ก.เกษตรฯรับลูก ครม.ตั้ง “กรมฝนหลวงฯ” สนองพระราชดำริแก้ภัยแล้ง
ครม.อนุมัติหลักการจัดตั้งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร สนองพระราชดำริเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ปัญหาภัยแล้งช่วยเกษตรกร-ลดความเสี่ยงภัยธรรมชาติ ธีระแจงเร่งดำเนินการภายในปีนี้
วันที่ 4 พ.ค.54 นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) 3 พ.ค.ได้อนุมัติหลักการจัดตั้งกรมฝนหลวงและการบินเกษตรตามที่ กษ.เสนอ โดยตัดโอนหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้แก่ สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร และสำนักงานปลัด กษ.มาตั้งเป็นกรมหนึ่งในสังกัดกระทรวงฯ ทั้งนี้จะเร่งรัดให้เสร็จภายในปีนี้
รมว.กษ. กล่าวต่อว่าเหตุผลการตั้งกรมฯดังกล่าว เนื่องจากภารกิจฝนหลวงและการบินเกษตรมีความสำคัญในการรองรับโครงการตามพระราชดำริ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบความทุกข์ยากเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ และยังเป็นภารกิจเพื่อสนองนโยบายรัฐบาล และความต้องการของผู้ใช้น้ำ แต่ยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง หรือที่มีอยู่ก็ทำงานซ้ำซ้อนกัน
ทั้งนี้การจัดตั้งขึ้นเป็นกรม จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติภารกิจฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อชาวบ้านในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเกษตรกรซึ่งขาดแคลนน้ำ
“ตั้งแต่เริ่มหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภายใต้โครงการพระราชดำริฝนหลวงตั้งแต่ปี 2515 เป็นต้นมา ภารกิจนี้เป็นส่วนสำคัญแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชนมาตลอด ประกอบกับเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในปี 2554 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุ 7 รอบ ในฐานะพระบิดาแห่งฝนหลวง และทรงสิทธิในสิทธิบัตรเทคโนโลยีฝนหลวง” นายธีระ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างการจัดตั้งกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ของ กษ. ได้กำหนดอำนาจหน้าที่หลัก คือปฏิบัติการฝนหลวงฯ ทั้งระบบ เพื่อให้บริการแก่เกษตรกรและผู้ใช้น้ำทั่วไป และเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่การเกษตรและเขื่อนกักเก็บน้ำ ตลอดจนต้องมีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการทำฝนและการดัดแปรสภาพอากาศ เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และร่วมจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้เพียงพอ เกิดประโยชน์อย่างทั่วถึง และปฏิบัติงานด้านการเงิน และการสื่อสารเพื่อสนับสนุนภารกิจด้านการเกษตร
โดยกำหนดให้แบ่งส่วนราชการของกรมฝนหลวงฯ 12 สำนัก คือสำนักบริหารกลาง, สำนักการคลังและพัสดุ, สำนักแผนงานและประเมินผล , สำนักวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีฝนหลวง , สำนักบริหารการบินเกษตร, สำนักตรวจอากาศฝนหลวง, สำนักสถิติและสารสนเทศฝนหลวง และสำนักปฏิบัติการฝนหลวงภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้) โดยในส่วนสุดท้ายนี้จะทำหน้าที่ประสานราชการกับหน่วยงาน องค์กร เกษตรกร และผู้รับบริการในพื้นที่รับผิดชอบเพื่อจัดทำแผนงานโครงการระสั้นและระยะยาว เพื่อเป็นองค์ประกอบด้านการป้องกันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทรัพยากรน้ำและภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง.