เปิดโครงสร้าง-แนวทางปรองดองฉบับ สปท.-ให้โอกาสคนหนีคดีกลับไทย
“…ห้ามมิให้รัฐ หรือรัฐบาล สร้างกลุ่มสนับสนุนหรือสร้างม็อบ เพื่อการสนับสนุนรัฐบาล และหากมีกลุ่มใดมาแสดงการสนับสนุนรัฐบาล ให้รัฐบาลนั้นชี้แจงห้ามปรามมิให้มีการกระทำการดังกล่าวเกิดขึ้น หากรัฐบาลใดเพิกเฉยหรือรู้เห็นเป็นใจ ให้รัฐบาลนั้นพ้นจากตำแหน่งทันที และให้มีความรับผิดเช่นเดียวกับประชาขนที่กระทำความผิดทั่วไป หรือหากมีกลุ่มประชาชนออกมาต่อต้านหรือเรียกร้องรัฐบาลในเรื่องใด ให้รัฐบาลตกลงเจรจาทำความเข้าใจต่อกัน เพื่อให้รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และหาคนกลางเพื่อแก้ปัญหาและทางออกร่วมกัน โดยห้ามกระทำการอันเป็นความรุนแรง หรือการทำให้ประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อนเสียหาย…”
เสียงเรียกร้องสร้างความปรองดอง ถูกปลุกให้คืนชีพขึ้นอีกครั้ง !
ท่ามกลางความพยายามจากรัฐบาล สภา แกนนำกลุ่มการเมืองต่าง ๆ รวมถึงภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ที่ส่งเสียงมายาวนานผ่านมาหลายยุคสมัย แต่ทว่าแทบไม่มีรัฐบาลใดที่ดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้เป็นจริงเป็นจังอย่างเป็นรูปธรรมได้
ทว่ามาคราวนี้ซีกรัฐบาล นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้ได้รับความไว้วางใจ ‘สูงสุด’ จาก ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานสร้างความปรองดอง ได้เชื้อเชิญให้บรรดาฝ่ายการเมือง-เสื้อสีต่าง ๆ มาหารือกันเพื่อหาทางออกเรื่องนี้ เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งทางสีเสื้อที่ยาวนานมากว่า 10 ปี ให้จบลงในรัฐบาลนี้ให้ได้
ส่วนในซีกรัฐสภา นำโดยสภาขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.ชุดดังกล่าว เตรียมชงข้อเสนอการปรองดองถึงรัฐบาลในช่วงปลายเดือน ม.ค. 2560
โดยจุดร่วมในการสร้างความปรองดองทั้งคณะของ ‘บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร’ และคณะของ กมธ.การเมือง สปท. คือ การนิรโทษกรรมให้กับบรรดาผู้ชุมนุมที่ไม่ได้กระทำความผิดร้ายแรง โดยต้อง ‘สารภาพ’ ทั้งหมด และจะนำเรื่องเสนอต่อศาลให้พิจารณาพักโทษ โดยเฉพาะ กมธ.การเมือง สปท. ระบุว่า หากได้รับการพักโทษแล้วในช่วง 5 ปี ห้ามไปร่วมชุมนุมทางการเมือง หรือเคลื่อนไหวทางการเมืองอีก ส่วนผู้ที่ถูกดำเนินคดีร้ายแรง เช่น เผาทรัพย์สินราชการ หรือฆ่าคนตาย จะต้องต่อสู้คดีในชั้นกระบวนการยุติธรรม โดยไม่รับการพักโทษ ส่วนบรรดาแกนนำหากรับสาพภาพ จะเสนอต่อศาลให้พิจารณาโทษในสถานเบา
ที่สำคัญเปิดช่องให้ ผู้ต้องหาที่หลบหนีคดี กลับเข้ามาต่อสู้คดีภายในประเทศโดยได้รับการประกันตัวได้ แต่ไม่นับรวมผู้ต้องหาที่ศาลมีคำพิพากษาสิ้นสุดลงไปแล้ว หากกลับมาจะต้องได้รับโทษตามคำพิพากษา
แต่ยังมีจุดสงวนร่วมกันคือ ไม่นิรโทษกรรมกับบุคคลที่ถูกกล่าวหากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคดีทุจริตอย่างเด็ดขาด !
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า กมธ.การเมือง สปท. จัดทำข้อเสนอ และโครงสร้างในการปรองดองเสร็จสิ้น เสนอต่อรัฐบาลแล้ว
มีอะไรน่าสนใจ หรือแตกต่างจากข้อเสนอที่ผ่านมาในอดีตบ้าง บรรทัดต่อไปนี้มีคำตอบ
กมธ.การเมือง สปท. เล็งเห็นปัญหาที่ทำให้เกิดความขัดแย้งมาอย่างยาวนานในประเทศหลายสิบข้อด้วยกัน จะยกเฉพาะปัญหาที่สำคัญ ๆ โดยทั้งหมดต่างชี้นำว่า ต้นเหตุของความขัดแย้งทั้งหมดทั้งมวลคือ ‘นักการเมือง’ เช่น
หนึ่ง นักการเมืองที่มีตำแหน่งทางการเมืองในระดับผู้นำประเทศ และคนในครอบครัวเป็นตัวหลักที่ก่อให้เกิดพลังประชาชนสนับสนุนและต่อต้านเป็นจำนวนมาก โดยปัญหาของนักการเมืองระดับแกนนำ และผู้สั่งการที่มีเงินอุดหนุนจำนวนมากถูกดำเนินคดี เอาเงินมาขับเคลื่อนต่อสู้คดี และมีการว่าจ้างประชาชนจำนวนมากออกมาสนับสนุนจนก่อให้เกิดความแตกแยก แบ่งฝ่าย และความวุ่นวายให้กับคนในชาติ รวมถึงมีนักการเมืองในระดับรองที่อยู่แนวหน้าเป็นหัวหน้ากลุ่มที่มีอิทธิพลหรือประชาชนสนับสนุน เป็นแกนนำในการใช้โอกาสหาผลประโยชน์จากการชุมนุมของประชาชน จนถูกขนานนามว่ากลุ่ม “สู้แล้วรวย”
สอง ปัญหาของความแตกแยกเกิดจากกลุ่มทุนของฝ่ายการเมืองที่ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้พ้นคดีและพ้นความผิดในคดีที่ถูกกล่าวหาหรือถูกดำเนินคดีอยู่ โดยการระดมทุนจำนวนมาออกมาเป็นค่าใช้จ่ายในการต่อสู้แสดงพลังประชาชน โดยใครที่สามารถนำกลุ่มประชาชนออกมาจำนวนมาก จะได้เงินค่าใช้จ่ายและเงินตอนแทนจำนวนมาก ปัญหาของคนหนีคดีที่ไปอยู่ต่างประเทศยังใช้การสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตแพร่ภาพกระจายเสียงต่อต้านรัฐบาล วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโดยการสร้างแนวร่วมให้เสนอความเห็นอันเป็นการทำลายความมั่นคงของประเทศรวมไปถึงการสร้างม็อบเพื่อสนับสนุนรัฐบาล ด้วยความต้องการเอาชนะด้วยเสียงสนับสนุนจากประชาชน จนกลายเป็นปัญหาของความแตกแยกของคนในชาติและยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน
ประเด็นสำคัญที่ควรแก้ไขคือ การปฏิรูปการเมืองก่อนมีการเลือกตั้ง จึงเป็นเป้าหมายสำคัญของการเปลี่ยนแปลงระบบและโครงสร้างทางการเมือง รวมถึงการปฏิรูปพฤติกรรมของนักการเมือง นอกจากนี้ควรแก้ไขสภาพความขัดแย้งและการออกมาต่อสู้ประหัตประหารด้วยอาวุธร้ายแรงทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการบังคับใช้กฏหมายที่เสื่อมประสิทธิภาพ จนบ้านเมืองใกล้สถานการณ์เรียกว่า ‘กลียุค’ ขาดความสงบไปทั้งประเทศด้วย
ข้อเท็จจริงที่ กมธ.การเมือง สปท. เห็นคือ ปัญหาการเมืองในปัจจุบันจำเป็นต้องมีการปฏิรูปให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง
นัยว่าเพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองอย่างยั่งยืน ฟื้นฟูและสร้างประเทศให้เจริญรุ่งเรือง ประชาชนมีความผาสุก ให้กระบวนการยุติธรรมเกิดความเชื่อมั่นเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ?
เบื้องต้นเพื่อแก้ปัญหาคนที่ต้องคดีในช่วงวิกฤติการเมืองที่ผ่านมา เสนอให้ คดีอาญาของประชาชนทั่วไป (ไม่ใช่แกนนำหรือผู้สั่งการ) ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลไม่ว่าชั้นของศาลใด หากจำเลยให้การยอมรับและรับรองว่าจะไม่ไปกระทำการใด ๆ ตามที่ถูกกล่าวหาหรือตามที่ถูกฟ้องต่อศาล ให้หยุดโทษหรือให้พักการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ก่อน และให้ปล่อยตัวจำเลยไปชั่วคราว มีกำหนดเวลา 5 ปี หากในระยะเวลาดังกล่าวจำเลยมิได้ไปร่วมชุมนุมทางการเมือง หรือมิได้กระทำความผิดอาญาใด ๆ ให้คดีดังกล่าวยุติลงเสมือนว่า มิได้กระทำความผิด
ส่วนคดีการเมืองที่มีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกกล่าวหาหรือถูกดำเนินคดีอาญาต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือคดีทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง รวมถึงผู้ที่หลบหนีคดีตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2549-22 พ.ค. 2557 หากบุคคลดังกล่าวกลับมามอบตัวหรือถูกดำเนินคดีตกเป็นจำเลย ให้การยอมรับต่อศาลว่า ได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาหรือตามถูกฟ้องคดีต่อศาล ให้หยุดโทษหรือให้พักการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ก่อนเช่นกัน และให้ปล่อยตัวจำเลยไปชั่วคราวมีกำหนดเวลา 5 ปี หากในระยะเวลาดังกล่าว จำเลยมิได้ไปร่วมชุมนุมทางการเมือง หรือมิได้กระทำผิดอาญาใด ๆ ให้คดีดังกล่าวยุติลงเสมือว่าบุคคลนั้นมิได้กระทำความผิด และให้ปล่อยตัวไปดำเนินชีวิตตามปกติ
ส่วนบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด และอยู่ระหว่างการหลบหนีทั้งในและต่างประเทศ ให้มีมาตรการให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหากลับมามอบตัวเพื่อต่อสู้คดี โดยให้ได้รับการประกันตัวได้ทุกคดี และให้คดีดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป หรือให้การยอมรับตามที่ถูกกล่าวหาหรือตามที่ถูกฟ้องต่อศาล ก็ให้ได้รับสิทธิการปล่อยตัวให้กลับไปดำเนินชีวิตตามปกติต่อไปเช่นกัน
แต่ในคดีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกดำเนินคดีในข้อหาที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กับคดีที่เกี่ยวข้องกับคดีการเมืองหรือที่เกี่ยวกับการชุมนุมข้างต้น เมื่อเป็นคดีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐมิได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ลงมือกระทำความผิดเสียเอง ไม่ว่าคดีความจะอยู่ในชั้นใด ก็ให้ได้รับโอกาสให้ยุติคดีเช่นกันด้วย โดยให้โจทก์ถอนฟ้องหรือให้ศาลจำหน่ายคดีออกไปจากสารบบความ
แต่ทั้งหมดทั้งหมดต้องไม่ใช่ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) และคดีทุจริตคอร์รัปชั่น
ส่วนมาตรการแก้ไขในอนาคตนั้น กมธ.การเมือง สปท. เชื่อว่า ต้องเพิ่มกฎหมายอีกหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นกฏหมายห้ามมิให้การกระทำยั่วยุ ปลุกปั่น หรือปลุกระดมให้ประชาชนเกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังกัน โดยใช้ควบคู่ไปกับ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ทั้งนี้หากพบการกระทำผิดตามกฎหมายดังกล่าว ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากคนทำผิดเป็นนักการเมือง นอกจากมีโทษเหมือนบุคคลทั่วไปแล้ว อาจถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองอย่างน้อย 10 ปี หรือตลอดชีวิต
นอกจากนี้ห้ามมิให้รัฐ หรือรัฐบาล สร้างกลุ่มสนับสนุนหรือสร้างม็อบ เพื่อการสนับสนุนรัฐบาล และหากมีกลุ่มใดมาแสดงการสนับสนุนรัฐบาล ให้รัฐบาลนั้นชี้แจงห้ามปรามมิให้มีการกระทำการดังกล่าวเกิดขึ้น หากรัฐบาลใดเพิกเฉยหรือรู้เห็นเป็นใจ ให้รัฐบาลนั้นพ้นจากตำแหน่งทันที และให้มีความรับผิดเช่นเดียวกับประชาขนที่กระทำความผิดทั่วไป หรือหากมีกลุ่มประชาชนออกมาต่อต้านหรือเรียกร้องรัฐบาลในเรื่องใด ให้รัฐบาลตกลงเจรจาทำความเข้าใจต่อกัน เพื่อให้รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง และหาคนกลางเพื่อแก้ปัญหาและทางออกร่วมกัน โดยห้ามกระทำการอันเป็นความรุนแรง หรือการทำให้ประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
รายงานผลการศึกษาดังกล่าว ยังเสนอด้วยว่าในช่วงเลือกตั้ง ส.ส. ระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรก หลังรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติมีผลบังคับใช้ หากพรรคการเมืองใดได้คะแนนเสียงสนับสนุนจากประชาชนเป็นจำนวนมากให้พรรคการเมืองดังกล่าวเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล หากผลคะแนนเสียงของประชาชนไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล ขอเสนอให้บุคคลที่สมาชิกรัฐสภาพิจารณาเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมให้มีการร่วมมือสองพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงข้างมากเป็นลำดับแรก และอาจร่วมกับพรรคการเมือง จัดตั้งเป็น ‘รัฐบาลแห่งชาติ’
ทั้งหมดคือข้อเสนอเบื้องต้นเพื่อเป็นแนวทางให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พิจารณา ควบคู่ไปกับการมอบหมายให้ ‘บิ๊กป้อม’ ตั้งคณะทำงานฯขึ้นมาพิจารณาแนวทางปรองดองเช่นกัน
โดยโครงสร้างของคณะกรรมการปรองดองฯ เวอร์ชั่น กมธ.การเมือง สปท. มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวเรือใหญ่ ให้ประธาน และรองประธาน สนช./สปท. ดูแลเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ ให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง บริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ชาติ
ส่วนแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ จะมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ มาช่วยรับผิดชอบจัดทำความเห็นร่วมเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ด้วย โดยจะมีการจัดทำคำถามกลางเพื่อใช้สัมภาษณ์กลุ่มบุคคลเป้าหมายเพื่อรับทราบความเห็นสำหรับการเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ หลังจากนั้นจะสัมภาษณ์เชิงลึก เพื่อจัดทำความเห็นร่วม และทำ Focus Group เพื่อปรับปรุงร่างความเห็นร่วมให้สมบูรณ์ เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย ก่อนจัดเวทีสาธารณะให้ประชาชนทั่วไปช่วยปรับปรุงร่าง หรือแสดงความเห็นร่วมครั้งสุดท้าย ก่อนเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำกรอบความเห็นร่วมไปขยายผลในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ (ดูเอกสารประกอบ)
ท้ายสุดจะสำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรมหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด !