ชัด ๆ อีกที! โร้ดแม็ปร่าง รธน.ใหม่ เลือกตั้งเมื่อไหร่-คสช.พ้นอำนาจวันไหน?
“…ทั้งหมดคือ ‘ไทม์ไลน์’ โร้ดแม็ปของ คสช. ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ. ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ ต้องย้ำว่า ไทม์ไลน์ดังกล่าวคือ ‘อย่างช้าที่สุด’ แต่ถ้ามีการเร่งรัดพิจารณาเฉพาะกฎหมายลูกสำคัญ 4 ฉบับข้างต้น เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งได้โดยเร็ว ก็อาจใช้เวลาน้อยกว่านี้ ส่วนจะมีการเร่งรัดอย่างจริงจังหรือไม่ ต้องรอติดตามกันต่อไป ยาว ๆ…”
เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมาเกรียวกราวทันที !
หลังนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า การเลือกตั้งอาจเกิดขึ้นไม่ทันในปี 2560 เนื่องจากงานสำคัญตลอดปี 2560 ของ สนช. คือการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (กฎหมายลูก) จำนวน 10 ฉบับ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีมีมติเร่งรัดเป็นพิเศษอีก รวม 100 ฉบับ ดังนั้นการเลือกตั้งอาจเกิดขึ้นประมาณกลางปี 2561
ตอกย้ำด้วย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิก สนช. ยืนยันว่า ถ้าดูกรอบเวลาขณะนี้ คงไม่สามารถจัดเลือกตั้งได้ทันภายในปี 2560 เพราะขั้นตอนตามโร้ดแม็ปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ต้องส่งร่างกฏหมายลูกอย่างน้อย 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้ สนช. พิจารณาใน 8 เดือน นับจากวันที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ จากนั้น สนช. จะมีเวลาพิจารณาเนื้อหากฎหมายลูกแต่ละฉบับ 2 เดือน เมื่อเสร็จแล้วจะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน
“ถ้าดูตามกรอบเวลาดังกล่าว น่าจะใช้เวลาประมาณ 15 เดือน คาดว่าช่วงเวลาที่สามารถจัดเลือกตั้งได้น่าจะอยู่ประมาณ มี.ค.-เม.ย. 2561 ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการเลื่อนโร้ดแม็ปเลือกตั้ง แต่ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบเวลาและกติกาที่กำหนดไว้ในการเขียนกฎหมายลูก ถึงอย่างไรก็ต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแน่นอน” พล.อ.สมเจตน์ ยืนยัน
อย่างไรก็ดี ล่าสุด นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า ต้องมาคุยกันอีกครั้ง ถ้าพูดตอนนี้อาจเกิดความเข้าใจผิด ยืนยันยังคงเป็นไปตามโร้ดแม็ปเดิม
เช่นเดียวกับ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสารท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันว่า ยังไม่มีเหตุผลใดที่จะเลื่อนเลือกตั้งออกไป เนื่องจากภาพรวมยังเป็นไปตามโร้ดแม็ป แต่เวลาจะคลาดเคลื่อนบ้างเล็กน้อยหรือไม่ ไม่ทราบเพราะเป็นเรื่องอนาคต
ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าพิจารณาตาม ‘โร้ดแม็ป’ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ที่อยู่ระหว่างรอโปรดเกล้าฯ พบรายละเอียด ดังนี้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ทูลเกล้าฯถวายร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2559 โดยพระมหากษัตริย์จะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยใน 90 วัน นั่นคือภายในต้นเดือน ก.พ. 2560 จะครบกำหนด
หลังพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวแล้ว คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะต้องจัดทำกฎหมายลูก 10 ฉบับ ภายใน 240 วัน หรือ 4 เดือน หรือภายในต้นเดือน มิ.ย. 2560
โดยอย่างน้อยต้องจัดทำกฎหมายลูก 4 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 3.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 4.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
หลังจากนั้น กรธ. จะส่งกฎหมายลูกดังกล่าวให้ สนช. พิจารณาภายใน 60 วัน หรือ 2 เดือน หรือภายในต้นเดือน ส.ค. 2560 ทั้งนี้หากกฎหมายลูกฉบับใด สนช. พิจารณาไม่ทันในช่วงเวลาดังกล่าว ให้ถือว่า สนช. เห็นชอบกับกฏหมายลูกฉบับนั้น
เมื่อ สนช. พิจารณากฎหมายลูกเสร็จแล้ว ให้ส่งกฎหมายลูกให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง และ กรธ. เพื่อพิจารณา ถ้าศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง หรือ กรธ. เห็นว่า ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญให้แจ้งต่อประธาน สนช. ทราบภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับกฎหมายลูกฉบับนั้น และให้ สนช. ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาแล้วเสนอต่อ สนช. ภายใน 15 วัน ถ้า สนช. มีมติไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเกินสองในสาม ให้กฎหมายลูกฉบับนั้นเป็นอันตกไป ในกรณีที่ สนช. มีมติไม่ถึงสองในสาม ให้ถือว่า สนช. ให้ความเห็นชอบตามที่ กมธ. เสนอ
โดยกระบวนการนี้ใช้เวลาอย่างเร็วสุดคือ 10 วัน อย่างช้าที่สุดคือ 25 วัน หรือภายในต้นเดือน ก.ย. 2560
หลังจากนั้นให้นายกรัฐมนตรี นำกฎหมายลูกดังกล่าวทูลเกล้าฯถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ภายใน 90 วัน หรือ 3 เดือน หรือภายในต้นเดือน พ.ย. 2560
เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และกฎหมายลูกดังกล่าว (อย่างน้อย 4 ฉบับข้างต้น) ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ กกต. ดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส. ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 150 วัน หรือประมาณ 5 เดือน
เท่ากับว่าประเทศไทยอาจมีการเลือกตั้งประมาณต้นเดือน เม.ย.-พ.ค. 2561
เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว ให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี หลังจากนั้นเมื่อคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ เข้าปฏิบัติหน้าที่แล้ว ให้ถือว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พ้นจากตำแหน่ง
อย่างไรก็ดีที่สำคัญคือ ในระหว่างนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีจะถวายสัตย์ เข้าปฏิบัติหน้าที่ คสช. จะมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เช่นเดิม ซึ่งนั่นหมายความว่า จนกว่าจะมีการเลือกตั้งอย่างช้าคือกลางปี 2561 หัวหน้า คสช. จะสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้ตลอดเวลา
ทั้งหมดคือ ‘ไทม์ไลน์’ โร้ดแม็ปของ คสช. ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ. ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้
ต้องย้ำว่า ไทม์ไลน์ดังกล่าวคือ ‘อย่างช้าที่สุด’ แต่ถ้ามีการเร่งรัดพิจารณาเฉพาะกฎหมายลูกสำคัญ 4 ฉบับข้างต้น เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งได้โดยเร็ว ก็อาจใช้เวลาน้อยกว่านี้
ส่วนจะมีการเร่งรัดอย่างจริงจังเพื่อให้ทันในปี 2560 หรือไม่ ต้องรอติดตามกันต่อไป ยาว ๆ