สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ 8 จังหวัด
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานปัจจุบันระดับน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ลดลงทุกจังหวัดแล้ว ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ 8 จังหวัด
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานปัจจุบันระดับน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ลดลงทุกจังหวัดแล้ว ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ รวม 76 อำเภอ 455 ตำบล 3,672 หมู่บ้าน โดย ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังและทรัพยากรปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ว่า ฝนที่ตกหนักตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 ถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดอุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีจังหวัดได้รับผลกระทบ 12 จังหวัด รวม 119 อำเภอ 721 ตำบล 5,476 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 521,574 ครัวเรือน 1,603,541 คน ผู้เสียชีวิต 36 ราย สูญหาย 1 ราย สถานที่ราชการเสียหาย 17 แห่ง ถนน 592 จุด คอสะพาน 106 แห่ง
ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ระนอง ปัตตานี และนราธิวาส ยังคงมีสถานการณ์ใน 8 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ รวม 76 อำเภอ 455 ตำบล 3,672 หมู่บ้าน
โดยพัทลุง มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอควนขนุน อำเภอปากพะยูน อำเภอเขาชัยสน และอำเภอบางแก้ว รวม 13 ตำบล 175 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 27,274 ครัวเรือน 64,018 คน อพยพ 234 ครัวเรือน 849 คน ผู้เสียชีวิต 5 ราย
สงขลา มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอควนเนียง อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ และอำเภอระโนด รวม 17 ตำบล 86 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,880 ครัวเรือน 26,715 คน อพยพ 19 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 2 ราย
ตรัง มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองตรัง อำเภอห้วยยอด อำเภอวังวิเศษ และอำเภอกันตัง รวม 44 ตำบล 7 เทศบาล 217 หมู่บ้าน 16 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 17,891 ครัวเรือน อพยพ 806 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 2 ราย
สุราษฎร์ธานี มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 17 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอบ้านนาสาร อำเภอดอนสัก อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี อำเภอท่าชนะ อำเภอเกาะสมุย อำเภอไชยา อำเภอบ้านนาเดิม อำเภอชัยบุรี อำเภอเกาะพะงัน อำเภอท่าฉาง อำเภอพระแสง อำเภอวิภาวดี อำเภอเวียงสระ อำเภอพนม อำเภอพุนพิน และอำเภอเคียนซา รวม 97 ตำบล 700 หมู่บ้าน 25 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 79,125 ครัวเรือน 230,981 คน ประชาชนอพยพ 203 ครัวเรือน 725 คน ผู้เสียชีวิต 6 ราย
นครศรีธรรมราช มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 23 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชะอวด อำเภอทุ่งสง อำเภอจุฬาภรณ์ อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอท่าศาลา อำเภอสิชล อำเภอนาบอน อำเภอพิปูน อำเภอช้างกลาง อำเภอฉวาง อำเภอนบพิตำ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอพระพรหม อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอขนอม อำเภอพรหมคีรี อำเภอลานสกา อำเภอบางขัน อำเภอปากพนัง อำเภอถ้ำพรรณรา อำเภอทุ่งใหญ่ อำเภอหัวไทร และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ รวม 163 ตำบล 1,489 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 247,304 ครัวเรือน 795,304 คน ผู้เสียชีวิต 9 ราย
ชุมพร มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอทุ่งตะโก อำเภอพะโต๊ะ อำเภอหลังสวน อำเภอละแม อำเภอสวี อำเภอเมืองชุมพร อำเภอปะทิว และอำเภอท่าแซะ รวม 64 ตำบล 643 หมู่บ้าน 1 เทศบาล 22 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 23,060 ครัวเรือน 74,631 คน ผู้เสียชีวิต 3 ราย
กระบี่ มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเขาพนม อำเภออ่าวลึก อำเภอปลายพระยา และอำเภอเกาะลันตา รวม 24 ตำบล 64 หมู่บ้าน 1 เทศบาล 2 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 97 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 3 ราย
และประจวบคีรีขันธ์ มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบางสะพาน อำเภอทับสะแก อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอบางสะพานน้อย อำเภอกุยบุรี อำเภอสามร้อยยอด และอำเภอหัวหิน รวม 33 ตำบล 180 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 21,496 ครัวเรือน 55,868 คน อพยพ 105 ครัวเรือน 320 คน ผู้เสียชีวิต 3 ราย
โดยภาพรวมสถานการณ์ในปัจจุบันระดับน้ำลดลงทุกจังหวัดแล้ว
ทั้งนี้ ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังและทรัพยากรปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่พร้อมรถบรรทุกขนาดใหญ่ เรือท้องแบนอำนวยความสะดวกในการสัญจรแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบและสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ รวมถึงดำเนินการซ่อมแซมถนนและสาธารณูปโภคที่ได้รับความเสียหายให้สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ฝนตกในภาคใต้ลดลง ทำให้สถานการณ์คลี่คลายและเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 14 – 19 มกราคม 2560 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตอนเพิ่มขึ้น และคลื่นลมมีกำลังแรง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมรับมืออุทกภัยและดินถล่ม โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัย เฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
ที่มาภาพ:เฟชบุค ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์