต็มที่ อย่าง น้องอาซียะห์ นาแซ วัย 6 ขวบ โชว์การวาดรูปด้วยเท้า เพราะเธอไม่มีแขนทั้งสองข้าง ทั้งยังมีขาแค่ข้างเดียว
"ของขวัญวันเด็กปีนี้ อยากได้ทุนการศึกษา เพื่อที่จะได้เรียนสูงๆ ทางด้านศิลปะ อยากได้รถเข็นด้วย พ่อจะได้เข็นไปโรงเรียนได้ ตอนนี้ต้องเดินกระโดดขาเดียวสลับกับให้พ่ออุ้มไปโรงเรียน ถ้าได้รถเข็นจะได้เข็นไปโรงเรียนเอง"
แม้จะเป็นเด็กพิเศษและอยู่ในพื้นที่ห่างไกลถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ความรักที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังคงมีไม่แพ้คนเมืองหรือคนในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ เพราะพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงทำ กว้างไกลไปถึงทุกๆ พื้นที่ในประเทศนี้
น้องมูฮำหมัดอิรฟาน สู หนึ่งในเด็กพิเศษ บอกว่า วันเด็กปีนี้ได้ร้องเพลงพ่อให้ทุกคนฟัง รู้สึกดีใจที่สุด ได้บอกให้คนอืนรู้ว่าเรารักพ่อหลวงมากขนาดไหน เรารู้ว่าพ่อเหนื่อยเพื่อคนไทยทุกคน
“ผมอยากได้จักรยานเป็นของขวัญ จะได้ขับไปโรงเรียนและขับไปร้องเพลงพ่อให้ใครต่อใครฟัง ทุกคนจะได้รักพ่อมากขึ้นอีก” มูฮำหมัดอิรฟาน บอก
นอกจากจำนวนเด็กพิเศษกว่า 5,000 คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังมีเด็กอีกมากกว่า 6,300 คนที่ต้องเป็นกำพร้าจากปัญหาความไม่สงบที่คร่าชีวิตผู้ให้กำเนิดของพวกเขา
วิเชียรโชค เพ็ชร์ภักดี ผู้อำนวยการสำนักการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ บอกว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบขณะนี้ 6,300 กว่าคน ทาง ศอ.บต.ได้ให้ความช่วยเหลือเรื่องทุนการศึกษา เพื่อให้เด็กๆ มีอนาคตที่ดีต่อไป
จะว่าไปแล้วตัวเลขเด็กกำพร้าในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้มีเพียง 6,300 คน เพราะตัวเลขนี้นับเฉพาะเด็กที่ได้รับทุนการศึกษาจาก ศอ.บต.อยู่ ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ
จากการตรวจสอบข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า การกำหนดนิยามคำว่า “เด็กกำพร้า” ทำให้จำนวนเด็กที่ต้องสูญเสียบุพการีไปจากเหตุรุนแรงค่อนข้างคลาดเคลื่อน เพราะเมื่อเด็กคนหนึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ก็จะมีสถานะเป็น “เด็กกำพร้า” ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่เมื่อเด็กคนนี้อายุเกินความเป็นเด็ก เช่น อายุเกิน 18 ปี หรือ 20 ปี โดยนิยามของรัฐและกฎหมาย พวกเขาย่อมไม่ใช่เด็กอีกแล้ว จำนวนเด็กกำพร้าจึงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และส่งผลถึงการให้ความช่วยเหลือเยียวยาที่ติดกรอบของคำว่า “เด็ก” ด้วย
ในแง่ของการป้องกันในทางสังคม เพื่อลดปัญหาทั้งเด็กพิเศษ เด็กพิการแต่กำเนิด และเด็กกำพร้า แน่นอนว่าต้องอาศัยความเข้มแข็งของครอบครัวเป็นพื้นฐาน
ศุภวรรณ พึ่งรัศมี ประธานคณะทำงานองค์กรแห่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวจังหวัดชายแดนภาคใต้ บอกว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ทุกคนต้องตระหนักว่า เราต้องสร้างเด็กให้มีความสุข สร้างฝันที่ดี แล้วจะเกิดอนาคตที่ดีสำหรับพวกเขา เมื่อเด็กๆ มีอนาคตที่ดี สังคมก็จะสงบสุข
“นี่คืออีกหนึ่งแนวทางการสร้างความสมานฉันท์ที่เริ่มจากการสร้างระบบครอบครัวที่ดี เพื่อสร้างให้เด็กมีความรับผิดชอบตามวัย มีความซื่อสัตย์ กตัญญู การแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกภาคส่วนต้องก้าวไปด้วยกัน โดยเฉพาะหน่วยเล็กที่สุดของสังคมอย่างครอบครัว”