เคลียร์ปมสงสัยเยียวยาเหยื่อไฟใต้...ถึงไหน เท่าไหร่ อย่างไร
กลายเป็นความสับสนเรื่องเงินเยียวยา "เหยื่อไฟใต้" หลังจากมีระเบียบและประกาศใหม่ออกมาจากการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เมื่อวันศุกร์ที่ 3 ก.พ.2555 ทำนองว่าผู้เสียชีวิตและทุพพลภาพจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีโอกาสได้รับเงินชดเชยเยียวยาถึง 7.5 ล้านบาท
ข่าวดังกล่าวทำให้เกิดกระแสตื่นตัวในกลุ่มญาติและครอบครัวผู้สูญเสียที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะเหตุการณ์กรือเซะและตากใบ ว่ากำลังจะได้รับเงินเยียวยาในไม่นานนี้
ทว่าถัดจากนั้นอีกเพียง 1 วัน คือวันเสาร์ที่ 4 ก.พ. นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กลับออกมาบอกว่าประกาศและระเบียบใหม่ของ กพต.ไม่ย้อนหลังไปถึงเหตุการณ์กรือเซะและตากใบ โดยสองเหตุการณ์นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน
ทั้งหมดทำให้เกิดความสับสนและข้อสงสัยว่า การเยียวยาตามมาตรฐานใหม่ของรัฐบาลชุดนี้เดินหน้าไปถึงไหนแล้ว (หลังมีมติคณะรัฐมนตรีให้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองย้อนหลังไปถึงการรัฐประหารเมื่อปี 2549 กรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพได้รับ 7.5-7.75 ล้านบาท) และถึงที่สุดครอบครัวเหยื่อไฟใต้จะได้เท่าไหร่
ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ค้นรายละเอียดมานำเสนอดังนี้
เปิดเกณฑ์เยียวยาเหยื่อไฟใต้ 3 กระบวนการ
หลังจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีดำริจ่ายเงินชดเชยเยียวยาในอัตราพิเศษให้กับผู้เสียหายและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในมาตรฐานเดียวกับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุชุมนุมทางการเมือง (กรณีเสื้อเหลือง เสื้อแดง) ประกอบกับมีบทบัญญัติตามกฎหมายใหม่ออกมา คือ พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 (บังคับใช้เมื่อปลายปี 2553) หรือที่รู้จักกันในนาม พ.ร.บ.ศอ.บต.จะทำให้กระบวนการช่วยเหลือเยียวเหยื่อไฟใต้มีอยู่ 3 กระบวนการ ได้แก่
1.เกณฑ์ที่จ่ายอยู่ในปัจจุบัน ใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2550 ซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรีกำกับอยู่หลายมติ หลักๆ คือผู้เสียชีวิตที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจะได้รับเงินเยียวยารายละ 5 แสนบาท ส่วนประชาชนที่ช่วยเหลืองานราชการและผู้นำศาสนาได้รายละ 2 แสน ขณะที่ประชาชนทั่วไปได้รายละ 1 แสนบาท เมื่อบวกกับเงินช่วยเหลือและเงินสงเคราะห์อื่นๆ จะได้อยู่ที่ 276,000 บาท ถึง 376,000 บาท (อ่านรายละเอียดได้ใน "เปิดราคาชีวิต 'ตร.-ทหาร-ชาวบ้าน' ชายแดนใต้ กับคำฝากจากใจรัฐอย่าสองมาตรฐาน" http://bit.ly/wNTcsj )
อย่างไรก็ดี ระเบียบนี้เป็นการจ่ายเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันยังใช้อยู่และจะใช้ต่อไป โดยผู้ที่จะได้รับค่าชดเชยเยียวยา จะต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการสามฝ่าย คือตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง
2.เกณฑ์เยียวยาใหม่ตามระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ..... และประกาศ กพต.ว่าด้วยอัตราค่าช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ..... ซึ่งเพิ่งได้รับอนุมัติจากที่ประชุม กพต.เมื่อวันศุกร์ที่ 3 ก.พ.2555
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตที่ต้องขีดเส้นใต้ 2 เส้น ก็คือ เกณฑ์เยียวยาตามระเบียบและประกาศของ กพต.นี้ จำกัดเฉพาะผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น และย้อนหลังกลับไปแค่วันที่ 1 ต.ค.2554 เป็นต้นมา กับกรณีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนับจากนี้ไป ฉะนั้นจึงไม่รวมเหตุการณ์ที่ผ่านมาหลายปีแล้วอย่างกรือเซะ ตากใบ ไอร์ปาแย หรือความสูญเสียอื่นๆ
สาเหตุที่หลักเกณฑ์เยียวยาใหม่ดังกล่าวย้อนหลังแค่วันที่ 1 ต.ค.2554 ก็เพราะเป็นระเบียบและประกาศที่ออกตาม พ.ร.บ.ศอ.บต.ซึ่งเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปลายปี 2553 และมีการโอนงานเยียวยามาให้ ศอ.บต.ดูแลเมื่อปี 2554 นี่เอง
ส่วนสาเหตุที่ต้องจำกัดเฉพาะกรณีถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ก็เพราะเป็นไปตามกฎหมาย ศอ.บต.มาตรา 9 (7) ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของ ศอ.บต.ระบุว่า ให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามระเบียบที่ กพต.กำหนด ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิประโยชน์ที่ผู้นั้นได้รับตามกฎหมายอื่น
พิจารณาตามบทบัญญัติในกฎหมาย ชัดเจนว่าผู้ที่ได้รับการเยียวยาตามระเบียบและประกาศนี้ ยังมีสิทธิรับเงินชดเชยเยียวยาตามข้อ 1 (หลักเกณฑ์เดิม) อีกด้วย
สำหรับอัตราค่าชดเชยเยียวยาตามระเบียบและประกาศใหม่ของ กพต.ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ (นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2554) หากเสียชีวิตหรือทุพพลภาพจะได้รับเงินเยียวยา 5 แสนบาท โดยจะช่วยเหลือครอบคลุมไปถึงผู้ถูกบังคับให้สูญหายด้วย (ฉะนั้นกรณีของทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม หรือกรณีอื่นๆ ก่อนหน้าวันที่ 1 ต.ค.2547 จึงไม่อยู่ในข่ายได้รับการเยียวยาตามระเบียบและประกาศนี้)
อย่างไรก็ดี หลักเกณฑ์ใหม่ยังเปิดช่องให้มีการช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมได้ โดยให้เลขาธิการ ศอ.บต.เสนอว่าหากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเห็นว่าต้องเยียวยาเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเฉพาะกรณี ให้เยียวยาเพิ่มเติมได้อีกไม่เกิน 7 ล้านบาท รวมเป็น 7.5 ล้านบาท แต่จะต้องให้คณะอนุกรรมการเป็นผู้พิจารณา ซึ่งองค์ประกอบของอนุกรรมการไม่ได้มาจาก 3 ฝ่ายเฉพาะทหาร ตำรวจ และพลเรือนเหมือนที่ผ่านมา แต่จะเพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศาสนา หรือสังคมสงเคราะห์ หรือสิทธิมนุษยชน รวมทั้งผู้แทนจากภาคประชาสังคมที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์เข้าไปด้วย
(ระเบียบเยียวยาใหม่อ่านได้ใน "คลอดเกณฑ์เยียวยาใต้ 'ตาย-สูญหาย' 7.5 ล้าน ขังฟรีจ่าย 3 หมื่น" http://bit.ly/yQfr60 รวมทั้งล้อมกรอบด้านล่างของรายงานชิ้นนี้)
3.เกณฑ์การเยียวยาใหม่ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ต.ค.2554 เห็นชอบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 197/2554 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกรรมการ มี นายบัณฑูร สุภัควณิช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการ และมีกรรมการอื่นที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากในและนอกพื้นที่อีก 29 คน
คณะกรรมการชุด พล.ต.อ.ประชา นี้ ประชุมนัดแรกไปแล้วเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 ม.ค.2555 มีการตั้งอนุกรรมการ 8 ชุดขึ้นมาพิจารณาในรายละเอียด โดยวางกรอบเบื้องต้นเอาไว้บ้างแล้ว และจะมีการประชุมนัดต่อไปในวันที่ 11-12 ก.พ.2555 ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา คาดว่าจะได้ตัวเลขที่ชัดเจน โดยยึดมาตรฐานเดียวกับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุชุมนุมทางการเมือง (7.5-7.75 ล้านบาท กรณีเสียชีวิตและทุพพลภาพ)
สำหรับหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดจากคณะกรรมการชุด พล.ต.อ.ประชา จะเป็นการอุดช่องว่างเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2547 ถึงวันที่ 1 ต.ค.2554 ซึ่งหลักเกณฑ์ตามระเบียบและประกาศ กพต.ในข้อ 2 ย้อนหลังไปไม่ถึง โดยกรอบที่เห็นตรงกันบ้างแล้วคือจะเร่งเยียวยากรณีที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเป็นความสูญเสียขนาดใหญ่ก่อน ได้แก่เหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ และไอร์ปาแย รวมทั้งบุคคลสูญหายซึ่งมีตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ 35 ราย (อ่านรายละเอียดได้ใน "เปิดสูตรคำนวณเยียวยาผู้ชุมนุม 7.75 ล้าน ใต้เล็งจ่าย 200 ศพแรก 4 เหตุการณ์ใหญ่" http://bit.ly/xx47zr )
อย่างไรก็ดี การเยียวยาตามหลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น "หลักเกณฑ์พิเศษ" นี้ ต้องติดตามดูกันต่อไปถึง "ที่มา" ของเม็ดเงิน และระเบียบกฎหมายที่จะออกมารองรับ ทั้งกรณีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุชุมนุมทางการเมืองและเหยื่อไฟใต้ ซึ่งยังคงเป็นปัญหาที่คณะกรรมการฯต้องขบคิดต่อไป
เปิดร่างระเบียบ กพต.เยียวยาเหยื่อไฟใต้ถูก จนท.กระทำ
สำหรับร่างระเบียบ กพต.ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ… นั้น ที่ผ่านมายังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดในวงกว้างมากนัก "ทีมข่าวอิศรา" จึงนำระเบียบฉบับเต็มมานำเสนอ เพื่อให้เห็นถึงหลักคิดและหลักเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ อย่างชัดเจน
"โดยที่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และเชื่อมโยงสัมพันธ์กับต่างประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม อีกทั้งมีสถานการณ์ความไม่สงบซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของประชาชน และการพัฒนาของประเทศและโดยที่พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 กำหนดให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มีอำนาจหน้าที่ให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้กำหนด
ดังนั้น เพื่อให้ผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบได้รับความช่วยเหลือเยียวยาตามยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 (7) แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 วางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. ...."
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 เป็นต้นไปและให้นำระเบียบนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 3 ในระเบียบนี้
"ผู้ได้รับความเสียหาย" หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต หรือร่างกาย หรือจิตใจ การบังคับบุคคลให้สูญหาย รวมถึงทรัพย์สินจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
"ผู้ได้รับผลกระทบ" หมายความว่า ทายาทของผู้เสียหาย หรือบุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
"ผู้ทุพพลภาพ" หมายความว่า การสูญสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะ หรือของร่างกาย หรือสูญเสียสภาวะปกติของจิตใจจนไม่สามารถทำงานได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการแพทย์กำหนด
"ทายาท" หมายความว่า ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
"การบังคับบุคคลให้สูญหาย" หมายความว่า การจับกุม คุมขัง ลักพา หรือกระทำการด้วยประการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการลิดรอนเสรีภาพในร่างกายซึ่งมีมูลน่าเชื่อว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับคำสั่งไม่ว่าโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายจากหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีลักษณะปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลนั้นจนเป็นเหตุให้สิทธิตามกฎหมายไม่ได้รับการคุ้มครอง
"จังหวัดชายแดนภาคใต้" หมายความว่า จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลา
"เจ้าหน้าที่ของรัฐ" หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ
"ศอ.บต." หมายถึง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
"เลขาธิการ" หมายถึง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
ข้อ 4 การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบตามระเบียบนี้ไม่ตัดสิทธิประโยชน์ที่ผู้นั้นได้รับตามกฎหมายอื่น หรือตามมติคณะรัฐมนตรี
ข้อ 5 การให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งการดำเนินงานต่างๆ ตามระเบียบนี้ ให้ใช้เงินจากกองทุนสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ข้อ 6 ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบนี้ให้ ศอ.บต.ดำเนินการให้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ งบประมาณและหน่วยงานในการช่วยเหลือเยียวยาที่เป็นระบบเปิด มีความคล่องตัวในการบูรณาการทั้งหน่วยงานของรัฐและภาคประชาสังคม รวมทั้งมีระบบสารสนเทศเพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยามีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล นำไปสู่การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ข้อ 7 ค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบหมายถึง
(1) ค่าช่วยเหลือเยียวยาในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย หรือผู้ทุพพลภาพ
(2) ค่าช่วยเหลือเยียวยากรณีการบังคับบุคคลให้สูญหาย
(3) ค่าช่วยเหลือเยียวยาในการรักษาพยาบาล รวมทั้งการส่งต่อเพื่อฟื้นฟูผู้พิการ หรือฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย จิตใจ และการติดตามเยี่ยมเยียน
(4) ค่าช่วยเหลือเยียวยาการขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ
(5) ค่าช่วยเหลือเยียวยาแก่บุคคล ผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ต้องขัง กรณีผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวหรือผู้ถูกคุมขังตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และผลการดำเนินงานพบว่าเจ้าพนักงานปล่อยตัวโดยไม่มีความผิด หรือพนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้อง หรือพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง
(6) ค่าช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความเป็นธรรมเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐทางด้านกฎหมาย การฟ้องร้อง การดำเนินคดี หรือการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ มีดังต่อไปนี้
ก. ค่าใช้จ่ายในการวางเงินประกันการปล่อยตัวชั่วคราว
ข. ค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความว่าความในคดี
ค. ค่าใช้จ่ายในการชำระค่าธรรมเนียมขึ้นศาล และค่าธรรมเนียมอื่นๆ
ง. ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเกี่ยวกับการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน หรือการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ หรือการตรวจพิสูจน์ข้อเท็จจริงอื่นๆ
จ. ค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงความเป็นธรรม ได้แก่ค่าใช้จ่ายทั้งปวงที่เกิดขึ้นเพื่อการขอความเป็นธรรม อาทิ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าที่พัก ค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นและเหมาะสม
ฉ. ค่าใช้จ่ายเพื่อคุ้มครองช่วยเหลือให้ได้รับความปลอดภัยจากการก่ออาชญากรรมหรือการป้องกันการถูกปองร้ายเพราะได้ร้องขอความเป็นธรรม หรือขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ หรือเพราะได้แจ้งข้อมูลข่าวสาร หรือช่วยเหลือปกป้องสิทธิมนุษยชนให้แก่ผู้เสียหาย หรือผู้ได้รับผลกระทบ
(7) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ อันเนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดจากการกระทำผิดทางอาญา การกระทำโดยมิชอบทางการปกครอง หรือการละเมิดที่มีผลกระทบอื่นต่อการประกอบอาชีพ ด้านการศึกษา หรือการดำรงชีวิตอื่น รวมถึงผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อรัฐ ซึ่งจำเป็นต้องให้การเยียวยาเป็นการเฉพาะ หรือต้องเยียวยาทางจิตใจหรือจิตวิญญาณ อาทิ ค่าใช้จ่ายให้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย หรือประกอบศาสนกิจตามหลักศาสนา
(8) ค่าช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายด้านทรัพย์สิน
(9) ค่าช่วยเหลือเยียวยาอื่นๆ ตามที่ กพต. กำหนด
อัตราค่าช่วยเหลือเยียวยาตาม (1) – (8) ให้เป็นไปตามประกาศของ กพต.
ข้อ 8 ให้เลขาธิการมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการ หรืออนุกรรมการ เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามที่เห็นสมควร
ทั้งนี้ คณะกรรมการ หรืออนุกรรมการ อย่างน้อยต้องประกอบด้วย ข้าราชการฝ่ายพลเรือน ข้าราชการตำรวจ ข้าราชการทหาร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ ด้านศาสนาหรือสังคมสงเคราะห์หรือสิทธิมนุษยชน และด้านประชาสังคมที่มีประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ ด้านละหนึ่งคน
ค่าตอบแทนของคณะกรรมการ หรืออนุกรรมการให้เป็นไปตามระเบียบที่ กพต. กำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
ข้อ 9 ในกรณีที่ผู้ได้รับความเสียหายหรือผู้ได้รับผลกระทบไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการหรืออนุกรรมการ ให้มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการภายใน 90 นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของเลขาธิการให้เป็นที่สุด
การยื่นอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้ยื่น ณ ที่ทำการ ศอ.บต. หรือที่ทำการปกครองจังหวัด หรือที่ทำการปกครองอำเภอ หรือที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้ถือว่าเป็นการอุทธรณ์ต่อเลขาธิการตามวรรคหนึ่งแล้ว การพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นไปตามแนวทางที่เลขาธิการกำหนด
ข้อ 10 ให้จัดตั้งกองทุนสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับโอนจากสำนักนายกรัฐมนตรี ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พ.ย.2554 โดยรายรับของกองทุนได้มาจากเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จาก เงินงบประมาณแผ่นดิน เงินอุดหนุนและเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ โดยไม่ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์หรือเงื่อนไขของกองทุน หรือเงินอื่นที่กองทุนได้รับโดยชอบไม่ว่ากรณีใดตามระเบียบกองทุน
ในระหว่างที่กองทุนยังไม่แล้วเสร็จให้ใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากงบเงินอุดหนุนไปพลางก่อน
ข้อ 11 ในการดำเนินการตามระเบียบนี้ ให้ ศอ.บต.จัดทำข้อสรุปผลการดำเนินการ ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะในการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายและผู้ได้รับผลกระทบเสนอต่อ กพต.ทุกปี
ข้อ 12 ให้เลขาธิการ ศอ.บต.เป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้
สำหรับประกาศอัตราค่าช่วยเหลือเยียวยาตาม (1) – (8) อ่านได้ใน "คลอดเกณฑ์เยียวยาใต้ 'ตาย-สูญหาย' 7.5 ล้าน ขังฟรีจ่าย 3 หมื่น" http://bit.ly/yQfr60 )