13ปีไฟใต้..สถิติรุนแรงลด งบจ่อ3แสนล้าน ตั้ง"องค์กรพิเศษ"เพิ่ม
วันที่ 4 มกราคม 2560 เป็นวาระครบรอบ 13 ปีไฟใต้ นับจากเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่จากค่ายทหารใน อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547
ฝ่ายความมั่นยืนยันว่าสถิติความรุนแรงในพื้นที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ขณะที่นักวิชาการด้านความมั่นคงตั้งข้อสังเกตถึงการตั้ง “องค์กรพิเศษ” ขึ้นมาจัดการปัญหาเพิ่มเติม จึงเรียกร้องให้รัฐบาลจัดทำตัวชี้วัดที่มีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ในการจัดการปัญหาและประสิทธิผลของการใช้จ่ายงบประมาณ
นับจากเหตุการณ์ปล้นปืนจำนวน 413 กระบอก จากค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2559 เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้สรุปสถิติเหตุรุนแรงและความสูญเสียจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เอาไว้
โดยในภาพรวม เหตุรุนแรงทุกประเภท ทั้งลอบยิง ลอบวางระเบิด วางเพลิง และอื่นๆ เกิดขึ้นทั้งสิ้น 15,541 เหตุการณ์ ในจำนวนนี้เป็นเหตุที่เกี่ยวกับความมั่นคง 9,483 เหตุการณ์ หรือคิดเป็นร้อยละ 61 ส่วนที่เหลือมาจากเหตุปัจจัยอื่น เช่น ความขัดแย้งส่วนตัว, ความขัดแย้งทางการเมืองในระดับท้องถิ่น เป็นต้น
ส่วนตัวเลขความสูญเสีย โดยเฉพาะการเสียชีวิต พบว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงทุกประเภทในจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั้งสิ้น 7,248 คน เป็นการเสียชีวิตจากเหตุที่เกี่ยวกับความมั่นคง 4,543 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 62.67
กอ.รมน.ระบุว่า แม้ภาพรวมของสถานการณ์จะยังมีความพยายามก่อเหตุรุนแรงและมีความสูญเสียปรากฏอยู่ แต่จากสถิติตัวเลข 3 ปีย้อนหลัง พบว่าสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ
โดยสถิติเหตุรุนแรง 3 ปีงบประมาณล่าสุด ลดลงอย่างต่อเนื่อง แยกเป็นในปีงบประมาณ 2557 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 663 เหตุการณ์, ปีงบประมาณ 2558 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 264 เหตุการณ์ ลดลง 399 เหตุการณ์ และปี 2559 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 193 เหตุการณ์ ลดลง 71 เหตุการณ์
เช่นเดียวกับสถิติความสูญเสียชีวิต โดยในปีงบประมาณ 2557 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งสิ้น 282 คน, ปีงบประมาณ 2558 เสียชีวิต 127 คน ลดลง 155 คน, และปีงบประมาณ 2559 เสียชีวิต 116 คน ลดลง 11 คน
ทั้งนี้ เหตุปัจจัยที่ กอ.รมน.วิเคราะห์ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกแนวทางจนทำให้ความรุนแรงและความสูญเสียลดลงตามลำดับ มี 3 ประการ คือ
1.ประสิทธิภาพของงานรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมีมากขึ้น ผ่านการควบคุมพื้นที่และการบังคับใช้กฎหมายที่มีเข้มข้น รวมทั้งงานเสริมนโยบายเร่งด่วน เช่น การทำเส้นทางปลอดภัย 24 ชั่วโมง การติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดและการเชื่อมต่อระบบทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ
2.ความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อน ทั้งเรื่องน้ำมันเถื่อนและสินค้าหนีภาษี ตลอดจนการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งมียอดจับกุมสูงมาก
3.ประสิทธิภาพงานการเมือง ผ่านโครงการประชารัฐร่วมใจ สร้างอำเภอสันติสุข และโครงการพาคนกลับบ้าน
ชาวบ้าน...เหยื่อความรุนแรงถาวร
เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ตัวเลขสถิติความรุนแรงจะดูดีขึ้น แต่ผู้ได้รับผลกระทบหนักที่สุดยังคงเป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่
ข้อมูลจากฝ่ายตำรวจ ระบุยอดผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุรุนแรงทุกประเภท โดยไม่แยกเหตุความมั่นคง พบว่ากลุ่มคนที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บมากที่สุด คือ ประชาชนทั่วไป รองลงมาคือทหาร ผู้นำท้องถิ่น ตำรวจ ครู และผู้นำศาสนา แยกแยะตัวเลขได้ดังนี้
-ประชาชน เสียชีวิต 5,392 คน บาดเจ็บ 7,976 คน
-ทหาร เสียชีวิต 591 นาย บาดเจ็บ 2,722 นาย
-ผู้นำท้องถิ่น เสียชีวิต 441 คน บาดเจ็บ 261 คน
-ตำรวจ เสียชีวิต 397 นาย บาดเจ็บ 1,584 นาย
-ครู (ไม่รวมบุคลากรการศึกษา) เสียชีวิต 151 คน บาดเจ็บ 145 คน
-ผู้นำศาสนา เสียชีวิต 65 คน บาดเจ็บ 29 คน
-เจ้าหน้าที่การรถไฟฯ เสียชีวิต 6 คน บาดเจ็บ 42 คน
-คนร้าย (ถูกวิสามัญฆาตกรรมหรือปะทะ) เสียชีวิต 365 คน บาดเจ็บ 36 คน
แม้แต่ในปีงบประมาณ 2559 ที่ กอ.รมน.ระบุว่าสถิติเหตุรุนแรงและความสูญเสียลดต่ำ แต่ยอดผู้เสียชีวิตที่เป็นประชาชนก็ยังสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยตัวเลขเฉพาะปี 2559 แยกแยะได้ดังนี้
-ประชาชน เสียชีวิต 194 คน
-ทหาร 122 นาย
-ตำรวจ 99 นาย
-ฝ่ายปกครอง 12 คน
-ครู 4 คน
จากตัวเลขที่ปรากฏ แม้ด้านหนึ่งจะสะท้อนปัญหาการก่อเหตุรุนแรงแบบไม่สนใจเป้าหมายของกลุ่มติดอาวุธ แต่อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนประสิทธิภาพการคุมพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเองด้วย
งบดับไฟใต้จ่อ 3 แสนล้าน!
การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น แม้เหตุรุนแรงและความสูญเสียมีแนวโน้มลดลง แต่จะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ ต้องพิจารณาประกอบกับงบประมาณที่ทุ่มเทลงไปในพื้นที่ด้วย
หากนับตั้งแต่ปี 2547 (นับเป็นปีงบประมาณ) ถึงสิ้นปีงบประมาณ 2559 ผ่านมาแล้ว 13 ปีงบประมาณ ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างสำนักงบประมาณได้แยก “งบดับไฟใต้” ไว้เป็นหมวดหมู่ต่างหาก เพื่อให้ง่ายต่อการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ในการใช้จ่ายเงินหลวงที่มาจากภาษีอากรของพี่น้องประชาชน ระยะหลังๆ เรียกว่า “แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้”
ไล่เรียงให้ดูกันชัดๆ แต่ละปีงบประมาณ มีตัวเลขดังนี้
ปี 2547 - 13,450 ล้านบาท
ปี 2548 - 13,674 ล้านบาท
ปี 2549 - 14,207 ล้านบาท
ปี 2550 - 17,526 ล้านบาท
ปี 2551 - 22,988 ล้านบาท
ปี 2552 - 27,547 ล้านบาท
ปี 2553 - 16,507 ล้านบาท
ปี 2554 - 19,102 ล้านบาท
ปี 2555 - 16,277 ล้านบาท
ปี 2556 - 21,124 ล้านบาท
ปี 2557 - 25,921 ล้านบาท
ปี 2558 - 25,744.3 ล้านบาท
ปี 2559 - 30,886.6 ล้านบาท
รวมทั้งสิ้น 264,953 ล้านบาท
หากพิจารณาข้อมูลจาก 13 ปีงบประมาณ จะพบว่างบดับไฟใต้ปี 2559 มียอดสูงที่สุด คือทะลุ 3 หมื่นล้านบาท โดยเป็นงบที่รัฐบาล คสช.จัดทำเองทั้งหมด
สำหรับงบประมาณปี 2560 ที่เพิ่งเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา พบประเด็นน่าสังเกตคือ เมื่อตรวจดูในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีฯ จะพบว่ามีตัวเลขงบดับไฟใต้เพียง 12,692 ล้านบาทเท่านั้น โดยอยู่ใน “แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” (เริ่มใช้ชื่อแผนงานนี้เป็นปีแรก)
แต่เมื่อตรวจสอบลึกลงไปในรายละเอียดของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 พบว่างบที่เกี่ยวกับภารกิจดับไฟใต้จริงๆ แยกออกเป็น 3 ส่วน โดยงบในหมวด “แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น
งบทั้ง 3 ส่วนแบ่งเป็น
1.งบแผนงานบูรณาการการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีหน่วยงานระดับกรมที่ดำเนินการในพื้นที่ทั้งสิ้น 50 หน่วยงาน งบประมาณ 12,692 ล้านบาท
2.งบประมาณรายจ่ายประจำปีของ 5 จังหวัดภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา สตูล) อยู่ที่ 21,843 ล้านบาท
3. งบประมาณของส่วนราชการที่ไม่สามารถจำแนกจังหวัดได้ ส่วนใหญ่เป็นงบรายจ่ายประจำ งบบุคลากร งบดำเนินงาน งบเงินอุดหนุน และงบรายจ่ายอื่น งบส่วนนี้ไม่สามารถหาข้อมูลได้ เนื่องจากไม่มีการจำแนกไว้
จะเห็นได้ว่าถ้านำตัวเลขงบตามข้อ 1 รวมกับข้อ 2 ยอดรวมก็เกิน 3 หมื่นล้านบาทแล้ว คืออยู่ที่ 34,535 ล้านบาท และหากนำไปบวกรวมกับงบดับไฟใต้ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ยอดรวมจนถึงปีงบประมาณ 2560 อยู่ที่ 299,488 ล้านบาท (มาจากงบ 13 ปีงบประมาณ 264,953 ล้านบาท บวกกับงบปี 2560 อีก 34,535 ล้านบาท)
เรียกว่าจ่อ 3 แสนล้านอยู่รอมร่อ!
จี้จัดทำ "ตัวชี้วัด-ประเมินผล"
ในมุมมองของนักวิชาการด้านความมั่นคงจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข บอกว่า สิ่งที่ยังขาดเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือการจัดทำตัวชี้วัดเพื่อประเมินผลงานอย่างจริงจังของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาว่าเดินมาถูกทางแล้วจริงหรือไม่ รวมทั้งงบประมาณที่ใช้จ่ายไป คุ้มค่าและมีประสิทธิผลจริงหรือเปล่า
โดยเฉพาะที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมามีการตั้ง “องค์กรพิเศษ” ใหม่ๆ เข้าไปแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม เช่น คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “ครม.ส่วนหน้า” ทำให้เกิดคำถามว่าองค์กรพิเศษต่างๆ ที่มีอยู่เดิม และหน่วยงานปกติที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น กอ.รมน. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หรือกองทัพภาคที่ 4 ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จริงใช่หรือไม่ จึงต้องมีการตั้งองค์กรพิเศษใหม่ๆ ซ้อนเข้าไปตลอดเวลา
“ที่ผ่านมาในภารกิจของงานภาคใต้แทบไม่ได้มีการประเมินกันเลยด้วยซ้ำ เนื่องจากเหตุผลว่าเป็นงานทางความมั่นคง ยิ่งในรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเช่นนี้ การจะจัดให้มีการประเมินผลงานยิ่งยากมากขึ้นไปอีก” ศ.ดร.สุรชาติ กล่าว
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 กราฟฟิกแสดงสถิติเหตุรุนแรง 3 ปีงบประมาณล่าสุดที่มีแนวโน้มลดลง (ขอบคุณกราฟฟิกจาก NOW26)
2-3 กราฟฟิกแสดงยอดผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุรุนแรงชายแดนใต้ตั้งแต่ปี 2547-2559
4 ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข