สุวิทย์” ตีฆ้อง“น้ำถึงไร่นา ประปาถึงหมู่บ้าน” นำร่อง 11 จว.อีสานเหนือ
กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพย์ฯ เดินหน้าระบบน้ำท่อนอกเขตชลประทาน 30 ล้านไร่ “สุวิทย์” ยันไม่ใช่หาเสียง คาดอีก 2 ปีเกษตรกรอีสานเหนือ 11 จว.เปิดก๊อกจากไร่นาได้ ผ่านงบศึกษาแล้ว 800 ล้าน เตรียมขออีก 1,000 ล้านศึกษา 9 จว.อีสานล่าง
วันที่ 2 พ.ค.54 ที่ กรมทรัพยากรน้ำ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วยนายโชติ ตราชู ปลัด ทส. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “น้ำถึงไร่นา ประปาถึงทุกบ้าน”
โดย นายสุวิทย์ กล่าวว่าตนได้ลงพื้นที่เพื่อพบปะชาวบ้าน โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ 11 จังหวัดนำร่อง คือ จ.เลย หนองคาย สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อุดรธานี หนองบัวลำภู ขอนแก่น ชัยภูมิ และบึงกาฬ ซึ่งเป็นพื้นที่แรกๆของโครงการระบบเครือข่ายน้ำในพื้นที่วิกฤติน้ำ 19 พื้นที่ พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ต้องการเห็นชลประทานระบบท่อเข้าไปถึงพื้นที่ไร่นาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อจะได้เพิ่มผลผลิตมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เพราะอยู่นอกเขตชลประทาน ที่ผ่านมา ทส.พยายามผลักดันโครงการนี้นอกเขตชลประทาน 30 ล้านไร่ที่เหลืออยู่ โดยหวังจะให้เกษตรกรมีระบบน้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตอย่างน้อยอีกเท่าตัว
นายสุวิทย์ กล่าวว่ามีการสำรวจความเห็นผ่านกองทุนหมู่บ้านพบว่ามีคนตอบรับมากกว่า 1.2 ล้านคนและ 97% ต้องการเห็นโครงการเครือข่ายน้ำเกิดขึ้นจริง กระทั่งกรมทรัพยากรน้ำ ทส.ได้เสนอขอทำโครงการ จนได้งบก้อนแรกกว่า 800 ล้านบาท ขณะนี้โครงการกำลังเริ่มต้นแล้ว โดยได้ว่าจ้างทีมที่ปรึกษาทำโครงการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ รวมทั้งการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) พร้อมทั้งการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ในระดับลุ่มน้ำโขง ชี มูล แล้วเสร็จภายในเดือนพ.ค.2555
“เมื่อศึกษาแล้วเสร็จในเดือน พ.ค.ก็ต้องสอบถามความเห็นเกษตรกรอีกครั้ง เชื่อว่าส่วนใหญ่เอาด้วยเพราะมีประโยชน์ รวมทั้งไม่ต้องเวนคืนที่ดิน ขณะที่การบริหารจัดการก็จะแบ่งกลุ่มผู้ใช้น้ำ กำหนดเวลาเปิดน้ำเป็นเวลา อย่างไรก็ตามหากได้รับการสนับสนุนให้เดินหน้าต่อ คาดว่าการก่อสร้างต้องใช้เวลาอีก 2 ปี หรือราว พ.ศ. 2557 เกษตรกรในอีสานตอนบนก็จะสามารถเปิดน้ำจากก๊อกที่ส่งมาทางระบบท่อได้”
นายสุวิทย์ ยังกล่าวว่ากรมทรัพยากรน้ำ เตรียมเสนอขอตั้งงบอีก 1,000 ล้านบาทในช่วงเดือนต.ค.นี้ ซึ่งเริ่มต้นปีงบประมาณ 2555 เพื่อศึกษาระบบเครือข่ายในภาคอีสานตอนใต้ 9 จังหวัดที่เหลืออยู่ให้แล้วเสร็จ เป็นการต่อยอดให้โครงการเครือข่ายน้ำสมบูรณ์ ทั้งนี้ได้ปฏิเสธว่าการผลักดันโครงการครั้งนี้ ไม่ได้นำมาใช้หาเสียงเลือกตั้ง เพราะพูดมานานเกือบ 20 ปี แล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้รับงบสนับสนุนมาศึกษาโครงการอย่างจริงจัง และกว่าจะได้ก็ต้องอธิบายกับสำนักงบประมาณหลายครั้ง จนที่สุดก็เพิ่งได้รับงบก้อนแรกในการศึกษาออกแบบโครงการและมีการเซ็นสัญญาจ้างงานไปแล้วเมื่อเดือน ก.พ.นี้ ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะถ้าสำเร็จเกษตรกรเป็นคนได้ประโยชน์โดยตรง และเป้าหมายไม่ใช่แค่ภาคอีสานเท่านั้น อยากให้โครงการเครือข่ายน้ำเกิดขึ้นทั้งประเทศ จะได้ยุติการขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง และปัญหาน้ำท่วมในหน้าฝน
ด้าน นายจตุพร กล่าวว่า หลังจากกรมทรัพยากรน้ำได้เซ็นสัญญาจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาในพื้นที่นำร่อง 11 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยมีระยะเวลา 15 เดือน ใช้เงินกว่า 800 ล้านบาท ซึ่งถ้าเดือน พ.ค.นี้มีผลการศึกษาออกมา และจุดไหนพร้อมที่จะทำก่อนก็จะเสนอของบจากรัฐบาลเป็นรายโครงการไป เชื่อว่าอย่างช้าอีก 2 ปีข้างหน้าคงจะเห็นระบบท่อในพื้นที่ภาคอีสานแน่นอน .
ที่มาภาพ : http://news.mcot.net/politic/inside.php?value=bmlkPTUzOTEmbnR5cGU9dGV4dA==