ล้วงแนวทางตรวจทรัพย์สินนักการเมือง-ขรก.ฉบับ‘สุภา’ฟื้นศรัทธา ป.ป.ช.?
“…หากข้อเท็จจริงมาตามแนวทางนี้ ต่อไปการยื่นบัญชีทรัพย์สินของบรรดานักการเมือง-ผู้บริหารท้องถิ่น-ข้าราชการ คงไม่ง่ายดายเหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะต้องกรอกข้อมูล รวมถึงยืนยันทรัพย์สินให้ถูกต้องครบถ้วน และหากพบความผิดปกติเมื่อไหร่ก็เตรียมตัว ถูกชี้มูลความผิดส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้พ้นจากแวดวงการเมือง 5 ปี ร้ายกว่านั้นอาจถูกจำคุก หรือถ้าพ่วงรวยผิดปกติ ก็ถูกยึดทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินอีก…”
ในรอบปี 2559 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า มีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองระดับชาติ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดฐานจงใจปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ หรือยื่นบัญชีทรัพย์สินฯเป็นเท็จ หรือร่ำรวยผิดปกติ มีจำนวนมากขึ้นกว่าเดิมค่อนข้างมาก
เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านของกรรมการ ป.ป.ช. ที่ดูแลด้านบัญชีทรัพย์สินคนใหม่ จากเดิมเป็นของนายณรงค์ รัฐอมฤต เป็น น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ผู้ถูกคาดหมายว่าจะก้าวมาเป็น ‘กระบี่มือหนึ่ง’ แทนนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ที่เกษียณอายุราชการไปเมื่อช่วงปลายปี 2558
ขณะเดียวกันนอกเหนือจากงานด้านการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินฯแล้ว น.ส.สุภา ยังดูแลงานด้านตรวจสอบการทุจริตภาคการเมือง ซึ่งต้องไปไล่ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลต่าง ๆ ที่ร้องเรียนต่อ ‘นักการเมืองระดับชาติ-อดีตนายกฯ-รัฐมนตรี’ เป็นจำนวนมาก
และด้วยการเป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ หรือคนรับผิดชอบสำนวนนักการเมืองระดับชาติที่พัวพันกับการทุจริตเยอะ บวกกับมีความเชี่ยวชาญด้านบัญชี และตรวจสอบรายรับ-รายจ่าย มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่เป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง ทำให้มีแนวคิดเชื่อมโยงเส้นทางการเงินกับพฤติการณ์ทุจริตในแทบทุกคดี !
แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า นับตั้งแต่ น.ส.สุภา ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ในช่วงเดือน ก.ย. 2558 ขณะนั้นยังไม่มีบทบาทมากนัก เพราะนายวิชา มหาคุณ ยังมีบทบาทสูงในการตรวจสอบภาคการเมืองอยู่ ส่วนการดูแลบัญชีทรัพย์สินยังเป็นหน้าที่หลักของนายณรงค์ รัฐอมฤต
อย่างไรก็ดีเมื่อนายวิชา มหาคุณ กับกรรมการ ป.ป.ช. รวม 5 ราย เกษียณอายุราชการ ส่งผลให้บทบาทของ น.ส.สุภา มีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ชุดเก่า 4 คน + ชุดใหม่ 5 คน) ให้ดูแลงานด้านตรวจสอบภาคการเมืองระดับชาติ รวมถึงเข้าไปดูแลงานด้านตรวจสอบทรัพย์สินอย่างเต็มตัว
นโยบายของ น.ส.สุภา เมื่อเข้าไปรับหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สิน ได้สั่งการให้ทุกสำนักที่เกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินของนักการเมืองระดับชาติ นักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการการเมือง ข้าราชการระดับสูง ทหาร ตำรวจ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ ให้ตรวจสอบอย่างเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิม
เรียกว่าให้ตรวจสอบแบบ ‘เชิงลึก’ โดยไม่จำเป็นต้องให้กรรมการ ป.ป.ช. ลงมากำกับดูแลเหมือนก่อนหน้านี้อีก !
มีการโฟกัสไปที่บัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ส.ว. หรือแม้แต่ สนช. ก็ถูกสั่งให้ตรวจสอบเชิงลึกเช่นกัน ส่งผลให้ปัจจุบันมีบรรดา ส.ส. หลายรายที่ถูกกล่าวหาว่า ร่ำรวยผิดปกติ หรือจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินฯ ยกตัวอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นักการเมืองชื่อดัง อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นต้น
อย่างไรก็ดีกระบวนการนี้เปรียบเสมือน ‘ดาบสองคม’ เช่นกัน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของ ป.ป.ช. ยังไม่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบเชิงลึกเช่นนี้มากนัก ที่สำคัญยังขาดประสบการณ์อีกจำนวนไม่น้อย ทำให้บางครั้งการตรวจสอบไม่รอบคอบเท่าที่ควร และถูกตีกลับมาเป็นจำนวนมาก
“เมื่อก่อนตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนักการเมือง หรือผู้บริหารท้องถิ่น ในแต่ละภาค ประมาณ 1 พันราย ส่งไปแล้ว ก็ผ่านเกือบหมด ตีกลับมาไม่กี่คน แต่พอมาในยุค น.ส.สุภา ส่งไป 1 พันราย แต่ตีกลับมามากถึง 2-3 ร้อยราย ให้ไปตรวจสอบใหม่ เนื่องจาก น.ส.สุภา เห็นว่า ยังมีข้อเท็จจริงหลายอย่างตรวจสอบไม่ครบ มองในแง่ดี คือเพิ่มความเข้มงวด ไม่ปล่อยให้นักการเมืองปกปิดทรัพย์สินโดยง่าย แต่อีกแง่คือ เจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช. ยังขาดประสบการณ์อีกมาก แต่ตอนนี้ก็พยายามฝึกฝนกันอยู่ โดย น.ส.สุภา ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบทรัพย์สิน เข้าไปนั่งในคณะอนุกรรมการไต่สวนบัญชีทรัพย์สินเชิงลึก เป็นจำนวนมากเพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้มากขึ้น” แหล่งข่าว กล่าว
หากข้อเท็จจริงมาตามแนวทางนี้ ต่อไปการยื่นบัญชีทรัพย์สินของบรรดานักการเมือง-ผู้บริหารท้องถิ่น-ข้าราชการ คงไม่ง่ายดายเหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะต้องกรอกข้อมูล รวมถึงยืนยันทรัพย์สินให้ถูกต้องครบถ้วน และหากพบความผิดปกติเมื่อไหร่ก็เตรียมตัว ถูกชี้มูลความผิดส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้พ้นจากแวดวงการเมือง 5 ปี
ร้ายกว่านั้นอาจถูกจำคุก หรือถ้าพ่วงรวยผิดปกติ ก็ถูกยึดทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินอีก
นับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าในด้านการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินฯ ที่ต่อไปสร้างความยากลำบากให้บรรดาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง-ข้าราชการ ‘ขี้ฉ้อ’ แน่นอน
เรียกว่าอาจเป็นงานฟื้นศรัทธาองค์กร ป.ป.ช. ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน ที่ข้อครหา ‘เอนเอียง-สองมาตรฐาน’ ถูกขุดกลับมาพูดถึงอีกครั้ง ?