หมอสุริยเดว ยกงานวิจัยสหรัฐฯ ยันบุหรี่ไฟฟ้าอันตราย เข้าสู่ร่างกายเร็ว ทำลายสมองชั้นสูง
ผอ. ศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านควบคุมยาสูบ ชี้ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า วันนี้สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ มี 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ลงทุน-ทำการตลาดในหลายประเทศ แถมสร้างวาทกรรม บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อย ยันไม่มีข้อมูลพิสูจน์ ปลอดภัยจริง
วันที่ 11 มกราคม 2560 มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดการเสวนาสื่อมวลชนเรื่อง “บุหรี่ไฟฟ้า…อันตรายมากว่าที่คุณคิด” เพื่อนำเสนอข้อมูล การรายงานของ US Surgeon General 2016 : THE FACTS on E-Cigarette Use Among Youth and Young Adults และข้อเท็จจริงเรื่องอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า รูปแบบต่างๆ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการต่างๆในการควบคุมป้องกันและปกป้องเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า ณ ห้องประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ถนนพระราม 6
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา พบว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์รูปแบบใหม่ที่จะส่งผ่านสารนิโคลตินเข้าสู่ร่างกายในรูปแบบละอองฝอย โดยไม่ต้องมีการเผาไหม้หรือการลุกไหม้ ด้วยบรรจุภัณฑ์ที่สวยหรู ดึงดูดใจ และทันสมัย คล้ายซิการ์ ปากกา สีสันสวยงาม ปรุงรสต่างๆ เช่น รสเชอร์รี่ ช็อกโกแลต วานิลลา ซึ่งรู้แล้วว่า วัยรุ่นชอบของรุ่นใหม่ อยากลอง ท้าทาย ทำให้ผู้ขายพยายามทำการตลาดเพื่อตอบโจทย์ในสินค้าและเป็นกระแส
“ในสหรัฐฯ มีลักษณะของบุหรี่ไฟฟ้า มีบลูทูธ สามารถใส่เสียงเพลง รับโทรศัพท์ เพิ่มเสียง ทำให้ผู้สูบมีความอยากสูบมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีร้านต่างๆที่จำหน่ายบุหรี่ และในนักเรียนระดับมัธยม มีการเพิ่มบุหรี่เพิ่มขึ้น 22% และยังมีการค้นพบด้วยว่า หากมีการเริ่มใช้มากเท่าไรก็จะติดสารเสพติดพวกนี้ยาวขึ้น ทำให้เกิดกระแสในวงกว้างอย่างรวดเร็ว”
รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวถึงตัวสารนิโคติน ยังเสี่ยงต่อชีวิต ถ้าใช้เกิน 60 มิลลิกรัมจะเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์มารดา ทั้งหมดนี้มาจากผลรายงานการวิจัย บุหรี่ไฟฟ้า 1 มวน มี 1.2 มิลลิกรัมของนิโคติน ถ้าสูบหนึ่งซองเข้าไปจะเท่ากับ 24 มิลลิกรัม แต่ใน 24 มิลลิกรัมมีหลายขนาดให้เลือก ซึ่งนิโคตินไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ควัน และละอองฝอยส่งผลกระทบต่อร่างกาย โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ
“บทสรุปของกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ ที่ผ่านมา พบว่า วัยรุ่น 25 % เคยทดลองใช้บุหรี่ไฟฟ้าแล้วอย่างต่อเนื่องในเดือนที่ผ่านมาราวๆ 3 ล้านคน ใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งพบว่า เป็นสารใหม่ที่เข้าสู่ร่างกายภายใน 7 วินาที จะไปทำลายสมองชั้นสูง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงทารกที่กำลังจะเกิดในครรภ์มารดาต้องได้รับผลกระทบไปด้วย และในความอยากรู้ อยากลอง ชอบรสชาติ การเข้าใจผิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้มีภัยร้ายแรง คนรอบข้างไม่ได้รับผลกระทบ บุหรี่ไฟฟ้าเป็นกระบวนการที่จะทำให้เลิกสูบบุหรี่ปกติได้ ซึ่งทำให้ความเข้าใจผิดเหล่านี้มีผลต่อเด็กเยาวชนในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์”
ด้านพญ.ปานทิพย์ โชติเบญจมาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงผลสำรวจการบริโภคยาสูบในเยาวชนไทย อายุ 13-15 ปี ล่าสุดในปี 2558 พบว่า ในภาพรวมการใช้ยาสูบของเยาชนไทยอยู่ที่ 4.7% ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กชาย ส่วนเด็กหญิงจะอยู่ที่ 1.9%
“ ประเทศไทยในปี 2557 นายกรัฐมนตรีได้พูดถึงบุหรี่ไฟฟ้ากับเด็กว่า มีการแพร่หลายในสังคมไทยปัจจุบัน จึงได้มอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการว่าจะทำการป้องกันและมีมาตรการที่จะไม่ให้เด็กเข้ามาใช้บุหรี่ไฟฟ้า แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นทำให้กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศในเรื่องสินค้าที่จะนำเข้า กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าและบารากู่ เป็นสินค้าที่ห้ามนำเข้าในราชอาณาจักร ประกาศเมื่อปลายปี 2557 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2557 บทลงโทษมีทั้งจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับได้ไม่เกิน 5 เท่า ของสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ริบสินค้าเหล่านั้น
นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ออกคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ 9/2558 ห้ามขาย และห้ามให้บริการบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า และตัวยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 กรณีพบว่า ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ขายหรือผู้ให้บริการเป็นผู้ผลิต ผู้สั่งนำเข้ามาขายต้องรับโทษเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า”
ขณะที่ผศ. ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านควบคุมยาสูบ กล่าวว่า ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้เป็นอย่างมาก จะต้องมีผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการทำธุรกิจนี้ ซึ่งในประเทศต่างๆทั่วโลก มี 55 ประเทศมีกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า มี 17 ประเทศ ที่กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และอีก 26 ประเทศกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบหนึ่ง
“ ในขณะที่มีบริษัทยาสูบข้ามชาติ 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ลงทุนในธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า และทำการตลาดบุหรี่ไฟฟ้าในหลายประเทศ โดยสร้างวาทกรรมว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อย ทั้งนี้บริษัท ฟิลลิป มอริส ผลิตบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อ IQQS บริษัท อเมริกัน โทแบคโค ผลิตยี่ห้อ Vype Epe บริษัท Japan Tobacco International ผลิตยี่ห้อ E-lites และ Ploom Tech สำหรับบริษัท Imperial Group ผลิตยี่ห้อ Puritane
ผศ. ดร.ลักขณา กล่าวถึงเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่อาจคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่จัดเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่ แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลพิสูจน์ว่า ปลอดภัย เพราะวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในเด็กและเยาวชน หากอยากให้เลิกสูบบุหรี่ได้จริงๆทำไมไม่ผลิตบุหรี่รสอื่น เช่น รสบอระเพ็ด เพราะมีรสชาติขม ทำให้เลิกสูบได้ แต่ในทางกลับกัน ผลิตบุหรี่รสสตอเบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ วานิลา ซึ่งเป็นความตั้งใจให้คนหันมาสูบ และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ได้รับผลกระทบต่อชีวิตและเป็นสาเหตุโอกาสในการเลิกสูบบุหรี่ยากยิ่งขึ้น
ที่มาภาพ:http://www.ashthailand.or.th