กรมบังคับคดียึดทรัพย์ ธอส. 5 หมื่น หลังฟ้องลูกหนี้ผิดตัว-ธนาคารยันเอาชื่อออกแล้ว
เจ้าพนักงานกรมบังคับคดี นำหมายศาลแพ่งเข้ายึดทรัพย์ ‘ธอส.-สำนักงานใหญ่’ หลังพิพากษา ‘ฟ้องลูกหนี้ผิดตัว’ สั่งชดใช้ค่าสินไหม 50,000 บ. แบงก์ไม่ทำตาม ไม่ถอนฟ้อง กลับเอาตัวจริงเสียบแทน ผู้เสียหายโอดสู้คดีนับ 10 ปีทำเดือดร้อน ด้าน ผช.ผอ.ฝ่ายกฎหมาย เผยคดีอยู่ในชั้นฎีกา ยันเอาชื่อผู้ร้องออกแล้ว
เมื่อเร็ว ๆ นี้ น.ส.ไอลดา เฮงยิ่ง ได้ส่งข้อมูลร้องเรียนเกี่ยวกับคดีการยึดทรัพย์ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ถึงสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ระบุเป็นผู้เสียหาย กรณีถูก ธอส. นำข้อมูลทะเบียนราษฎร์ไปฟ้องคดีแทนลูกหนี้ตัวจริงซึ่งศาลได้พิพากษาแล้วว่าเป็นการฟ้องผิดตัว โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา เจ้าพนักงานกรมบังคับคดีพื้นที่ 1 ได้นำหมายศาลแพ่งเดินทางไปชี้ทรัพย์และยึดทรัพย์ของจำเลย คือ ธอส. สำนักงานใหญ่ (ถ.พระราม 9) ตามคำสั่งศาลแพ่ง คดีแดงเลขที่ 2492/2556 ที่ตนเป็นโจทก์ฟ้อง ธอส. ด้วยข้อหาละเมิด ฟ้องผิดตัว
โดย น.ส.ไอลดา กล่าวว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ ธอส. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 50,000 บาท พร้อมค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความอีก 10,000 บาท ทั้งนี้ ได้ส่งคำบังคับไปตั้งแต่ปี 2558 และขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อเดือนตุลาคม 2559 ซึ่งผ่านมาหลายเดือนแล้ว ทว่า ยังไม่มีความคืบหน้า จึงไปขอศาลให้ออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีตามกฎหมาย เนื่องจาก ธอส. ไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษา คือ ไม่นำเงินมาจ่ายให้ที่ศาล
"แม้ ธอส. จะอ้างว่าคดียังอยู่ในชั้นฎีกา ซึ่งมีการขอทุเลาบังคับคดีไว้ แต่ศาลฎีกายังไม่ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ทุเลาบังคับคดี จึงมีสิทธิบังคับคดีกับ ธอส. ที่เป็นจำเลยได้ แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม โดยอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10731/2558 (ประชุมใหญ่) ที่ได้วางหลักเกณฑ์ใหม่ไว้ว่า ระยะเวลา 10 ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง หมายถึง วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชั้นที่สุด กล่าวคือ คดีถึงที่สุดในชั้นศาลใดก็นับแต่วันที่ศาลชั้นนั้นได้มีคำพิพากษา ไม่จำเป็นต้องรอคดีถึงที่สุดก่อนแล้วค่อยบังคับ" น.ส.ไอลดา กล่าว
นอกจากนี้ ยังกล่าวด้วยว่า กรณีดังกล่าวนี้ กระทรวงการคลังทราบเรื่องดังกล่าว จากที่ได้ร้องทุกข์ไว้กับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเมื่อปี 2557 ว่า เมื่อ 12 พ.ย. 2542 ธอส. ได้ฟ้องตนเป็นจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานกู้ยืมจำนองต่อศาลแพ่งธนบุรี ซึ่งเป็นการฟ้องผิดตัว และไม่ดำเนินการถอนฟ้อง กระทั่ง คดีสิ้นสุดในชั้นอุทธรณ์และมีการขอออกหมายบังคับคดี ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหาย และเดือดร้อน โดยกระทรวงการคลังได้มีหนังสือลงวันที่ 19 ก.พ. 2558 ระบุได้ประสานส่งเรื่องให้ ธอส. พิจารณาดำเนินการ และแจ้งผลให้ตนทราบโดยตรงแล้ว (ดูเอกสาร) ทว่า ธอส. ก็ยังไม่มีการถอนฟ้องคดี แต่กลับมีการสลับตัวจำเลยโดยเอาลูกหนี้ตัวจริงเข้ามาแทนที่ตน และขอให้ศาลยึดทรัพย์กับลูกหนี้ตัวจริงโดยไม่ต้องฟ้องในศาลชั้นต้น
“ถ้าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ ถ้าสลับตัวได้ จะฟ้องใครก็ได้ แล้วค่อยเอาตัวจริงมาใส่ และบังคับคดีภายหลัง เป็นอันตรายต่อข้อมูลส่วนบุคคลที่ธนาคารถืออยู่ในมือเป็นอย่างมาก ทั้งเลข 13 หลักในบัตรประชาชน หรือชื่อ-นามสกุล ทั้งนี้ ข้อแก้ตัวของการฟ้องผิดตัวอาจเกิดจากชื่อ-นามสกุลซ้ำกัน แต่ที่สำคัญคดีนี้ไม่ซ้ำกัน เรากับลูกหนี้ตัวจริงไม่ได้มีชื่อซ้ำกัน และนามสกุลก็ไม่ซ้ำกันด้วย แต่มีอักษรขึ้นต้นชื่อเป็น อ. เหมือนกัน แล้วธนาคารฯ ยึดอะไรในการดำเนินคดีกับลูกหนี้ต่อศาล ระหว่างชื่อ นามสกุล หรือเลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก และถ้ามีคนได้รับความเสียหายอย่างนี้อีกจะร้องเรียนได้ที่ใคร ต้องใช้เวลานานแค่ไหน เราใช้เวลาต่อสู้คดีนี้มาตั้งแต่ปี 2548 แจ้ง ธอส. แต่ ธอส. ก็ไม่ทำอะไร มาตอนนี้เข้าปี 2560 แล้ว ธอส. ตรวจสอบอย่างไรถึงใช้เวลามากกว่า 10 ปี” น.ส.ไอลดา กล่าวและว่า
ล่าสุด วันที่ 6 ม.ค. 2560 นายนันทวุฒิ สุขสว่าง ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย ธอส. เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า กรณีดังกล่าวนี้ขอให้ข้อมูลเบื้องต้น เนื่องจาก คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นฎีกา อาจทำให้กระทบต่อรูปคดี รวมถึง ตัวผู้ร้องเรียนเองด้วย โดยในเรื่องนี้ น.ส.ไอลดา ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายกับทางธนาคารฯ โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้อง ขณะที่ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ธนาคารฯ ชดใช้ค่าสินไหมเป็นเงินประมาณ 5 หมื่นบาท ทั้งนี้ ทราบเรื่องที่มีเจ้าพนักงานกรมบังคับคดีนำหมายศาลมายึดทรัพย์ธนาคารฯ แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการถอนฟ้อง น.ส.ไอลดา นายนันทวุฒิยืนยันว่า "ธนาคารฯ ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขชื่อ น.ส.ไอลดา ออกแล้วในชั้นบังคับคดี ซึ่งศาลแพ่งธนบุรีได้ไต่สวน และมีคำสั่งให้ออกหมายใหม่ โดยให้เอาชื่อของ น.ส.ไอลดา ออกแล้ว"
ขณะที่ น.ส.ไอลดา ระบุว่า ก่อนหน้านี้เมื่อ 5 ก.ย. 2555 นายอำนวย ศรีพูนสุข ที่ปรึกษาด้านกิจการพิเศษ และรักษาการ ผอ.ฝ่ายกฎหมาย มีหนังสือแจ้งการดำเนินการของ ธอส. ถึง น.ส.ไอลดา ระบุสาระสำคัญว่า ธนาคารมิได้เพิกเฉยหรือนิ่งนอนใจ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลที่มีอำนาจ เพื่อแก้ไขความพลั้งเผลอที่เกิดขึ้นในเอกสาร ซึ่งธนาคารมิได้มีเจตนาจะก่อให้เกิดขึ้น และหากคำสั่งของศาลเป็นประการใดจะแจ้งให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ ไม่เคยนำส่งข้อมูลเกี่ยวกับคดีดังกล่าวให้แก่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด แต่อย่างใด
ทั้งนี้ ธนาคารขออภัยจากการที่ทนายความได้พลั้งเผลอในการจัดทำเอกสารคำฟ้องที่ทำให้ชื่อของท่านเข้ามาติดอยู่ในคดีโดยมิได้ตั้งใจ และทำให้เกิดความกังวลใจ ธนาคารจะเร่งดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้ตามความประสงค์ของท่านในการขอแก้ไขให้ปรากฏในสำนวนคดี หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการชี้แจงในครั้งนี้จะช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อกรณีที่เกดขึ้น (ดูเอกสาร)