กางมาตรา 5-17-182 รธน.ใหม่ ก่อนนายกฯสั่งแก้ให้เป็นไปตามพระราชกระแสรับสั่ง
เปิดมาตรา 5-17-182 ร่าง รธน.ใหม่ หลัง ‘วิษณุ’ รับนายกฯเตรียมตั้ง กก.พิเศษฯ มาแก้ไข ให้เป็นไปตามพระราชอำนาจ เกี่ยวกับการวินิจฉัยตามประเพณีการปกครอง-ตั้งผู้สำเร็จราชการแทนฯ-การรับสนองพระบรมราชโองการ
กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติรับสนองพระบรมราชโองการ พระราชกระแสรับสั่งให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ในหมวดพระมหากษัตริย์ 3-4 รายการ โดยต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อเปิดช่องขอพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวกลับคืนมาเพื่อแก้ไขให้เป็นไปตามพระราชอำนาจ
(อ่านประกอบ : พระราชกระแสรับสั่งให้แก้ รธน. ใหม่หมวดพระมหากษัตริย์-เข้าวาระ สนช. 13 ม.ค.)
โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้บรรจุวาระด่วนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ในวันที่ 13 ม.ค. 2560 แล้ว โดยมีสาระสำคัญคือการแก้ไขมาตรา 3 และมาตรา 4
โดยมาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็นวรรคสามของมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557
“ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง”
ส่วนมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคสิบเอ็ดของมาตรา 39/1 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 เดิม และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายตามวรรคเก้าประกอบกับวรรคสิบแล้ว หากมีกรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดภายในเก้าสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้น และแก้ไขเพิ่มเติมคำปรารภของร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกัน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใหม่ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับพระราชทานคืนมาตามที่ขอ เมื่อนายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายและทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมและพระราชทานคืนมาหรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันที่นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแล้วมิได้พระราชทานคืนมาให้ร่างรัฐธรรมนูญหรือร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นเป็นอันตกไป"
(อ่านประกอบ : เปิดหลักการ-เหตุผลแก้ รธน.ชั่วคราว-มติวิป สนช.ให้สภาใช้ดุลพินิจโหวต, เปิดร่างรธน.2557 ให้นำร่างฉบับ 'มีชัย' แก้ไขเรื่องพระราชอำนาจ-ตั้งผู้สำเร็จราชการ)
ขั้นตอนต่อจากนี้ เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แล้วเสร็จ นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติกลับคืนมาเพื่อแก้ไขตามทรงมีข้อสังเกต
นายวิษณุ เครืองาม ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า อาจมีการแก้ไขในมาตรา 5 มาตรา 17 และมาตรา 182 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติดังกล่าว โดยยืนยันว่า ไม่แตะต้องในหลักการเกี่ยวกับการเมือง หรือสิทธิเสรีภาพของประชาชน
(อ่านประกอบ : ตั้ง กก.พิเศษแก้ร่าง รธน.ใหม่ ใช้คนจากกฤษฎีกา-'วิษณุ'ยันไม่แตะการเมือง)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติเดิม ระบุทั้งสามมาตราดังกล่าว ดังนี้
มาตรา 5 อยู่ในหมวด 1 บททั่วไป บัญญัติว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัย กรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เมื่อมีกรณีตามวรรคสองเกิดขึ้น ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระเพื่อวินิจฉัย
ในการประชุมร่วมตามวรรคสาม ให้ที่ประชุมเลือกกันเองให้คนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมแต่ละคราว ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งใด ให้ที่ประชุมร่วมประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งเท่าที่มีอยู่
การวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
คำวินิจฉัยของที่ประชุมร่วมให้เป็นที่สุด และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ
มาตรา 17 อยู่ในหมวด 2 พระมหากษัตริย์ บัญญัติว่า ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 16 หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(มาตรา 16 บัญญัติว่า ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ)
ส่วนมาตรา 182 อยู่ในหมวด 8 คณะรัฐมนตรี บัญญัติว่า บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ
ให้ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการทั้งปวงบรรดาที่ได้รับสนองพระบรมราชโองการ
(อ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็มประกอบ : http://cdc.parliament.go.th/draftconstitution2/ewt_dl_link.php?nid=429&filename=index)
ทั้งหมดคือขั้นตอน-เนื้อหาสาระสำคัญในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ แจ้งว่า เพื่อให้เป็นไปตามพระราชกระแสรับสั่ง
ท้ายสุดจะมีการแก้ไขอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป