เครือข่ายงดเหล้า แนะจัดการเมาแล้วขับ ยึดคนแทนยึดรถ หลังสถิติเจ็บตายปีใหม่พุ่งรอบ10ปี
ผู้อำนวยการ สคล. จี้นำบทเรียนจากปีใหม่มาแก้ไขปัญหาลดปริมาณยอดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึง ทั้งบังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551 อย่างเข้มงวด ห้ามดื่มสุราบนรถ การห้ามขายสุราบนทาง บนถนนริมทาง ไหล่ทาง ฟุตบาท รวมไปถึงการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้คนเมาขาดสติ หรือขายให้เด็กอายุต่ำกว่า20ปี
วันที่ 5 ม.ค.60 เภสัชกรสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) กล่าวถึงกรณียอดอุบัติเหตุบาดเจ็บและเสียชีวิตในช่วงปีใหม่ 7 วันอันตรายว่า ถือเป็นยอดการเสียชีวิตที่รุนแรงและสูงที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเครือข่ายฯขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้ที่สูญเสียและบาดเจ็บในเทศกาลหยุดยาวครั้งนี้
สำหรับทางออกของปัญหา ผอ.สคล. กล่าวว่า ต้องนำบทเรียนจากปีใหม่มาทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาเพื่อลดปริมาณยอดอุบัติเหตุช่วงในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึงนี้ ทุกๆปีนอกจากปัญหาขับรถด้วยความเร็ว โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ถนนมีทั้งน้ำและแป้ง ยิ่งทำให้ลื่นเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายแล้วยังมีปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นปัจจัยอันดับ1 เข้าไปเกี่ยวข้องในการเดินทางและเฉลิมฉลอง อีกทั้งประเทศไทยยังติดอันดับ2ของโลกที่มีสถิติการเสียชีวิตบนท้องถนน
"ตอนนี้สายตาต่างชาติมองว่าไทยเป็นประเทศที่อันตรายในการใช้รถใช้ถนน การออกมาตรการหรือกฎหมายใดๆ จึงควรรีบคิดและออกมาบังคับใช้ก่อนช่วงสงกรานต์ เพื่อให้ประชาชนรับรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนั้นระยะเวลาสามเดือนหลังจากนี้จึงต้องรีบตัดสินใจและลงมือทำทั้งระบบ" เภสัชกรสงกรานต์ กล่าว และว่า ขอให้นำบทเรียนที่ผ่านมามุ่งสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน โดยควรบังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ.2551 ในช่วงสงกรานต์อย่างเข้มงวด เช่น การห้ามดื่มสุราบนรถ การห้ามขายสุราบนทาง บนถนนริมทาง ไหล่ทาง ฟุตบาท รวมไปถึงการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้คนเมาขาดสติ ตลอดจนห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า20ปี ซึ่งกฎหมายเหล่านี้มีการบังคับใช้กันน้อยมาก
ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังของเครือข่ายฯ เภสัชกรสงกรานต์ กล่าวว่า ยังพบการละเมิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ในส่วนของการขายการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอุทยาน ก็ควรออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกเป็นกฎหมายลูกที่มีบทลงโทษรุนแรงกว่ามาก และถ้าจะให้ได้ผลเด็ดขาดกว่า รัฐบาลควรเปลี่ยนมา "ยึดคน" แทน "ยึดรถ" เนื่องจากใช้มาแล้ว 2-3รอบ ยังไม่ได้ผล คือ หากใครเมาแล้วยังมาขับรถ ต้องถือว่าไม่รับผิดชอบต่อความปลอดภัยของผู้ร่วมทางควรจับไปปรับทัศนคติ3-5วัน ขณะเดียวกันจำเป็นต้องรีบจัดหาเครื่องเป่าตรวจแอลกอฮอล์ให้เพียงพอ
"แม้มีกฎหมายแต่หากยังไร้การบังคับใช้ก็ไม่สามารถลดยอดอุบัติเหตุการเสียชีวิตได้ ในขณะที่ภาคธุรกิจคนผลิตคนขายน้ำเมาเองก็ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยมิใช่ลอยตัวบนความสูญเสียของคนไทยแถมยังเร่งแผนการตลาดให้คนดื่มมากขึ้นในช่วงนี้ด้วย” เภสัชกรสงกรานต์ กล่าว