ฉบับเต็ม! ความเห็นกฤษฎีกาชี้ขาดปมเชฟรอน ต้องเสียภาษี 3,000 ล้าน
"...การขนของไปใช้ในการสำรวจและการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวเป็นการขนของไปใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในราชอาณาจักร หากมีภาระภาษีใด ๆ เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการดังกล่าว ก็ต้องมีการจัดเก็บภาษีเช่นเดียวกับการประกอบกิจการในราชอาณาจักรด้วย.."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่อง ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์น้ำมันไปใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมในบริเวณไหล่ทวีป ฉบับเต็ม สรุปว่า การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากชายฝั่งในราชอาณาจักรไปยังแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมซึ่งตั้งอยู่ในเขตไหล่ทวีปนอกอาณาเขต 12 ไมล์ทะเล จึงต้องถือตามกฎหมมยว่าด้วยปิโตรเลียมซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะกล่าวคือ ถือว่า การขนของไปใช้ในการสำรวจและการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวเป้นการขนของไปใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในราชอาณาจักร หากมีภาระภาษีใดๆเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการดังกล่าว ก็ต้องมีการจัดเก็บภาษีเช่นเดียวกับการประกอบกิจการในราชอาณาจักรด้วย
ขณะที่ แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า การขนส่งน้ำมันไปยังแท่นขุดเจาะน้ำมันเป็นการค้าชายฝั่งหรือในราชอาณาจักรต้องเสียภาษี เมื่อได้รับรายงานผลการตีความจากกรมศุลกากรอย่างเป็นทางการแล้ว จะสั่งการให้กรมสรรพาสามิตประเมินภาษีส่วนที่ไม่ได้เก็บจากบริษัทเชฟรอนมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท และกรมสรรพากรต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนที่ขาดไปเนื่องจากฐานราคาในการคิดภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำเนื่องจากยังไม่ได้บวกภาษีสรรพาสามิต
(อ่านประกอบ : เชฟรอนอ่วม! คลังเรียกเงินคืนกว่า 3พันล้าน หลังกฤษฎีกาตีความชัดต้องเสียภาษี)
--------------------------
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เรื่อง ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์น้ำมัน
ไปใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมในบริเวณไหล่ทวีป
-----------------------------
กรมศุลกากรได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค 0503/16634 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า สำนักงานฯ ได้พิจารณาข้อหารือของกรมศุลกากร กรณีการปฏิบัติพิธีการศุลกากรในการนำของออกไปใช้ในพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมในเขตไหล่ทวีปบริเวณอ่าวไทย และการนำของออกจากเขตไหล่ทวีปเข้ามาในราชอาณาจักร โดยเห็นควรให้กรมศุลกากรหารือกระทรวงพลังงานและกระทรวงการต่างประเทศให้ได้ข้อยุติตามขั้นตอนของการบริหารราชการแผ่นดินเสียก่อน หากยังมีปัญหาทางกฎหมายที่หาข้อยุติไม่ได้จึงหารือมายังสำนักงานฯ พิจารณาให้ความเห็นต่อไป
กรมศุลกากร จึงได้ประชุมร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมายและกรมเชื้อเพลงธรรมชาติ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2559 เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับการนำของออกไปใช้ในพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทยนอกบริเวณทะเลอาณาเขต โดยที่ประชุมมีมติว่า การกำหนดพิธีการศุลกากรสำหรับการขนส่งของระหว่างชายฝั่งในราชอาณาจักรและพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมที่ตั้งอยู่นอกทะเลอาณาเขต จะพิจารณาจากของที่จะมีการขนส่งเป็นหลัก หากเป็นของเพื่อใช้ในกิจการปิโตรเลียมแล้ว ให้ถือว่าพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมในบริเวณดังกล่าวเป็นราชอาณาจักรไทย ภายใต้บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และให้ปฏิบัติพิธีการศุลกากรค้าชายฝั่งโดยอนุโลม ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการร่างกฎหมาย) เรื่องเสร็จที่ 28/2525 ประกอบคำวินิจฉัยคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 318/2539
ต่อมา กรมศุลกากรได้แจ้งมติที่ประชุมดังกล่าวให้กระทรวงการคลังทราบ แต่กระทรวงการคลังเห็นว่า หากศึกษาคำวินิจฉัยคณะกรรมการกฤษฎีกาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จะเห็นว่า มีเหตุผลและแนวทางการพิจารณาแตกต่างกันไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับในแต่ละกรณีได้แก่ คำวินิจฉัยคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 16/2525 เรื่องเสร็จที่ 712/2536 และเรื่องเสร็จที่ 1234/2555 ทั้งนี้ ยังไม่ปรากฏว่ามีคำพิพากษาศาลฎีกา หรือการตอบข้อหารือของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่วินิจฉัยไว้ในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการส่งสินค้าโดยเฉพาะน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันไปยังแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมซึ่งตั้งอยู่ในเขตไหล่ทวีปนอกเขต 12 ไมล์ทะเลโดยตรง จึงเห็นควรให้กรมศุลกากรหารือสำนักงานว่าฯ การส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากในราชอาณาจักรไปยังแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมซึ่งตั้งอยู่ในเขตไหล่ทวีปนอกเขต 12 ไมล์ทะเลดังกล่าว จะถือว่าเป็นการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 และตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 หรือไม่ อย่างไร
นอกจากนั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้แจ้งคำพิพากษาฎีกา ที่ 2899/2557 มายังกรมศุลกากรปรากฏตามหนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ด่วนที่สุด ที่ ตผ 0042/3842 ลงวันที่ 30 กันยายน 2559 สรุปความได้ว่า การประเมินอากรเพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบการกิจการให้บริการขนส่งระหว่างชายฝั่งและแท่นขุดเจาะน้ำมันในเขตไหล่ทวีปนั้น จะต้องพิจารณาความหมายของว่า “ราชอาณาจักร” ตามมาตรา 2 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกำหนดให้ราชอาณาจักร รวมถึงเขตไหล่ทวีปด้วย เมื่อแท่นขุดเจาะในเขตไหล่ทวีปถือเป็นราชอาณาจักรแล้วกิจการขนส่งดังกล่าวจึงไม่ถือว่าเป็นการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ ผู้ประกอบการจึงไม่มีสิทธิใช้อัตราร้อยละ 0 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจึงเห็นว่า แม้กฎหมายศุลกากรและกฎหมายสรรพสามิตจะไม่ได้กำหนดนิยามของคำว่า “ราชอาณาจักร” ไว้เป็นการเฉพาะ แต่เมื่อเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี จึงสมควรที่จะต้องนำหลักการตามประมวลรัษฎากรฐานะที่เป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งมาใช้บังคับด้วย
กระทรวงการคลังเห็นว่า การกำหนดพิธีการศุลกากรสำหรับการขนส่งของระหว่างชายฝั่งในราชอาณาจักรและพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมนอกบริเวณทะเลอาณาเขต จะส่งผลต่อการยกเว้นหรือคืนภาษีสินค้าที่ส่งออกนอกราชอาณาจักรภายใต้การกำกับดูแลของกรมสรรพสามิตด้วย แต่พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 กำหนดนิยามของคำว่า “นำเข้า” ไว้ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 เท่านั้น แต่ไม่ได้กำหนดนิยามของคำว่า “ส่งออก” ไว้ เห็นควรให้กรมศุลกากรหารือสำนักงานฯ ว่า การส่งของจากชายฝั่งในราชอาณาจักรออกไปยังพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมนอกบริเวณอาณาเขตตามกฎหมายสรรพสามิต จะเป็นไปตามแนวทางแห่งกฎหมายศุลกากรด้วยหรือไม่ และจะสามารถนำนิยามของคำว่า “ราชอาณาจักร” ตามประมวลรัษฎากรมาใช้บังคับกฎหมายศุลากรในฐานะเป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตามความเห็นของสำนักงานการตรวจแผ่นดินได้หรือไม่ อย่างไร
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมศุลกากร โดยมีผู้แทนกระทรวงการคลัง (สำนักงานปลัดกระทรวง กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และกรมสรรพากร) ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) และผู้แทนกระทรวงพลังงาน (กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้วปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อนำไปใช้ที่แท่นขุดเจาะมีสองรูปแบบ ได้แก่ การนำเรือขนาดใหญ่เข้ามารับน้ำมันเชื้อเพลิงจากชายฝั่งและขนไปยังแท่นขุดเจาะกับการนำเรือมารับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ชายฝั่งแล้วขนไปถ่ายเก็บไว้ในเรือปฏิบัติงานที่บริเวณแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพื่อนำไปถ่ายใช้เป็นเชื้อเพลิงในเรือปฏิบัติงาน และนำไปใช้กับเครื่องจักรบนแท่นขุดเจาะ และเห็นว่าประเด็นปัญหาตามที่หารือมานี้ยังไม่ชัดเจนจึงสอบถามผู้แทนหน่วยงานที่มาชี้แจงข้อเท็จจริงถึงประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่ยังไม่ได้ข้อยุติ โดยผู้แทนกระทรวงการคลัง (สำนักงานปลัดกระทรวง กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต) มีความเห็นร่วมกันขอให้วินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากในราชอาณาจักรไปยังแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมซึ่งตั้งอยู่ในเขตไหล่ทวีปนอกทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลดังกล่าว จะถือว่าเป็นการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธิศักราช 2469 และตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 หรือไม่ อย่างไร
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าวแล้วมีความเห็นว่า เมื่อพิจารณาบทบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 และพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 แล้ว มิได้นิยามคำว่า "ราชอาณาจักร" ไว้เป็นการเฉพาะว่ามีขอบเขตเพียงใด มีแต่พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ที่ได้บัญญัตินิยามของคำว่า "ราชอาณาจักร" ไว้ว่าหมายความรวมถึงเขตไหล่ทวีปสิทธิของประเทศไทยตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ยอมรับนับถือกันโดยทั่วไป และตามสัญญากับต่างประเทศด้วย ซึ่งสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิอธิปไตย (Sovereign Right) ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อกรณีตามปัญหาที่ขอหารือนี้เป็นการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงจากชายฝั่งไปยังแท่นขุดเจาะซึ่งอยู่ในบริเวณไหล่ทวีปที่อยู่นอกทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเล เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการทำงานของเครื่องจักร เพื่อปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และใช้ในเรือปฏิบัติงานที่บริเวณแหล่งสำรวจนอกทะเลอาณาเขตกรณีจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากในราชอาณาจักรไปยังแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมซึ่งตั้งอยู่ในเขตไหล่ทวีปนอกทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลดังกล่าวจะถือว่าเป็นการส่งของออกตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 และตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 หรือไม่ อย่างไร
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เห็นว่า คำว่า “ราชอาณาจักร” นั้นโดยทั่วไปหมายความรวมถึงเขตทางทะเลของประเทศตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 ด้วย ซึ่งในข้อ 2 และข้อ 3 ของอนุสัญญาดังกล่าว ได้กำหนดให้รัฐชายฝั่งใช้อำนาจอธิปไตยเหนือทะเลอาณาเขตได้ไม่เกิน 12 ไมล์ทะเล เมื่อพระราชบัญญัติศุลกากรฯ และพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตฯ มิได้บัญญัตินิยามคำว่า “ราชอาณาจักร” ไว้เป็นการเฉพาะ ขอบเขตของการบังคับใช้กฎหมายทั้งสองฉบับ กรณีทั่วไปจึงต้องตีความหมายทั่วไปซึ่งเป็นที่ยอมรับกันตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่หากเป็นการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากในราชอาณาจักรไปยังแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมที่ตั้งอยู่บนไหล่ทวีปเพื่อใช้ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมตามที่ขอหารือมา พระราชบัญญัติติปิโตรเลียมฯ ได้กำหนดนิยามของคำว่า “ราชอาณาจักร” ไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้นการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์น้ำมันจากชายฝั่งในราชอาณาจักรไปยังแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมซึ่งตั้งอยู่ในเขตไหล่ทวีปนอกทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเล จึงต้องถือตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ กล่าวคือ ถือว่าการขนของไปใช้ในการสำรวจและการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวเป็นการขนของไปใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในราชอาณาจักร หากมีภาระภาษีใด ๆ เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการดังกล่าว ก็ต้องมีการจัดเก็บภาษีเช่นเดียวกับการประกอบกิจการในราชอาณาจักรด้วย
อนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่กรรมการร่างกฎหมาย) ก็ได้เคยวางแนวทางในการพิจารณาคำว่า “ราชอาณาจักร” ไว้ในเรื่องเสร็จที่ 28/2525 สรุปความได้ว่ากฎหมายว่าด้วยศุลกากรเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากรจาก “ของ” ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือส่งออกนอกราชอาณาจักร ในเมื่อกฎหมายว่าด้วยศุลกากรมิได้นิยามคำว่า “ราชอาณาจักร” ไว้ ความหมายของคำว่า “ราชอาณาจักร” สำหรับ “ของ” ทั่วไปจึงต้องถือตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า หมายความถึงอาณาเขตของประเทศตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ถ้ามีกฎหมายเกี่ยวกับ “ของ” ใดโดยเฉพาะซึ่งนิยามคำว่า “ราชอาณาจักร” ไว้ความหมายของคำว่า “ราชอาณาจักร” สำหรับของนั้น ก็ย่อมเป็นไปตามกฎหมายนั้นบัญญัติไว้
file:///C:/Users/max/Downloads/c2_1886_2559%20(1).pdf
อ่านประกอบ :
เบื้องหลัง"ค่าโง่"ภาษี 3,000 ล้าน "บิ๊ก"กรมศุล-คลังอุ้ม"เชฟรอน"?
ค่าโง่ภาษีน้ำมันที่ต้องเรียกคืน
สตง.รับลูกค่าโง่ภาษีน้ำมัน บ.เชฟรอน!แจ้ง'บิ๊กตู่' สั่งรมว.คลังเรียกเงินคืน 3 พันล.
โชว์ชัดๆ หนังสือ สตง. ขอ'บิ๊กตู่'สั่งคลังเรียกคืนค่าโง่ภาษีบ.เชฟรอน3พันล.-เชือดจนท.!
สตง.ขู่ฝ่าฝืน ม.157! ปลัดคลังฯ ยื้อเก็บภาษีน้ำมันเชฟรอน ส่งกฤษฎีกาตีความซ้ำ
ไม่สนสตง.ขู่ฝ่าฝืนม.157! คลัง ส่งกฤษฎีกาตีความซ้ำ ปมเก็บภาษีน้ำมันเชฟรอน
เข้าข่ายความผิดต่อหน้าที่!สตง.โนติส'รมว.คลัง'ส่งตีความซ้ำปมภาษีน้ำมันเชฟรอน